รีเซต

How to วิธีขึ้นรถไฟญี่ปุ่น แบบเข้าใจง่ายสุดๆ STEP BY STEP

How to วิธีขึ้นรถไฟญี่ปุ่น แบบเข้าใจง่ายสุดๆ STEP BY STEP
Muzika
15 กันยายน 2562 ( 19:00 )
23.2K
1

     ไม่ว่าจะเป็นการไปญี่ปุ่นครั้งแรก หรือแม้กระทั่งคนที่ไปมาหลายครั้ง เชื่อว่าบางทีก็ยังงงๆ กับการขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นอยู่ดี ขนาคนญี่ปุ่น เองบางทีขึ้นถูกขึ้นผิดก็มี เพราะรถไฟเนี่ยถือว่าเป็นระบบคมนาคมหลักของแดนปลาดิบเลย แถมยังมีรถไฟหลายแบบ หลายบริษัทอีกต่างหาก

 

 

     สรุปแล้วรถไฟญี่ปุ่นมีกี่แบบกันแน่? มีวิธีการขึ้นยังไง? ครั้งนี้เราจะมาแชร์วิธีการขึ้นรถไฟญี่ปุ่นแบบเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ให้รู้กันไปเลยว่าการเดินทางในญี่ปุ่นนั้นยากกว่าปลอกกล้วยแค่นิดเดียว

 

ประเภทของรถไฟในญี่ปุ่น

 

 

     ก่อนจะว่ากันถึงเรื่องวิธีการขึ้นรถไฟ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘รถไฟญี่ปุ่นมีอยู่กี่แบบกันแน่ และแต่ละแบบนั้นแตกต่างกันยังไง?’ โดยรถไฟในญี่ปุ่นหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 4 แบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะแตกแยกย่อยลงไปอีก และจะมีชื่อเรียกตามบริษัทที่ควบคุมดูแล เช่น JR ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ยักษ์ของรถไฟญี่ปุ่น เป็นต้น

 

  1. รถไฟ (มีรางอยู่บนพื้นถนน)


         ส่วนใหญ่ใช้สำหรับเดินทางออกนอกเมือง (เหมือนรถไฟไทยนั่นแล) แต่บางเมืองก็ใช้เดินทางภายในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว เป็นต้น

  2. รถไฟใต้ดิน


         ใช้เดินทางภายในตัวเมืองหรือจังหวัด ไม่ได้มีให้บริการในทุกจังหวัด ส่วนใหญ่จะมีในจังหวัดที่ค่อนข้างใหญ่ และมีความเจริญมากแล้ว เช่น ฟุกุโอกะ เกียวโต โอซาก้า ฯลฯ

    ** จังหวัดใหญ่ๆ จะมีทั้งรถไฟ และรถไฟใต้ดิน **

  3. รถราง


         ใช้เดินทางภายในตัวเมืองหรือจังหวัด * ซึ่งมีใช้งานในบางเมืองเท่านั้น * ส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่คงไว้ซึ่งความคลาสสิก เช่น ฮาโกดาเตะ ฮิโรชิมา เป็นต้น

  4. รถไฟความเร็วสูง (Shinkansen)


         ใช้สำหรับเดินทางออกนอกเมือง ราคาแพง แต่รวดเร็ว จุดประสงค์ก็เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางนั่นเอง

 

 

     หลายคนคงคุ้นหูชื่อ ‘รถไฟ JR’ ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีรถไฟให้บริการครอบคลุมทั้งประเทศเลย แต่ JR ก็ไม่ใช่รถไฟเจ้าเดียวในญี่ปุ่น เพราะแต่ละจังหวัดก็จะมีบริษัทเอกชนอื่นๆ ให้บริการในชื่อขบวนที่ต่างไป เช่น Hankyu Railways ที่ให้บริการในเขตภูมิภาคคันไซ เป็นต้น

 

วิธีการขึ้นรถไฟญี่ปุ่น

 

how to นั่งรถไฟเที่ยวญี่ปุ่น

 

     เอาละ ทีนี้เรามาดูวิธีการขึ้นรถไฟญี่ปุ่นแบบเข้าใจง่าย Step by Step กันเลย

 

1. เช็ควิธีการเดินทางหรือวางแผนการเดินทางล่วงหน้าจากเว็บไซต์ Hyperdia โดยพิมพ์ต้นทาง – ปลายทาง เว็บจะขึ้นวิธีการเดินทางมาให้เลือกว่าสามารถขึ้นรถไฟสายไหนได้บ้าง ราคาเท่าไร และใช้เวลาในการเดินทางนานแค่ไหน

 

2.ไปที่สถานีเพื่อซื้อตั๋ว ถ้าเป็นการเดินทางภายในเมือง สามารถใช้ IC Card ต่างๆ เช่น Suica ฯลฯ ผ่านเข้าสถานีได้เลย แต่ถ้าเป็นการเดินทางไปเมืองอื่นๆ ให้ดูจาก Hyperdia ว่าเป็นรถไฟที่ต้องจองที่นั่งไหม ถ้าต้องจองก็ต้องไปซื้อตั๋วที่เคาน์เตอร์ สิ่งที่สำคัญสำหรับการเดินทางด้วยรถไฟคืออย่าลืมดูให้ดีๆ ว่ารถไฟที่จะนั่งเป็นขบวนแบบไหน โดยรถไฟของญี่ปุ่นนั้นจะถูกแยกย่อยออกเป็น 5 แบบตามระดับความเร็ว คือ

 

  • Local : รถไฟหวานเย็น ช้าสุด เพราะจอดทุกสถานี แต่ราคาถูกที่สุด
  • Rapid : เร็วขึ้นมาอีกนิด เพราะจะไม่แวะจอดบางสถานี
  • Express : รถด่วน เร็วขึ้นมาอีกขั้น
  • Limited Express : รถด่วนกว่า จอดน้อยสถานีกว่ารถด่วน Express
  • Super Express : รถโคตรด่วน หรือเราจะรู้จักกันในชื่อ “ชินคันเซ็น” นั่นเอง

 

 

     ถ้าใครมี JR Rail Pass หลังจากทำการแลกพาสมาแล้ว สามารถจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าได้โดยการพริ้นต์ตารางการเดินทางของรถไฟขบวนที่ต้องการจากเว็บไซต์ Hyperdia ไปยื่นให้เจ้าหน้าที่เพื่อทำการจองที่นั่งได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันเดินทางก่อนแล้วค่อยไปจองน้า เพราะบางขบวนที่นั่งเต็มเร็วมาก

 

 

     รถไฟแต่ละขบวนจะมีป้ายระบุประเภทความเร็วอยู่ ลองสังเกตดีๆ ก่อนขึ้น เช่น รูปด้านล่างเป็นขบวนแบบ Local รถไฟประเภทนี้จะจอดทุกสถานี ใช้เวลาเดินทางนานที่สุดจ้า

 

how to นั่งรถไฟเที่ยวญี่ปุ่น

 

     ขบวนนี้เป็นแบบ Limited Exp. อ่อ รถไฟญี่ปุ่นตรงเวลามากนะ แนะนำให้มายืนรอที่ชานชาลาก่อนถึงเวลารถออก เราเคยแวะเข้าห้องน้ำแค่แปบเดียว ออกมาจากห้องน้ำได้ยินเสียงรถไฟฉึกฉึก รีบวิ่งไปที่ชานชาลา อ้าว รถไฟไปแล้วจ้าาา ช้าไปแค่ 1 นาทีเอง อารมณ์ตอนนั้นคือเฟว้งฟ้างมาก มีลมพัดผ่านเบาๆ พร้อมเสียงการ้อง หยั่งกะในหนัง 555 เพราะสถานีนั้นเป็นสถานีชนบท คนน้อย รถไฟจอดน้อย สรุปวันนั้นต้องทิ้งแผนไปเลย เพราะกว่าขบวนถัดไปจะมาคือรอ 2-3 ชั่วโมง

 

 

3. สอดตั๋วเพื่อเข้าไปขึ้นรถไฟ และมองหาชานชาลา โดยตรงทางเข้าจะมีป้ายขนาดใหญ่เพื่อบอกข้อมูลของรถไฟสายต่างๆ ให้ไล่สายตาหาชื่อขบวนรถไฟของเราโดยดูจากตั๋ว ป้ายก็จะบอกว่าต้องไปรอขึ้นรถไฟที่ชานชาลาไหน (Track) รถไฟมาเวลาเท่าไร (Time) รวมถึงระบุว่ารถไฟแต่ละขบวนมีที่นั่งแบบไม่จอง (Non-Reserved) หรือเปล่า ถ้ามี อยู่ที่โบกี้ (Car No.) ไหนบ้าง

 

4. เมื่อถึงชานชาลาจะมีป้ายไฟเล็กๆ ให้เช็คโบกี้ (Car No.) ที่เราต้องไปยืนรออีกที ถ้าตั๋วของเราเป็นแบบจองที่นั่ง ในตั๋วจะระบุหมายเลขโบกี้ไว้แล้ว ให้ไปยืนรอได้เลย แต่ถ้าเดินทางด้วยตั๋วแบบไม่จองที่นั่ง ต้องไปนั่งให้ถูกตู้ ไม่งั้นถ้าพนักงานมาตรวจตั๋วอาจจะโดนไล่ให้ลงได้ ฉะนั้นไปยืนรอให้ถูกโบกี้นะ

 

 

     เห็นไหมว่าบนป้ายจะระบุไว้ตรง Remarks เลยว่าตู้สำหรับตั๋วที่ไม่จองที่นั่ง (Non-Reserved) อยู่ที่โบกี้ไหนบ้าง หรือบางขบวนที่ต้องจองตั๋วอย่างเดียวก็จะระบุไว้เลยว่า Reserved Seats Only

 

 

     รถไฟชินคันเซ็นบางสถานีจะมีป้ายบอกโบกี้แบบนี้เลย

 

 

     บางสถานีก็จะไฮเทคน้อยลงมาหน่อย

 

 

     หลายคนที่เพิ่งไปญี่ปุ่นครั้งแรกจะกังวลเรื่องการเดินทาง กลัวหลง กลัวขึ้นรถไฟผิด เราอยากบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่เราต้องรู้จักสังเกตป้ายดีๆ ตั้งสติก่อนสตาร์ท ลองได้ขึ้นแค่ 1-2 ครั้ง ต่อๆ ไปก็เป็นเรื่องง่ายแล้ว เพราะถึงแม้รถไฟญี่ปุ่นจะมีอยู่หลายแบบ หลายชื่อ หลายขบวน แต่เอาจริงๆ ก็อิงจากวิธีเดียวกัน เดาได้ ไม่ยากเลย ยิ่งเดี๋ยวนี้มีภาษาอังกฤษกำกับหมดแล้ว บางสถานีมีภาษาไทยด้วย ง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะเลยล่ะ

 

 

     วิธีการเดินเข้าชานชาลาคือสอดตั๋วรถไฟแล้วรอรับตั๋วด้วยนะ ถ้าเป็นตั๋วแบบไม่จองที่นั่ง ส่วนใหญ่จะระบุแค่ต้นทาง – ปลายทาง ไม่มีหมายเลขที่นั่ง และหมายเลขขบวน

 

 

     ถ้าเป็นตั๋วแบบจองเหมือนในรูปด้านล่าง จะมีระบุไว้หมดเลยว่าเราต้องไปขึ้นที่โบกี้ไหน (Car : 04) รวมไปถึงหมายเลขที่นั่ง (Seat : 04 D) กรณีที่ไม่แน่ใจชื่อขบวนรถไฟเพราะในตั๋วมีแต่ภาษาญี่ปุ่น ให้ยึดจาก “เวลารถออก” ได้เลย เทียบเวลาในตั๋วกับเวลาบนป้ายไฟ เท่านี้ก็จะรู้ข้อมูลของรถไฟขบวนที่เราจะต้องนั่งแล้วล่ะ

 

 

     พอเดินมาถึงโบกี้แล้วไม่แน่ใจว่าถูกไหม ลองก้มดูบนพื้นนะ จะมีป้ายบอกหมายเลขโบกี้ (Car No.) และชื่อขบวนรถที่จะจอดระบุไว้ตรงประตูทางเข้ารถไฟเลย

 

 

     โบกี้สำหรับผู้หญิง Women Only ก็มี ตู้นี้ผู้ชายห้ามขึ้นนะจ๊ะ

 

 

5. ต่อแถวรอขึ้นรถไฟ ปกติก่อนจอดสถานีต่างๆ จะมีประกาศบนรถ ฉะนั้นอย่าลืมฟังเด้อ นั่งเพลินเลยสถานีจะเสียเวลาและอ๊องมากจ้า ~

 

 

     ** สำหรับรถไฟชินคันเซ็นก็จะมีวิธีการขึ้นคล้ายๆ กับรถไฟทั่วไปเลย เพียงแต่จะมีชานชาลาสำหรับชินคันเซ็นโดยเฉพาะ ราคาของชินคันเซ็น ปกติจะแพงกว่ารถไฟอยู่แล้ว แต่ชินคันเซ็นก็จะมีตู้แบบไม่จองที่นั่งเหมือนกัน ถ้าเป็นที่นั่งแบบไม่จองราคาจะถูกกว่า แต่ควรหาข้อมูลเรื่องต้นทาง ปลายทางก่อนสักนิดว่าสถานีที่เราจะขึ้นนั้นคนเยอะหรือเปล่า บางขบวนคนเต็มเอียดในตู้แบบไม่จอง อาจต้องยืนยาวเป็นชั่วโมงตลอดการเดินทางเลยก็ได้นาจา **

 

 

ขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบ : Movearound Journey