หนังตะลุง เป็นศิลปะการแสดงของภาคใต้ ที่ใครหลายคนรู้จัก แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าภาคอีสานก็มีการแสดงที่คล้ายคลึงกับภาคใต้ เรียกกันว่า หนังประโมทัย ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี ผู้เขียนเป็นเด็กชนบทเกิดที่อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี จึงมีโอกาสรับชมศิลปะการแสดงพื้นบ้านเกือบทุกชนิด เช่น หมอลำ หนังประโมทัย กลองยาว ซึ่งการแสดงของชาวอีสานส่วนมากจะร่วมกันทำเป็นชุมชน หรือเกือบหมดทั้งชุมชน ในบทความนี้เลยอยากพาผู้อ่านทุกท่าน ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของชาวบ้านโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี พิพิธภัณฑ์หนังประโมทัยบ้านโพนทัน ตั้งอยู่ที่บ้านโพนทัน ตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร อยู่ติดถนนแจ้งสนิท เส้นยโสธร - คำเขื่อนแก้ว โดยห่างจากอำเภอคำเขื่อนแก้วประมาณ 5 กิโลเมตร โดยจุดสังเกตจะมีป้อมยามของชุมชนอยู่ข้าง ๆ กับพิพิธภัณฑ์หนังประโมทัย ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี ในชุมชนบ้านโพนทัน มีคณะหนังประโมทัยถึง 2 คณะ คือ คณะเพชรโพนทัน คณะ ร.รุ่งเรืองเสียงทอง มีการแกะตัวละครเอง พร้อมทั้งยังเป็นพื้นที่ในการสาธิตการแสดง โดยนักเรียนโรงเรียนโพนทันเจริญวิทย์ และโรงเรียนบ้านโพนทัน จะเป็นวิทยากรในการแสดง และบอกเล่าความสำคัญของหนังประโมทัย ที่มีต่อบ้านโพนทัน ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี สำหรับผู้เขียนเองรู้สึกชอบหนังประโมทัยเป็นอย่างมาก เพราะมีการแสดงเรื่องราวของรามเกียรติ์ สินไซ ทำให้เราเข้าใจวรรณคดีมากยิ่งขึ้น โดยในพิพิธภัณฑ์หนังประโมทัยบ้านโพนทัน แบ่งออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 ความเป็นมาของหนังประโมทัยบ้านโพนทัน โซนที่ 2 เป็นโซนเวทีสาธิตการแสดงหนังประโมทัย โซนที่ 3 เป็นโซนที่จัดแสดงตัวละครที่ใช้แสดงในหนังประโมทัย ที่สำคัญยังมีเอกสารแจกด้วยนะครับ เป็นเรื่องราวเกี่ยวความเป็นมาของชุมชนบ้านโพนทัน และสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี ถือได้ว่า พิพิธภัณฑ์หนังประโมทัยบ้านโพนทัน เป็นอีกพื้นที่ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่คนสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมศึกษาจะพลาดไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ในการแสดงออก อนุรักษ์ และสืบสานของคนในชุมชนรุ่นต่อรุ่น พร้อมกันนั้นยังทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งในการอนุรักษ์มรดกทางปัญญาของตนเองอีกด้วย สำหรับผู้เขียนเอง ถือได้ว่าการเดินทางครั้งนี้ประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะได้ทั้งความรู้ และแนวทางในการอนุรักษ์มรดกทางความคิดในอนาคตอีกด้วยครับ