รีเซต

ททท. จับมือ สดร. ปักหมุด 18 พื้นที่ดูดาว กับโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND

ททท. จับมือ สดร. ปักหมุด 18 พื้นที่ดูดาว กับโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND
SummerB
20 กรกฎาคม 2566 ( 15:00 )
484

       การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมือกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)
เปิดตัวโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 2 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่ ห้องประชุมจารุวัสตร์ ชั้น 10 อาคาร ททท. พร้อมเปิดลิสต์ 18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ทั่วไทย และมอบโล่ประกาศแก่พื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ และปลุกกระแสการเดินทางมิติใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสความงดงามของธรรมชาติยามค่ำคืนค่ะ

 

 

        โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 2 เป็นโครงการส่งเสริมการตลาดต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ททท. และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เพื่อสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) โดยมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) ให้เป็นหนึ่งในประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ ที่เสริมสร้างให้การท่องเที่ยวในไทยมีคุณค่าที่แตกต่าง และน่าประทับใจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการตอบโจทย์ความสนใจของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม สอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2566 ด้วยเช่นกันค่ะ

 

 

         ภายใต้โครงการนี้ ททท. จะชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความสนใจพิเศษ ผู้ที่สนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบ
การดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไปเดินทางออกไปสร้างความสุขท่ามกลางธรรมชาติ สัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าประเทศไทย เรียนรู้ระบบสุริยจักรวาล ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก และ ชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศีและดวงดาวต่างๆ ที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน นอกจากจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับท้องฟ้าในยามค่ำคืนในสถานที่ดูดาวทั่วไทยแล้ว ยังได้สนุกสนานไปกับกิจกรรมที่ให้ความรู้อีกด้วย

 

AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 2

 

        สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อุทยานท้องฟ้ามืด ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล และ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง สถานที่ที่ขึ้นทะเบียนแต่ละประเภทจะต้องมีความมืดของท้องฟ้าที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากแสงรบกวน มีพื้นที่เปิดโล่งสังเกตท้องฟ้าได้โดยรอบ มองเห็นดาวเหนือ และวัตถุท้องฟ้าเด่นๆ ได้ด้วยตาเปล่า มีบุคลากรในพื้นที่ที่สามารถให้ความรู้ทางดาราศาสตร์เบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ครบครัน เช่น เส้นทางคมนาคม ห้องน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น  

 

 

       และในปี 2566 นี้ก็ได้มีเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนถึง 18 แห่งด้วยกัน ได้แก่

  • อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ลานชมดาว)
    .กำแพงเพชร, อุทยานแห่งชาติตาพระยา (ลานกลางเต้นท์กลางดง) . สระแก้ว, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ . นครราชสีมา, อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ดอยเสมอดาว) . น่าน และวนอุทยานน้ำตกผาหลวง . อุบลราชธานี
  • เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) จำนวน 11 แห่ง  ได้แก่  มีลา การ์เดน รีทรีท คอทเทจรีสอร์ท . สระบุรี , คีรีมาลา อีโค่ แคมป์ . ราชบุรี, ฟาร์มแสงสุข . ระยอง, ไร่เขาน้อยสุวณา
    . นครราชสีมา, ต้นข้าวหอมบ้านอ้อมดอย . เชียงใหม่, วิลลา เดอ วิว บูทีค รีสอร์ท เชียงดาว . เชียงใหม่, เชียงดาวฟาร์มสเตย์ . เชียงใหม่, บ้านสวน ป่าโป่งดอย . เชียงใหม่, เดอะ ทีค รีสอร์ท . เชียงใหม่, พูโตะ . เชียงใหม่ และ
    อ่าวโต๊ะหลี . พังงา
  • เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สวนสัตว์ขอนแก่น . ขอนแก่น และ ซัมมิท กรีนวัลเล่ย์ เชียงใหม่ . เชียงใหม่

 

 

       สำหรับใครที่สนใจและชื่นชอบความงดงามของท่องฟ้าในยามค่ำคืน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ หรือดาวน์โหลดหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวดูดาวชวนเธอไปชมดาว ในรูปแบบ e-book ได้ที่ https://citly.me/81xbd