กลันตันฉบับฉับพลัน “อีกฝั่งของแม่น้ำโก-ลกคือกลันตันของมาเลเซีย มีจุดเรือข้ามฟากไปมาหาสู่กันที่ตลาดตากใบ” ฉันจดคำพูดของเพื่อนพิมพ์ไว้ในบันทึกของมือถือระหว่างเพื่อนพาสำรวจพื้นที่ทั่วไปของอำเภอตากใบในแง่ความเป็นอยู่ รถมาจอดตรงจุดเรือข้ามฟาก พวกเรามารอรับอาหารข้าวหมกจากกลันตันที่เพื่อนของเพื่อนนำมาส่งสำหรับงานเลี้ยง ระหว่างทางกลับที่พักแลกเปลี่ยนและสอบถามข้อมูลเพื่อนอีกนิดหน่อย ฉันจึงเปลี่ยนแผนวันพรุ่งนี้จากเดินชมชุมชนที่อำเภอตากใบ เป็นการไปต่างประเทศแค่ข้ามฝั่งแม่น้ำสายแคบ ๆ ใช้เวลาข้ามฟากไม่ถึง 10 นาที “กลันตันฉบับฉับพลัน” แบบวันเดย์ทริการท่องเที่ยวฉบับพกพาจึงเป็นไปในวันรุ่งขึ้น รอเรือข้ามฟากมีทั้งแบบเรือหางยาวกับแบบเรือโดยสารทั่วไป ฉันเลือกแบบโดยสารทั่วไปที่ลำใหญ่กว่าหางยาว ได้เห็นข้าวของที่คนแต่ละฝั่งซื้อมาขายไป ค่าเรือข้ามฟากที่ท่าเทียบเรือรัชดาภิเษกตาบาของเทศบาลเมืองตากใบราคาตั๋วข้าฟาก 10 บาท ส่วนจากฝั่งมาเลย์มาไทยจ่ายเป็นเงินสกุลริงกิต ราคาเท่ากัน ฉันใช้หนังสือเดินทางประทับตราเข้า-ออกแทนการใช้ใบผ่านแดน ฉันรู้มาว่าชาวตากใบหรือชาวละแวกใกล้เคียงตากใบมักเดินทางข้ามฝั่งไปกลันตันเพื่อจับจ่ายซื้อของใช้ที่นั่น เพราะสามารถเดินทางไป-กลับได้ในวันเดียว ในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังมีจุดผ่านแดนเข้าไปยังกลันตันผ่านทางด่านอำเภอสุไหงโก-ลกอีกแห่ง หลังผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ฉันตรงออกไปเพื่อหารถเข้าเมือง สะดวกด้วยรถโดยสารเข้าเมืองกลันตันเพียงไม่กี่ริงกิต พร้อมตรวจสอบและสอบถามเวลารถเที่ยวสุดท้ายเพื่อกลับมายังด่านตรวจคนเข้าเมือง ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมเวลาปิดของด่านเช่นกัน ฉันมีข้อมูลคร่าว ๆ ว่าที่กลันตันมีชาวสยามพลัดถิ่นอาศัยอยู่เป็นชุมชน มีวัดไทย ระหว่างทางก็พบวัดไทยและชุมชนดังกล่าว ปลายทางคือตัวเมืองที่ไป การลงระหว่างทางแบบวันเดย์ทริปสุ่มเสี่ยงต่อการต่อรถรา จึงเลือกนั่งรถชมเมืองไปเรื่อยผ่านมัสยิดสวยงามราวปราสาทของรัสเซีย ดูจากสถาปัตยกรรมภายนอกคงใช้งบประมาณในการสร้างจำนวนเงินไม่น้อย ป้ายโฆษณายาสระผมของผู้หญิงที่คำนึงถึงหลักของศาสนาอิสลาม ฮีญาบของนางแบบจึงถูกตกแต่งให้ปลิวไสวคล้ายผมกำลังสยายกลางอากาศ เป็นงานสร้างสรรค์ด้านโฆษณาของระบอบทุนนิยมที่น่าสนใจ บ้านและลายแกะสลักไม้มลายู ชายหาด ทางรถไฟที่เคยรู้มาว่าสร้างตั้งแต่สมัยอังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคม เป็นคุณูปการต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน สถานีรถไฟคลาสสิกทีเดียว เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงนิด ๆ จากด่านตรวจคนเข้าเมืองเข้ามาในเมืองให้อรรถรสแน่นอนสำหรับเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยเดินทางมาก่อน เมื่อถึงตัวเมืองพบเห็นอาคารสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส เป็นมรดกตกทอดให้ผู้ไปเยือนได้เห็นการผสมผสานต่าง ๆ ฉันใช้เวลาเดินประมาณห้าชั่วโมงตามเวลาที่พอมี แวะไปชมสถานที่ต่าง ๆ แบบคร่าว ๆ เลือกเดินชมตึก พลัดหลงเข้าไปตามซอกซอยที่มีเสน่ห์ชวนค้นหา เงียบจนรู้สึกถึงนิยามการเป็นเมืองร้าง ยิ่งเมื่อเทียบกับยอร์จทาวน์ในปีนังที่เคยไปมา เมืองอิโปห์ที่ว่าเงียบแล้ว มาพบกลันตันก็จะดูเงียบกว่ามาก สิ่งสะดุดตาของกลันตันที่น่าจะเป็นจุดเด่นของที่นี่ อาจจะดึงดูดคนมาให้คึกคักกว่าเดิมน่าจะเป็นกราฟฟิตี้หรือภาพวาดบนกำแพงที่ซุกอยู่ตามตรอก ซอก ซอย ในย่านใจกลางเมืองเก่าของที่นี่ หลายภาพสื่อถึงวิถีชีวิต ที่น่าสนใจคือหลายภาพสื่อถึงความเป็นหญิงมุสลิม ความเป็นแม่ ภาพจำนวนหนึ่งสื่อถึงสงคราม สันติภาพ สันติสุข เด็ก ๆ ความสูญเสีย การพลัดพราก แล้วแต่คนวาดจะสร้างสรรค์ออกมา น่าสนใจที่ภาพวาดสะท้อนความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมแบบตะวันออกกลาง แบบเอเชีย แบบตะวันตกเอาไว้ด้วย รวมถึงสุนทรียะในการใช้ชีวิตของผู้คน ทำให้เห็นการกระจายตัวใช้ชีวิตของชาวมุสลิมในแต่ละแห่งทั่วโลกที่น่าสนใจ การเที่ยวแบบฉับพลับฉบับพกพาครั้งนี้ อาจดูคล้ายนั่งรถเที่ยว เป็นทัวร์ชะโงกสำหรับตัวเอง แต่ระหว่างทางที่ต้องเดินทางคนเดียวกับระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้รู้จักจัดการกระบวนการบริหารเวลา ไม่คาดหวังกับปลายทางมากนัก ทำให้ใส่ใจกับการเก็บรายละเอียดมากกว่าการมีเวลาเยอะและบอกกับตัวเองว่า “เดี๋ยวก่อน วันอื่นค่อยไปเดินก็ได้” หลายเมืองของมาเลเซียเป็นเมืองแห่งกราฟฟิตี้ก็จริง ทั้งยอร์จทาวน์ อิโปห์ กลันตัน กลับมีเรื่องราวภาพวาดบนกำแพงที่ต้องการสื่อต่างกันออกไป ฉันแอบหวังใจไว้ว่าตากใบหรือตาบา น่าจะเป็นเมืองคู่แฝดกับกลันตัน เพราะเมื่อข้ามฝั่งกลับมายังตากใบตอนก่อนด่านปิด อาคารเก่า บ้านไม้ หากมีการบูรณะให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ คงได้เห็นสายสัมพันธ์ของสองฝั่งที่แนบแน่นเกินกว่าความเป็นรัฐชาติจะมาขวางกั้น Story and Photo by Nonglak Butler