สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินทางมาทางภาคอีสานโดยเฉพาะภาคอีสานตอนบนนั้นต้องไม่พลาดจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่แห่งที่ 77 ของประเทศที่ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมายไม่ว่าจะเป็นน้ำตก หรือไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามที่นี่ก็ขึ้นชื่อไม่แพ้ที่ใดในประเทศ หนึ่งในนั้นคือ วัดเจติยาศรีวิหาร หรือ วัดภูทอก วัดป่าสายวิปัสนาที่เลื่องชื่อจนผู้คนจากทั่วสารทิศต้องมาเยือนยลกับตาสักครั้ง วัดภูทอกหรือ วัดเจติยาศรีวิหาร ตั้งอยู่ที่ บ้านคำแคน ต.นาสะแบง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ เป็นวัดและสถานที่วิปัสนากรรมฐานของพระภิกษุ ซึ่งก่อตั้งโดย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ลูกศิษย์ของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอย่างหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านพระอาจารย์จวนได้เดินธุดงค์เพื่อหาสถานที่ปฏิบัติธรรมมาพบภูเขาหินทรายขนาดใหญ่ 3 ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่ และภูสิงห์น้อย จึงจำพรรษาอยู่บริเวณตีนภูเขา เวลาต่อมาชาวบ้านที่ศรัทธาจึงอาราธนาให้ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ สร้างวัดภูทอกขึ้น ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาหินทรายสูงชัน และมีความยากลำบากในการก่อสร้าง พระอาจารย์จวน และชาวบ้านจึงต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างมากกว่าจะสร้างบันไดและสะพานไม้เพื่อขึ้นไปสร้างสถานที่บำเพ็จเพียรภาวนาบนภูทอกได้ ซึ่งรวมแล้วใช้เวลาในการก่อสร้างด้วยแรงงานคนล้วนๆ เป็นเวลากว่า 5 ปี บนภูทอกนั้นแบ่งเป็น 7 ชั้น โดนชั้นที่ 1 และ2 เป็นบันไดทางขึ้นนำไปสู่ชั้นที่ 3 ซึ่งคือทางแยกสองทาง ทางหนึ่งเป็นบันไดสูงชันนำไปสู่ชั้นที่ 5 หรือจะเบี่ยงขวาเพื่อขึ้นบันไดหินไปสู่ชั้นที่ 4 ในชั้นที่ 4 เป็นที่พักของแม่ชีโดยจะมีที่พักเป็นกฏิไม้อยู่ตามซอกเขา และเป็นทางเดินไม้กระดานรอบๆภูเขา และมีจุดชมทิวทัศน์ให้พักถ่ายรูปกันได้ระหว่างทาง ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ภูทอกเป็นภูเขาหินทราย มีแร่ธาตุปะปนอยู่หลายชนิดจึงทำให้มีสีและรูปร่างที่ค่อนข้างแปลกตา สำหรับผู้ชื่นชอบการถ่ายรูป รับรองได้ว่าให้เวลาอยู่บนนี้กันหลายชั่วโมงแน่ๆ เดินอ้อมภูเขาสักพักก็จะมีบันไดขึ้นไปสู่ชั้นที่ 5 ซึ่งเป็นกุฏิของพระภิกษุสงฆ์ และมีพื้นที่บำเพ็ญเพียรภาวนาของพระภิกษุสงฆ์อยู่รอบๆภูเทา นอกจากนั้นบนชั้นที่ 5 นี้ยังมีสะพานที่ข้ามไปสู่พระ พระวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย พระวิหารมีลักษณะเป็นภูเขาหินยื่นออกไปจากภูทอก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปสำหรับกราบไหว้บูชา และหากหันหลังกลับไปมองดูทิวทัศน์ของภูทอกจากมุมมอง ณ พระวิหารจุดนี้ จะเห็นสะพานไม้ลัดเลาะตามหน้าผาของภูทอก ทำให้เห็นถึงความศรัทธา และความอุตสาหะของชาวบ้านที่ช่วยกันสร้างวัดภูทอกว่ามีมากมายจนคาดคะเนไม่ได้จริงๆ หลังจากนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธ์ในพระวิหารเรียบร้อยแล้ว เราก็เรียกกำลังใจกันต่อแล้วปีนขึ้นสู่ชั้นที่ 6 ชั้นที่ว่ากันว่าเป็นชั้นที่ชมทิวทัศน์สวยที่สุดเลยก็ว่าได้ ในชั้น 6 นี้ เราต้องใช้ความระมัดระวังตลอดการเดินเพราะแทบตลอดทั้งชั้นเป็นสะพานไม้ยึดติดกับหน้าผาสูงชันจนแทบไม่อยากมองลงไปด้านล่าง แต่เมื่อเห็นความงามผ่านสายตาก็แทบลืมความกลัวหมดสิ้น บนชั้น 6 จะมีจุดที่มองเห็นพระวิหารได้ชัดเจน เป็นทิวทัศน์ที่สวยงามมากๆเมื่อเห็นพระวิหารอยู่ท่ามกล่างป่าไม้ และมีภูทอกใหญ่เป็นฉากหลังที่ดูงดงามทีเดียว โดยส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวจะสิ้นสุดการเดินทางในชั้นที่ 6 นี้ เพราะในส่วนของชั้น 7 นั้นเป็นสวนป่าสถานที่วิปัสนาของพระภิกษุสงฆ์ สถานที่ส่วนใหญ่ต้องการความสงบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจึงต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความสำรวมและให้เกียรติสถานที่ หลังจากเดินลงมาจากภูทอกก็อย่าลืมเดินเลยมาชมเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐภายในเจดีย์ประดิษฐานรูปหล่อพระอาจารย์จวน อัฐิธาตุ และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐรวมถึงอัฐบริขารที่ท่านใช้ในชีวิตประจำวันให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมและศึกษาถึงประวัติศาสตร์อีกด้วย วัดภูทอกเป็นวัดป่าเพื่อให้พระภิกษุและผู้ปฏิบัติธรรมได้ฝึกปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดาซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชม ในช่วงวันที่ 10 – 16 เมษายนของทุกปี แต่ถึงแม้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมตามอัธยาศัยก็ตาม นักท่องเที่ยวก็ควรเที่ยวชมด้วยกิริยาอาการที่สงบ และเคารพสถานที่ และจุดประสงค์เดิมที่ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ผู้ก่อตั้งวัดได้วางไว้ว่าเป็นวัดสำหรับปฏิบัติธรรมโดยแท้จริง >>>การเดินทางไปภูทอก จากตัวเมืองบึงกาฬให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 222 ไปทางอาเภอศรีวิไล ประมาณ 50 กิโลเมตร โดยระหว่างทางจะเห็นป้ายบอกทางอยู่ตลอด ภายในบริเวณวัดมีที่จอดรถอำนวยความสะดวก รับรองได้ว่านักท่องเที่ยวที่ได้มาเที่ยวชมต้องได้รับทั้งบุญ และได้ชื่นชมความสวยงามอย่างเต็มที่แน่นอน<<<