เวลาคนอีสานไปพบสิ่งใหม่ๆ แล้วประทับใจแบบสุด ๆ มักหลุดปากชมออกมาว่า สะออนหลายเด้ ! คงเหมือนกับความรู้สึกของเราที่ได้มาตะลอนเที่ยวทั้งในและนอกตัวเมืองสกลนคร ด้วยคำชวนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ...เวลาเพียง 2 วัน 1 คืนเราได้เจอสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ ทั้งอาหารถิ่นกลิ่นเวียดนาม ผ้าครามที่สวยและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว บรรยากาศอันขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์ของวัดพระธาตุโบราณอายุหลายร้อยปี จนอยากบอกว่า เมืองสกลแห่งนี้ สะออนหลายเด้ ! ขอให้คำเชิญชวนของเรา (และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แห่งตั๋วเครื่องบินราคาประหยัด) ได้ดลบันดาลนำพาให้คุณมาสัมผัสเมืองสกลนครสักครั้ง แล้วจะพบว่าที่กล่าวไม่ได้เกินจริงเลย! --ลายแทงนักกินที่ตลาดเมืองสกล-- หลังจากล้อเครื่องบินไฟลต์เช้าสุดแตะพื้น เราแนะนำให้คุณพุ่งเข้าตัวเมืองไปเก็บของที่โรงแรม แล้วออกมาเดินตลาดเช้าหาของกินอร่อยๆ ...ไปที่ไหนเรามักแวะตลาดไปดูว่าคนที่นั่นเขากินอยู่กันยังไง และทุกครั้งก็จะได้เห็นวัฒนธรรมอันหลากหลายที่ผสมผสานอยู่ในบรรดาอาหารการกิน ตลาดสกลนครที่ใจกลางเมืองก็เช่นกัน เราเห็นวัฒนธรรมของคนญวนหรือเวียดนาม ที่อพยพหนีภัยสงครามเมื่อราวร้อยปีก่อนมาพักพิงที่เมืองสกลฯ สอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมอาหารอีสาน เดินเข้าตัวตลาดไม่กี่ก้าวก็ได้เห็นร้านข้าวเกรียบปากหม้อญวนที่แสนน่ากิน แค่ยืนดูแม่ค้าเทแป้งลงบนผ้าขาวบางปากหม้อ ใส่เครื่องใส่ไข่ แล้วปิดฝารอแป้งสุก ก่อนจะใช้ไม้ปาดพับห่อไว้อย่างคล่องแคล่วทุกขั้นตอนก็เพลินตาแล้ว ใกล้กันยังมีร้าน ข้าวโซย ซึ่งเป็นข้าวเหนียวหลายชนิด เช่น ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวเขียว โรยด้วยงา น้ำตาล และถั่วเหลืองบด รสชาติจะหวานๆ มันๆ แปลกลิ้นน่าลอง ห่อเดียว 20 บาท กินหมดรับรองอิ่มถึงเที่ยง เดินมาอีกสองสามก้าว เหลียวไปทางด้านขวา ก็จะพบร้านเมี่ยงญวน คล้ายๆ กับปอเปี๊ยะไส้ผัก กินกับน้ำจิ้มหวานๆ คออาหารสุขภาพไม่ควรพลาด จากอาหารเวียดนามแท้ๆ ก็เดินมาเจอกุนเชียง ที่ขอจัดว่าเป็นสุดยอดของฝากจากสกลนครเลยคือ กุนเชียงยายทองคำ เราจำได้ว่าหลายปีก่อนเคยมีคนแนะนำให้เข้าไปซื้อถึงบ้านยาย ตอนนั้นไปส่องถึงหน้าเตา เห็นการทำกุนเชียงเตาถ่านใหม่ๆ ซื้อกลับมากินแล้วถูกใจมากแม้จะราคาค่อนข้างสูง คราวนี้ยินดียิ่งที่ไม่ต้องคลำหาทางไปบ้านยาย เพราะมีกุนเชียงยายมาขายในตลาดแล้ว ซึ่งยังคงความอร่อยเช่นเดิม ทั้งความหอม ความหวานที่พอดี และเนื้อหมูในกุนเชียงที่แน่นและมีมันน้อย จนต้องควักกระเป๋าซื้อกลับมาฝากคนอื่นๆ อีกหลายกิโลฯ ในตลาดยังมีของกินที่แสดงถึงวัฒนธรรมในสำรับของคนอีสาน เช่น ปลาส้ม ปลาซิวปลาสร้อย กุ้งเต้น ฯลฯ ให้เดินดูกันสนุก ที่น่าสนใจเนื้อวัวโคขุนโพนยางคำของขึ้นชื่อเมืองสกล รวมถึง “หมากเม่า” ผลไม้ตระกูลเบอร์รีที่มีเฉพาะที่นี่ ใครอยากลองก็ซื้อมากินผลสดได้ --ย้อมครามด้วยตัวเองที่ร้าน ครามสกล-- เมืองสกลฯ ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีผ้าครามสีสวย คุณภาพดี ใครที่หลงเสน่ห์ของผ้าคราม ย่อมรู้ว่าผ้าชนิดนี้มีดีที่สีน้ำเงินสวย ยิ่งใช้ไปสีไม่ซีดแต่กลับสวยขึ้น มองนานๆ ก็ไม่เบื่อ ใครบางคนจึงขนานนามว่าเป็น “ราชันแห่งสีน้ำเงิน” น้อยคนจะรู้ว่า การย้อมผ้าครามนั้น ไม่ใช่ง่ายเลย คนที่ย้อมจะต้องมี “หม้อนิล” ซึ่งเกิดจากนำใบครามมาผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอน เติมปูนขาว ผสมน้ำขี้เถ้าจนได้เนื้อครามอยู่ในหม้อ แต่ละวันเมื่อย้อมเสร็จก็ต้อง “เติมอาหาร” เช่น น้ำมะขามเปียก น้ำตาล ให้จุลินทรีย์ในหม้อนิลทำงาน สูตรใครก็สูตรมัน เป็นภูมิปัญญาประจำของชาวบ้านตระกูล ซึ่งต้องใส่ใจให้อาหารเหมือนลูก มิฉะนั้นหม้อนิลจะ “ตาย” ย้อมไม่ได้อีก เราเคยซื้อผ้าครามมาหลายครั้ง แต่ไม่เคยย้อมเองเลยสักครั้ง เลยไม่รู้ว่าความยากง่ายเป็นอย่างไรจนกระทั่งมาที่ร้าน ครามสกล ที่มีกิจกรรมเวิร์กชอปให้ย้อมครามด้วยตัวเอง คอร์สสั้นๆ คนละ 700 บาท เลือกผ้าพันคอได้ 1 ผืน หรือเสื้อยืดได้ 1 ตัว ย้อมเสร็จเอากลับบ้านได้เลย มีหรือที่เราจะไม่ลอง แรกสุดมานั่งเรียนวิธีการมัดย้อมให้ได้ลวดลายออกมาถูกใจ จากนั้นใส่ถุงมือ ผ้ากันเปื้อน นั่งยองเอาผ้าที่เรามัดไว้จุ่มลงไปในหม้อนิล ขยำขยี้เพื่อให้เนื้อครามซึมเข้าไปในเนื้อผ้า ทำสัก 5 นาทีจนแน่ใจแล้วว่าเนื้อครามเข้าถึงทั่วแล้วยกตาก ก่อนจะนำลงไปขยี้อีกครั้ง นำมาซัก แกะมัดย้อม ซักน้ำเปล่า และตาก เท่านี้ก็จะได้ผ้าครามสีสวยฝีมือเราเอง น่าภูมิใจมากๆ ขั้นตอนที่เป็นไฮไลต์คือตอนนำผ้ามาตาก เราจะเห็นเลยว่า จากผ้าที่ย้อมด้วยสีเขียวเข้มอมเหลืองในหม้อนิล เมื่อสัมผัสกับอากาศไปสักพัก จะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำเงินครามอย่างน่าอัศจรรย์! ร้านครามสกล อยู่ที่บ้านพะเนาว์ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง นอกจากมีกิจกรรมแล้วที่นี่ยังเป็นศูนย์ท่องเที่ยววิถีผ้าครามที่เข้าถึงง่าย มีสินค้าจำหน่ายมากมาย บรรยากาศก็ร่มรื่นเพลิดเพลิน หรือถ้าใครอยากได้ผ้าครามที่ทอด้วยฝ้ายธรรมชาติและย้อมด้วยวิธีการดั้งเดิม ก็แนะนำให้ไปที่บ้านโนนเรือน ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม ที่นั่นมีร้านครามวารี ซึ่งมีผ้าทอคุณภาพดีผลิตแบบดั้งเดิมจำหน่าย แต่ถ้าไม่อยากไปไหนไกลขอชวนเดิน “ถนนสายผ้าคราม” ทุกวันเสาร์อาทิตย์ที่ถนนหน้าวัดพระธาตุเชิงชุม รับรองมีผ้าครามสารพัดลวดลายให้เลือกเพียบ --ชมปราสาทผึ้ง ในเทศกาลวันออกพรรษาที่สนามมิ่งเมือง-- เนื่องจากปีนี้เรามาตรงกับเทศกาลวันออกพรรษาพอดิบพอดี เราจึงได้ชมปราสาทผึ้ง หรือปราสาทที่หล่อจากขี้ผึ้งเทียนขนาดใหญ่ แต่ละหมู่บ้านทุ่มทุนทำกันอย่างอลังการงานสร้างสุดฝีมือของตน ในปีนี้งดขบวนแห่ เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยแด่การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันถวายปราสาทผึ้งเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ด้วย นอกเหนือจากการถวายเป็นพุทธบูชาตามประเพณี ตามความเชื่อที่ว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดสัตว์ในวันออกพรรษานี้ นมัสการพระธาตุเชิงชุม เสริมมงคลกับชีวิต พระธาตุพนมเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองนครพนมฉันใด พระธาตุเชิงชุมก็เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสกลนครฉันนั้น เช้าวันรุ่งขึ้นอีกวันเรามาสักการะพระธาตุองค์นี้ ซึ่งเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน สูงราว 30 เมตร ครอบบนเจดีย์องค์เดิมที่สร้างด้วยศิลาแลง สถาปัตยกรรมเป็นแบบบัวเหลี่ยม ซ้อนเป็นชั้น ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากล้านช้าง อายุหลายร้อยปี นับเป็นพระธาตุที่ดูขรึมขลังงดงาม เราจะเห็นชาวบ้านนำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาไม่ขาดสาย ภายในวิหาร ประดิษฐานหลวงพ่อพระองค์แสน (องค์ที่อยู่ด้านหน้า) เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสกลนครเช่นกัน เราจึงน้อมกราบสักการะเป็นสิริมงคลกับชีวิต --เที่ยวบ้านท่าแร่ ชมอาคารเก่ายุคคลาสสิก-- บ้านท่าแร่เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ที่นับถือศาสนาคริสต์ชุมชนใหญ่ที่สุดอีกแห่งในภาคอีสาน ในหมู่บ้านมีโบสถ์ขนาดใหญ่ที่สง่างาม ทว่าที่เราชอบที่สุดคือบรรดา “ตึกฝรั่งช่างญวน” ด้านหลังโบสถ์ที่อยู่กระจายในชุมชนแห่งนี้ ตึกเหล่านี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2470 สมัยที่ช่างชาวญวณ ย้ายถิ่นฐานมาที่นี่ จึงนำฝีมือและความรู้มาสร้างตึกที่มีสถาปัตยกรรมงดงามน่าชม เป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ที่มีซุ้มโค้งประดับระหว่างหัวเสา และยังผสมผสานศิลปะจีนเป็นลายปูนปั้นต่างๆ ทั้งรูปประแจจีน ดอกไม้ ใบไม้ ดูแล้วเพลิดเพลิน ถ่ายภาพกันสนุกเลยทีเดียวล่ะ จริงๆ แล้วสกลนครยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากมาย น่าหาโอกาสมาเที่ยวเองจริงจังสักครั้ง สอบถามข้อมูลได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม (จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร) ได้ที่ 0-4251-3490-1