รีเซต

มารู้จักงาน บุญบั้งไฟ ประเพณีขอฝน ตำนาน พระยาคันคาก พญาแถน ของชาวอีสาน บ้านเฮา

มารู้จักงาน บุญบั้งไฟ ประเพณีขอฝน ตำนาน พระยาคันคาก พญาแถน ของชาวอีสาน บ้านเฮา
aichan
28 กันยายน 2563 ( 10:00 )
251.2K

      ประเพณี บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีสำคัญของภาคอีสานบ้านเราที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณค่ะ ถือเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสานที่ทำกันในเดือน 6 ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูทำนา จะมีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาเทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า พญาแถน หรือ เทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง มีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์นั่นเองค่ะ

 

Visun Khankasem / Shutterstock.com

 

บุญบั้งไฟ ประเพณีขอฝน ของชาวอีสาน

 

ตำนาน พระยาคันคาก และ พญาแถน
ในงานบุญบั้งไฟ

 

      ความเชื่อของ ประเพณีบุญบั้งไฟ ปรากฏอยู่ใน ตำนานเรื่องพญาคันคากและเรื่องผาแดงนางไอ่ มีการกล่าวถึงการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน โดยเฉพาะในเรื่องพญาคันคาก ซึ่งตำนานนั้นมีอยู่ว่า...

 

 

      พญาคันคาก เป็นพระโพธิสัตว์ เสวยชาติเป็นโอรสของกษัตริย์ เหตุที่ได้ชื่อว่า “พญาคันคาก” เป็นเพราะเมื่อครั้งประสูติมีรูปร่างผิวพรรณเหมือนคางคก หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า คันคาก และถึงแม้พระองค์จะมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่พระอินทร์ก็คอยช่วยเหลือ จนพญาคันคากเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน จนลืมที่จะเซ่นบูชาพญาแถน พญาแถนจึงโกรธ ไม่ยอมปล่อยน้ำฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์

     จึงเกิดศึกการต่อสู้ระหว่างพญาคันคากและพญาแถนขึ้น โดยพญาคันคากได้นำทัพสัตว์ต่างๆ ขึ้นไปรบ จนได้รับชัยชนะ พญาแถนจึงปล่อยให้ฝนตกลงมาเช่นเดิม แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาเป็นประจำทุกปี จึงเป็นที่มาว่า ชาวอีสานจึงทำบั้งไฟจุดขึ้นบนฟ้าถวายพญาแถน เพื่อฝนจะได้ตกต้องตามฤดูกาลนั่นเองค่ะ

     และจากตำนานพญาคันคากนี่เอง ทำให้ชาวยโสธรได้สร้างแลนด์มาร์กขึ้นเพื่อแสดงถึงความเชื่อของชาวอีสาน คือ พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก นั่นเอง

 

งานบุญบั้งไฟ จัดที่ไหนบ้าง

 

Warinezz / Shutterstock.com

 

       การจัดงานปนะเพณีบุญบั้งไฟนั้น ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในภาคอีสาน โดยมีหลายที่ทั้ง ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย มหาสารคาม ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู เลย อำนาจเจริญ นอกจากนี้แล้วในพื้นที่ภาคเหนือ มีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ของ ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี เพชรบูรณ์ อีกด้วค่ะ เนื่องจากประชากรในเขตพื้นที่ส่วนใหญ่ อพยพมาจากเขตภาคอีสาน

 

 

       สำหรับประเพณีบุญบั้งไฟในภาคกลางนั้น มีการจัดงานในพื้นที่ของอำเภอแม่เปิน นครสวรรค์ และอำเภอลานสัก อุทัยธานี เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ 85% เป็นชาวอีสานที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม และได้นำวัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟและความเชื่อเรื่องพญาแถนติดตัวมาด้วยนั่นเอง

       และที่น่าแปลกในก็คือ ในภาคใต้ ยังสามารถพบการจัดงานบุญบั้งไฟได้ในอำเภอสุคิริน นราธิวาส อีกด้วย โดยเป็นการละเล่นของชาวอีสานที่ย้ายถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 นั่นเอง แต่ก็นับว่าหาชมได้ยากในปัจจุบันค่ะ

 

 

พิธีกรรมงานบุญบั้งไฟ

 

weerapong worranam / Shutterstock.com

 

       ในงานประเพณีบุญบั้งไฟ จะมีกิจกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่การจัดขบวนแห่บั้งไฟ การเซิ้งบั้งไฟ และการละเล่นต่างๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เช่น การทอดแหหาปลา การสักสุ่ม ขบวนเซิ้งแต่งกายสวยงามแบบโบราณ เซิ้งเป็นกาพย์ให้คติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาอันงดงาม

       บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทยสีทอง ว่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัดลวดลายต่างๆ นี้ไว้เป็นเวลานานเป็นเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ

       ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากและลิ้นพ่นน้ำได้ แต่ก็มีที่ทำเป็นรูปอื่นๆ อยู่ด้วยค่ะ แต่ก็จะมีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟจะนำไปตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะ นำมาเดินแห่ตามประเพณีนั่นเอง

 

บั้งไฟชนิดต่างๆ 

 

Visun Khankasem / Shutterstock.com

 

       บั้งไฟ นั้นมีอยู่หลายชนิด ทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นใช้ดินประสิวหนัก 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม และบั้งไฟแสนใช้ดินประสิว 10 หมื่น หรือ 120 กิโลกรัม

      เมื่อตกลงกันว่าจะทำบั้งไฟขนาดไหน ก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก จะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวนผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตร บั้งไฟก็จะแตก ไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า

      สำหรับไม้ที่จะทำเป็นเสาบั้งไฟนั้นต้องเป็นไม้ไผ่ที่มีลำปล้องตรงกันเสมอกัน จะตัดเอาแต่ที่โคนต้นเพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกันค่ะ

 

      นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันจุดบั้งไฟ ซึ่งจะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกโยนลงในโคลน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาอีกด้วย

 

ข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 

รวมที่เที่ยว ที่พัก อัพเดทเทรนด์ ฟินทั่วไทยและต่างประเทศ

อ่านง่าย สบายกว่าที่เคย! บนแอปพลิเคชัน ทรูไอดี

ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!