ต่อจากตอนที่แล้ว # ลาวในความทรงจำ เช้านี้อากาศเย็นจนข้าพเจ้ายังขดตัวภายใต้ผ้าห่ม เสียงคนเริ่มเอะอะจึงรู้ว่าเกือบจะ 9 โมงเช้า เรือกำลังจะออกจากท่า ท่ามกลางความงัวเงีย ข้าพเจ้ามองอะไรแทบไม่เห็น เพราะแม่น้ำโขงทั้งสายถูกบดบังไปด้วยหมอกขาวโพลน “สบายดี” พอนไซเดินมาทักทายและบอกว่า เรืออาจจะถึงหลวงพระบางล่าช้ากว่ากำหนดมาก เพราะหมอกลงจัด การเดินเรือไม่สามารถเร่งเครื่องยนต์ได้เต็มกำลัง เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นเลวร้าย มื้อเช้านี้ข้าพเจ้าได้กาแฟลาว 1 จอก กับปาท่องโก๋หรือขนมคู่ ซึ่งพอนไซเป็นธุระจัดหามื้อเช้ามาให้ 9 โมงกว่าๆ เรือจึงออกเดินทางอย่างช้าๆ กาแฟลาวมีลักษณะเฉพาะถิ่น มีกลิ่นที่หอม ละมุน รสไม่ขมมาก แต่ก็สามารถทำให้หายอ่อนล้าจากดีกรีของเครื่องดื่มเมื่อคืนได้ พอนไซยังดื่มต่อเนื่องจากเมื่อคืน โดยรินเบียร์ลาวอุ่นๆ (ไม่เย็น) ให้ข้าพเจ้าดื่ม 1 จอก ส่วนทองไซนั่งเกากีตาร์เบาๆ จนข้าพเจ้าคล้อยตามเสียงเพลงลาว หลุดพะวังหลงไปกับเกลียวน้ำโขง ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าโดยสารมากับเรือล่องแม่น้ำโขงจะได้เห็นทิวทัศน์อันสวยงามของ ริมสองฝั่งโขง ทั้งเป็นช่วงที่อากาศกำลังเย็นสบายมีไอหมอกขาวลอยเหนือแม่น้ำนับว่าเป็นภาพที่หาดูได้ยาก แดดอ่อนกระทบผิวน้ำระยิบ หมอกเริ่มจางลงแต่ความเย็นนั้นยังคงร้ายอยู่ วันนี้พอนไซอาสาจะเล่าเรื่องราวในตำนานของสองฝั่งโขงในเส้นทางเดินเรือ เพื่อให้ออกรสมากขึ้นเบียร์ลาวอีก 4-5 ขวด จึงหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องดื่มแก้คอแห้ง เรือล่องเอื่อยบ้างเร็วบ้าง ผ่านไปไม่นาน เรือของเราก็จอดรับ ผู้โดยสารที่ท่าซ่วง ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวไทยอีก 4-5 คนมารอขึ้นเรือ พอนไซเล่าว่า ที่ท่าซ่วงมีถนนที่ตัดไปยังบ้านหงสา ซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดน่านของประเทศไทยทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไม่น้อยข้ามมาต่อเรือไปหลวงพระบางที่นี่ หากแต่เส้นทางนี้ยังไม่สะดวกเท่าที่ควรหรือน้อยคนนักจะรู้ (ปัจจุบันถนนสร้างเสร็จเรียบร้อยสามารถขับรถประมาณ 3 ชั่วโมงจากชายแดนจังหวัดน่านก็ถึงตัวเมืองหลวงพระบาง) ไม่นานเรือก็แล่นมาถึงบริเวณที่กระแสน้ำโขงไหลเอื่อย ราวกับนิ่งสนิท แต่พอนไซบอกว่าบริเวณนี้น้ำลึกมากจนผู้โดยสารเข้าใจว่า น้ำไม่ไหลเลย ซึ่งตรงกับสำนวนไทยที่ว่า “น้ำนิ่ง ไหลลึก” บริเวณนี้ชาวลาวละแวกนี้จะเรียกว่า “แก่งแอ่น” ข้าพเจ้านั่งมองป่าที่รกชัฎปรกคลุมไปด้วยไม้ใหญ่หลากหลายชนิด หลายต้นข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหรือไม่รู้จัก ป่าไม้ของลาวอุดมสมบูรณ์มากจนข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่าในป่านั้นจะประกอบไปด้วยสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากและที่สิ่งที่คู่กับป่า คือ เสือ พอนไซเลยถือโอกาสเล่าเรื่อง เสือเหลืองหรือเสือโคร่งตัวใหญ่ที่เคยถูกล่าเพราะเข้าไปขโมยกินไก่ของชาวเขา พอนไซเล่าว่าขนาดตัวของมันวัดจากหัวถึงหางเกือบ 2 เมตร พอนไซยังเล่าให้ฟังอีกว่าชาวเขาที่นี่ส่วนใหญ่จะไม่เลี้ยงสัตว์ เพราะกลัวเสือมาล่าไปเป็นอาหารและบางครั้งอาจทำอันตรายแก่พวกเขา ดังนั้น ชาวเขาทั้งหลายจึงนิยมออกล่าสัตว์และเก็บของป่ามากกว่า แต่มีสิ่งหนึ่งที่ ชาวเขาในลาวนั้นไม่ยุ่งและข้องเกี่ยวคือไม้กฤษณา ไม้เนื้อหอมราคาแพงของชาวลาวที่มีการลักลอบตัดอยู่เสมอ ด้วยว่าชาวเขานับถือภูตผีกันมาก และเชื่อกันว่าต้นกฤษณาเป็นที่อาศัยของนางไม้เจ้าที่เจ้าทางประจำป่า อาจเป็นกุศโลบายของชาวเขาที่ทำให้ผืนป่าส่วนใหญ่ในลาวยังอุดมสมบูรณ์ ไม่นานเรือก็แล่นเข้าสู่เขตเมืองง่า บ้านห้านเตอะ เป็นจุดที่มีน้ำเชี่ยวและอันตรายอีกจุดหนึ่ง ชาวบ้านจะเรียกว่า “แก่งเตอะ” และเมื่อถึง “แก่งฮ่างใหญ่” พอนไซก็อมยิ้มแสดงความดีใจ และบอกให้ข้าพเจ้าทราบว่าใกล้จุดหมายแล้ว เพราะฝั่งซ้ายของเรือคือ แขวงเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์หนาทึบไปด้วยต้นไม้หลากหลายนานาพรรณจนดูน่ากลัวราวกับซ่อนเร้นบางสิ่งไว้ “ตะวันเลยหัวไปสามวา” ข้าพเจ้ากำลังจะถึงเมืองที่นักเดินทางบางคนเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า “ยูโธเปียแห่งอุษาคเนย์” ด้วยสายตาที่ ซอกแซกและปากที่ซักไซร้ก็ปริถามพอนไซถึงภูเขารูปร่างแปลกๆ ทางฝั่ง ซ้ายมือที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนยอดเขา “ชาวลาวเขาเอิ้นว่า โลงนางอั้ว” ด้วยลักษณะของภูเขาที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับโลงศพ ข้าพเจ้าพยักหน้าชื่นชมจินตนาการของชาวลาว พอนไซเล่าต่อไปว่า มีตำนานเกี่ยวกับภูเขาโลงศพนี้ ในโลงศพนี้มีอยู่ 2 ศพ คือ นางอั้วกับขุนลู ทั้งสองคนนี้รักกันมากแต่ขุนลูนั้นยากจน พ่อแม่ฝ่ายนางอั้วไม่ชอบ จึงไม่ให้ทั้งสองคนนี้แต่งงานกัน นางอั้วจึงตัดสินใจผูกคอตายที่ภูเขาลูกนี้เมื่อขุนลูรู้ความจึงเอามีดง้าวปาดคอตายตาม ศพของทั้ง 2 คน จึงบรรจุอยู่ด้วยกัน ณ ที่ภูเขาลูกนี้ พอนไซถอนหายใจเมื่อเล่าจบ แล้วยกจอกเบียร์ขึ้นดื่มแก้กระหายก่อนจะบ่นเป็นภาษาลาว เบาๆ ซึ่งข้าพเจ้าจับใจความได้ว่า “เฮ่อ ความฮักนี้หนอ ไผสิยากจะเข้าใจ ทั้งที่มันเป็นเฮื่องของ 2 คนแท้ๆ ดองกันไปก็กินนอนกัน 2 คน พ่อ แม่ บ่ได้มานอนสาดนำกัน จั๊กหน่อย” พอนไซเสริมอีกว่า บางคน ก็เล่าว่าตรงโลงนั้นเป็นเมืองขีดขิน ซึ่งมีหน้าผาแห่งหนึ่งชื่อว่า ผาฮุ้ง (ผารุ้ง) ตามนิทานพื้นบ้านของลาวเรื่อง “ท้าวคัดทะเนก ท้าวคัดทะนาม” คล้าย “หลวิชัย คาวี” ของไทย พอนไซ ยังเสริมตำนานการแบ่งอาณาเขตของลาวขมุกับลาวเทิงว่า ข้างผารุ้งนั้นจะมีผาอีกผาหนึ่ง ชาวลาวเรียกว่า “ผาแป้น” หมายถึง เป้าที่ใช้ยิงธนู ครั้งหนึ่ง เจ้ามหาชีวิตของลาวขมุกับลาวเทิงมานัดท้าประลองเพื่อแบ่งดินแดนกัน โดยมีกติกาว่า ใครยิงธนูปักที่กลางเป้าจะได้ปกครองอาณาเขตพื้นราบ ปรากฏว่า ทั้ง 2 ยิงถูกกลางเป้าเหมือนกัน แต่เจ้ามหาชีวิตลาวเทิงเอาขี้สูด (ชันนะโรง) ติดปลายธนูจึงปักที่เป้าให้คนเห็นกันทั่ว และได้ปกครองอาณาเขตในพื้นราบ ส่วนมหาชีวิตลาวขมุต้องย้ายไปปกครองบนพื้นที่เขาสูง จากตำนานนี้ จึงจะพบเห็นชาวขมุอาศัยตามภูเขา ส่วนชาวลาวเทิงมักอยู่ในพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ เรือแวะจอดที่ถ้ำติ่งให้นักท่องเที่ยวได้พักจากอาการเมื่อยขบและเข้าชมภายในถ้ำ นั่งเรือมาสักพักก็เห็นเรือของชาวลาวจอดร่อนทรายหาทอง ตามหาดน้ำโขงบ้างเป็นเรือขนาดใหญ่บ้างขนาดเล็ก พอนไซเล่าให้ฟังว่า เศษทองที่ร่อนได้ส่วนมากจะเป็นเศษทองเหลืองหรือทองคำลาว ไม่ใช่ ทองคำเหมือนในประเทศไทย นอกจากนี้พอนไซจึงอธิบายภาษาลาวให้รู้ อีกคำหนึ่งคือ คำว่า "คำ" จะหมายถึงทองคำ ส่วนคำว่า "ทอง" นั้น จะหมายถึงทองเหลือง หรือทองคำลาวที่ชาวลาวนิยมใส่กันในงานบุญ ต่างๆ โดยสีจะออกส้มๆ ข้าพเจ้าตำจอกฟังพอนไซเพลินจนลืมเวลาไปพอเหลียวมองนาฬิกาก็เกือบ 4 โมงเย็น พอนไซบอกว่าไม่กี่อึดใจก็ถึงจุดหมายปลายทาง แต่ว่ายังเหลือ แก่งที่น่ากลัวอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งนักเดินเรือหรือผู้โดยสารชาวลาวเกรงกลัว เป็นนักหนา คือ แก่งเหลือก ด้วยความร้ายกาจของแก่งนี้ เอาการนักจนชาวลาวกลัวจนตาเหลือก จึงเป็นที่มาของชื่อแก่งเหลือก พอนไซ พูดเสร็จก็ยิ้มหัวด้วยดีกรีของเบียร์ลาว พอถึงบริเวณแก่งเหลือกจะมีหมายหลักน้ำบอกเส้นทางที่ชาวเดินเรือจะต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหมายหลักน้ำนั้นจะบอกลักษณะของแก่งหินที่แหลมคม ซึ่งพร้อมเสมอที่จะฉีกท้องเรือให้แตก ได้ทุกเสี้ยววินาที ยิ่งมีหมายหลักน้ำถี่มากยิ่งบอกว่าบริเวณนั้นมีแก่งหินที่ล่วงล้ำเข้ามาในแม่น้ำโขงมาก พอพอนไซพูดจบเรือก็โคลงทำให้เบียร์ในจอกกระฉอก เพราะกระแสน้ำที่เชี่ยว น้ำตีฟองกระแทกกับแก่งหินจนเกิดฟองสีขาวขุ่น เสียงดังฉาดใหญ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเสียงแม่น้ำคำราม ข้าพเจ้าและผู้โดยสารไม่กล้าขยับเขยื่อนตัว นั่งนิ่ง ตัวเกร็ง เสียงลมหายใจแผ่วจนแทบจะลืมหายใจ ทุกคนบนเรือนั่งนิ่งจนหน้าถอดสี เสียงลุง เจ้าของเรือร้องเรียกหาทองไซให้ไปช่วยดูร่องน้ำทางหน้าเรือด้านขวา ทองไซละกีต้าร์ทันทีกึ่งเดินกึ่งวิ่งผ่านกองสัมภาระไปดูทางน้ำด้านหน้าเรือ ส่งเสียงเอะอะเป็นภาษาลาว จนทำให้ผู้โดยสารหวาดวิตกขึ้นมาทันที และท่ามกลางความหวาดกลัวเรือโดยสารขนาดกลางหันหัวเรือหลบแก่งหินทางซ้ายออกสู่กลางลำน้ำยิ่งทวีความกังวลเพราะดูจะไกลฝั่งออกไปทุกที สักครู่ลุงเจ้าของเรือก็หันมายิ้ม ให้กับผู้โดยสารและชี้ไปข้างหน้า พร้อมกับบอกเป็นภาษาลาวว่า “หลวงพระบาง” ทุกคนในเรือมองตามปลายมือที่ลุงชี้ แลเห็นจุดบรรจบของแม่น้ำคานกับแม่น้ำโขง ทำให้คลายความหวาดกลัว พอนไซเทเบียร์จนหมดขวดสุดท้ายใส่จอก ยื่นให้ข้าพเจ้าพร้อมกับยิ้ม แล้วก็เปรยเบาๆ ว่า “แก่งตาเหลือก” พอนไซว่า พอเห็นภูนาง ฝั่งเซียงแมนสิแม่นแล้วถึงหลวงพระบาง พอนไซชี้ให้ดูภูเขาที่มีลักษณะเหมือนส่วนหัว คอ และหน้าอก ของผู้หญิงนอนหงาย โดยหันหัวไปทางทิศเหนือหรือทางต้นน้ำ เวลาเพียงไม่กี่นาทีที่เห็นภูนาง คุณลุงเจ้าของเรือก็ร้องบอกผู้โดยสารบนเรือเป็น ภาษาลาวว่า “เกรียมโตๆ ถึงเมืองหลวงแล้ว” ทุกคนต่างตรวจสัมภาระของตนเองและเตรียมตัวแยกย้ายกันไป เวลาเพียง 2 วันกับ 1 คืน ของ ข้าพเจ้าที่ได้นั่งตำจอกกับพอนไซนั้นช่างได้สาระ ตำนาน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวิถีชีวิตของชาวลาวริมน้ำโขง ทั้งที่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะตอบแทนพอนไซอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับสิ่งที่ได้รับ เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากปากชาวลาว ด้วยภาษาลาวอันหาได้ยากยิ่งจากในหนังสือ ขอขอบใจสหายพอนไซ พ่อค้าเครื่องแห่งเมืองหลวงพระบาง ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดย : ดวงจำปา (ผู้เขียน)