“ทุ่งภูเขาทอง” ตั้งอยู่ริมถนนบนสายอยุธยาและอ่างทอง อยู่ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่เดิมในอดีตเป็นสมรภูมิวีรกรรมสนามรบของบรรพบุรุษไทย ที่เสียสละปกป้องพลีชีพเพื่อพื้นแผ่นดินสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อรักษาชาติอธิปไตยไทยเอาไว้ การเดินทาง สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากพระราชวังหลวงอยุธยาระยะทาง 2 กิโลเมตรโดยประมาณ โดยใช้ถนนหลวงหมายเลข 309 สายอยุธยาและอ่างทอง (โรจนะ) จากนั้นให้เลี้ยวไปทางซ้ายผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง แล้วจึงเลี้ยวทางซ้ายอีกครั้งผ่านศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ประมาณกิโลเมตรที่ 26 จะถึงป้ายบอกทางแยก โดยเลือกเบี่ยงเส้นทางซ้ายเข้าสู่วัดภูเขาทอง เวลาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม 7.00 - 17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม แต่อยากแนะนำให้ไปช่วงเช้าก่อนเวลา 11.00 น. หรือช่วงบ่ายหลัง 15.00 น. ไปแล้ว เพราะเป็นช่วงเวลาที่อากาศไม่ร้อนมากนัก แดดร่มลมตก เหมาะแก่การเดินเที่ยวชมศึกษาประวัติศาสตร์ ภายใน “ทุ่งภูเขาทอง” ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสำคัญ ๆ คือ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดภูเขาทอง สวนสาธารณะ และสระเก็บน้ำ ด้านหน้าทางเข้า เป็น “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช“ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 วัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างโดยกรมโยธาและผังเมือง บริเวณรอบ ๆ พระบรมราชานุสาวรีย์มีภาพนูนต่ำ ซึ่งออกแบบโดย คุณไข่มุก ชูโต นักปติมากรประจำสำนักพระราชวัง เป็นภาพที่แสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระเนรศวรมหาราช ทรงม้าออกรบและสังหาร ‘ลักไวทำมู’ ซึ่งเป็นแม่ทัพหรือทหารเอกของเมืองหงสาวดี ในสมัยพระเจ้าองสาวดี ประเทศพม่า มุมทั้ง 4 ทิศของพระบรมราชานุสาวรีย์ ประดับด้วยเครื่องราชูปโภคที่สำคัญ ๆ เช่น พระแสงปืนข้ามแม้น้ำสะโตง พระแสงดาบคาบค่าย พระมาลาเบี่ยง เป็นต้น “วัดภูเขาทอง” ตั้งอยู่ห่างจากพระบรมราชานุสาวรีย์พระเนรศวรมหาราช ออกไปประมาณ 900 เมตร แม้ว่าจะอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน แต่ถ้าเลือกเดินไปเรื่อย ๆ ก็เล่นเอาเหงื่อตกได้เช่นกัน ตามประวัติ “หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า” เจดีย์ถูกสร้าง เพียงเฉพาะฐานเท่านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2112 โดยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เมื่อตอนยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา และประทับอยู่ที่นี่ เป็นเครื่องระลึกเมื่อคราวทำสงครามรบชนะไทย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ฐานของเจดีย์มีลักษณะคล้ายศิลปะพม่าผสมกับมอญ ซึ่งก่อสร้างได้เฉพาะแค่เพียงฐานของเจดีย์เท่านั้นก็ยกทัพกลับไปเสียก่อน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้สำเร็จ พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเจดีย์ศิลปะแบบไทยไว้เหนือฐานแบบพม่า ที่ตอนนั้นมีแค่เฉพาะส่วนฐานที่สร้างไม่เสร็จเหลือไว้เท่านั้น จึงเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะสงครามและการกอบกู้เอกราชได้สำเร็จของสมเด็จพระนเรศมหาราช ณ สมรภูมิทุ่งมะขามหย่อง ในปี พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดภูเขาทองเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ได้มีการบูรณะเจดีย์ใหม่ให้แข็งแรงอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2499 ตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เจดีย์วัดภูเขาทองมีความสูง 90 เมตร ความพิเศษ คือ เป็นเจดีย์องค์เดียวในพระนครศรีอยุธยาที่ด้านบนเป็นศิลปะแบบไทยและตรงบริเวณฐานเป็นศิลปะแบบพม่าผสมมอญ ปลายยอดเจดีย์หุ้มปลีด้วยทองคำจำนวน 2,500 กรัม เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธกาลครบ 2,500 ปี ตรงกับในปี พ.ศ. 2500 และนอกจากนี้ยังเป็นปีแรกที่วัดภูเขาทองเริ่มมีพระสงฆ์มาจำพรรษาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมวิวที่สวยงามจากด้านบนของเจดีย์ได้ บันไดอาจจะชันเล็กน้อย แต่มีราวสำหรับเกาะที่แข็งแรงไว้ให้ตลอดทาง “ทุ่งภูเขาทอง” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ามากอย่างยิ่ง หากมีโอกาสไปพระนครศรีอยุธยา ลองแวะไปสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดภูเขาทอง จะรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์และบรรพบุรุษชาวกรุงศรี ที่รักษาพื้นแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานได้มีอยู่กันจนถึงในปัจจุบันนี้ เครดิตภาพทั้งหมด “ภาพถ่ายโดยผู้เขียน”