หากไม่รู้ว่าวันเด็กปีนี้จะพาเด็กๆไปเที่ยวที่ไหนดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร แหล่งรวมความรู้ประวัติศาสตร์ไทยและวิถีชีวิตของผู้คนในยุคต่าง ๆ ที่ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านหน้าต่างรากเหง้าของความเป็นไทย ผมเริ่มจากการซื้อตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งบูธขายตั๋วตั้งอยู่ตรงทางเข้าซ้ายมือ ค่าเข้าชมคนละ 30 บาท เท่านั้น ซึ่งถัดจากบูธขายตั๋วเป็น พระทีนั่งศิวโมกขพิมาน ที่อดีตเคยเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางและบำเพ็ญพระราชกุศลในโอกาสต่าง ๆ โดยสมเด็จพระราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 ปัจจุบันพระที่นั่งศิวโมกพิมานเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ ถัดจากพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จะเห็นศาลาทรงไทยตั้งเด่นสง่าชื่อว่า ศาลาลงสรง เป็นศาลาจัตุรมุขทรงไทย หน้าบันทั้งสี่ประดับพระบรมราชลักษณ์ "วชิราวุธ" ล้อมรอบด้วยลายกนกก้านหดช่อหางโต พื้นประดับกระจก สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่เดิมตั้งอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม และได้ย้ายมาแลกไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 7 ถัดไปด้านหน้าขวามือ คือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ด้านในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่อัญเชิญมาจากเชียงใหม่และมีจิตกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธประวัติและเทพชุมนุมฝีมือช่างในรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นศิลปกรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เยื้องไปทางด้านขวาของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์จะเห็นอาคารสีแดงโดดเด่นอยู่ นั่นก็คือ พระตำหนักแดง เป็นที่จัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ ของส่วนพระองค์สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2 และสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระตำหนักแดงเคยเป็นส่วนหนึ่งของหมู่พระตำหนักหมู่หนึ่งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงโปรดฯให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระตำหนักแดงนี้เป็นส่วนที่ประทับของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับที่พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี เมื่อเสด็จบวรราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงย้ายพระตำหนักแดงที่เคยประทับมาปลุกไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล และในปี พ.ศ. 2506 กรมศิลปากรได้ย้ายพระตำหนักแดงจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่พระวิมานมาไว้ในตำแหน่งปัจจุบันเสร็จจากการเยี่ยมชมพระตำหนักแดงเสร็จแล้ว ผมเดินต่อไปที่ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นที่จัดแสดงท้องพระโรงวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 1-2 พื้นที่ตรงนี้เดิมเคยเป็นชาลากลางแจ้งที่เฝ้าสมเด็จพระบวรเจ้า เสด็จออกมุขเด็จ ที่ประทับกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ตรงบุษบกเกริน รอบชาลามีทิมล้อม 3 ด้าน เรียกกันว่า “ทิมมหาวงศ์” เพราะเคยเป็นที่ประชุมราชบัณฑิตแปลหนังสือเรื่องมหาวงศ์พงศาวดารลังกา ครั้นสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักพลเสพ ทรงสร้างพระที่นั่งขึ้นตรงชาลาต่อมุขเด็จเดิม ออกมาเรียกว่า “พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย” เป็นท้องพระโรงเสด็จออกและเป็นที่ประดิษฐานพระศพกรมพระราชวังบวรแต่นั้นมา ด้านหลังพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นอาคารเชื่อมต่อกัน คือ หมู่พระวิมาน เป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเอก แสดงเอกลักษณ์อันวิจิตรบรรจงของศิลปะช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และจัดแสดงประวัติศาสตร์พระราชวังบวรสถานมงคล ในส่วนของการจัดแสดงสามารถแบ่งย่อยออกมาได้ดังนี้มุขกระสัน : ห้องเฉลิมพระเกียรติกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระที่นั่งภิมุขมณเฑียร: ห้องจัดแสดงราชคานหาม พาหนะประกอบพระราชอิสริยยศพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ: ห้องจัดแสดงเครื่องสูง พระแท่นพระราชบัลลังก์ และพระโธรนพระที่นั่งทักษิณาภิมุข: ห้องจัดแสดงนาฏดุริยางค์ เครื่องมหรสพและการละเล่นพระที่นั่งวสันตพิมาน: ชั้นบน ห้องพระวิมานที่ประทับ ชั้นล่าง ห้องจัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนักพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข: ห้องจัดแสดงเครื่องโลหะศิลป์พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข: ห้องจัดแสดงเครื่องสัปคับมุขเด็จตะวันตก: ห้องจัดแสดงเครื่องไม้จำหลักพระที่นั่งอุตราภิมุข: ห้องจัดแสดงอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ ผ้า และการแต่งกายในราชสำนักพระที่นั่งพรหมเมศธาดา: ชั้นบน ห้องจัดแสดงเครื่องใช้พระสงฆ์ ชั้นล่าง ห้องจัดแสดงเครื่องประดับมุขพระที่นั่งบูรพาภิมุข: ห้องจัดแสดงศัตราวุธโบราณด้านข้างของหมู่พระวิมานจะมองเห็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น คือ อาคารมหาสุรสิงหนาท เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 1900 และศิลปะต่างประเทศ ในห้องจะมีการจัดแสดงออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งแยกตามยุคสมัยอาณาจักรโบราณ ได้แก่ห้องเอเชีย: จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุจากประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย ศรีลังกา พม่า ญี่ปุ่นห้องก่อนประวัติศาสตร์: จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยห้องทราวดี: จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุสมัยทราวดีห้องลพบุรี: จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุแบบเขมรในประเทศไทยห้องศรีวิชัย: จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุสมัยศรีวิชัยและประติมากรรมศิลปะชวาถัดจากอาคารมหาสุรสิงหนาทจะเป็น อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ อาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น ตั้งอยู่ทางด้านข้างของหมู่พระวิมาน เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย สมัยหลัง พ.ศ. 1800 ได้แก่ห้องล้านนา ห้องสุโขทัย ห้องกรุงศรีอยุธยา ห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และห้องกรุงรัตนโกสินทร์สมัยใหม่ปิดท้ายสำหรับทริปนี้ด้วยการเยี่ยมชม โรงราชรถ สถานที่เก็บรักษาราชรถซึ่งใช้ในการพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพ โรงราชรถเป็นที่เก็บรักษาและจัดแสดงราชรถสำคัญของแผ่นดิน รวมทั้งเครื่องประกอบในการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์นอกจากจะได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์แล้วเรายังได้เห็นสมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดินที่จัดแสดงไว้ให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้เพราะนอกจากตำราเรียนแล้ว การได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ก็ยังเป็นห้องเรียนที่มีคุณค่ามากที่สุดข้อมูลทั่วไปค่าเข้าชม 30 บาท (ยกเว้น เด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระสงฆ์ สมาชิก ICOM,ICOMS)การเดินทาง รถโดยประจำทางสาย 3, 6, 9, 30, 33, 43, 53, 59, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 124, 201, 503, 507, A4วันและเวลาทำการ วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.ที่อยู่และเบอร์ติดต่อถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200โทรศัพท์ : 02-224 1402 / 02-224 1333โทรสาร : 02-224 7493เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/museumbangkokแผนที่ภาพถ่าย: โดยนักเขียน เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !