จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีสถานที่สวยงามมากมายทั้งวัด ตลาดน้ำและพิพิธภัณฑ์ สำหรับการท่องเที่ยวในครั้งนี้ผู้เขียนจะพาทุก ๆ ท่านไปเที่ยวหมู่บ้านญี่ปุ่นค่ะ จากกระแสละครบุพเพสันนิวาส ทำให้หมู่บ้านญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างมากมาย ไหน ๆ ก็มาถึงอยุธยา ผู้เขียนจึงขอตามรอยละครกะเขาบ้างนะคะ สถานที่แห่งนี้ได้รวบรวมแหล่งความรู้ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นไว้มากมายค่ะ หมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาที่จัดตั้งโดยสมาคมไทย - ญี่ปุ่น เพื่อรำลึกถึงชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญ ที่นี่เคยเป็นชุมชนชาวญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยอยุธยา เริ่มจากชุมชนเล็ก ๆ ในช่วงปลายสมัยพระมหาธรรมราชา โดยพ่อค้าเรือสำเภาญี่ปุ่นได้จัดตั้งคลังสินค้าที่นี่เพื่อรวบรวมสินค้าไว้รอเรือสำเภามาจากญี่ปุ่นในฤดูกาลถัดไป หมู่บ้านญี่ปุ่นมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จากการปิดประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นสมัยพระเจ้าปราสาททอง ชุมชนแห่งนี้จึงลดขนาดบทบาทจนปิดตัวไป ผ่านมา 400 กว่าปี หมู่บ้านญี่ปุ่นได้เริ่มมีการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ใหม่เพื่อให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เมื่อผู้เขียนเข้ามาข้างในหมู่บ้านญี่ปุ่นจะมี 2 อาคารให้เข้าชมค่ะ อาคารแรก จะเป็นส่วนจัดแสดงความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ ด้านหน้าสุดที่จุดขายตั๋วด้านในจะเป็นห้องมืด ติดแอร์ ห้องนี้จะบอกเล่าถึงเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา เส้นทางการเดินเรือ การติดต่อค้าขาย เรื่องราวเกี่ยวกับการเข้ามาของคนญี่ปุ่น วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นในสมัยอยุธยา มีภาพจำลองเรือสำเภาหรือกำปั่นของชาติต่าง ๆ มีวิดีทัศน์ที่จัดทำ 3 ภาษา ความยาวประมาณ 8 นาทีค่ะ และมีบริการให้เช่าชุดยูกาตะทั้งชายและหญิง เพื่อใส่ถ่ายรูปในหมู่บ้านญี่ปุ่นด้วยนะคะ ค่าเช่าคนละ 100 บาทค่ะ อาคารที่ 2 อาคารนี้จะอยู่ติดริมน้ำ อาคารนี้จะจัดแสดงบุคคลสำคัญ 2 ท่าน ก็คือ ยามาดะ นางามาซะ เป็นขุนนางญี่ปุ่นในราชสำนักของอยุธยา ตำแหน่งเดิม คือ หัวหน้าญี่ปุ่นและเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ออกญาเสนาภิมุก" ซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นค่ะ นี่คือ ชุดเกราะนักรบญี่ปุ่นของออกญาเสนาภิมุกค่ะ ท้าวทองกีบม้า นี่คือหุ่นขี้ผึ้งของท้าวทองกีบม้าค่ะ ท้าวทองกีบม้าหรือ มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา (หลาย ๆ คนที่เป็นคอละครคงรู้จักกันดีในละครบุพเพสันนิวาส) ท้าวทองกีบม้าเป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส - ญี่ปุ่น ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส ท้าวทองกีบม้าได้รับราชการเป็นหัวหน้าห้องครัว ดูแลของหวานแบบเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นตำรับขนมตระกูลทองทั้งหลาย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เขียนรู้จัก "อะวาโมริ" ซึ่งเป็นเหล้าท้องถิ่นของชาวโอกินาวาด้วยค่ะ มีดดาบซามูไรค่ะ จำลองบ้านชาวญี่ปุ่น บรรยากาศรอบ ๆ ภายในหมู่บ้านญี่ปุ่นจะเป็นสวนและศาลาญี่ปุ่น บรรยากาศคล้ายกับประเทศญี่ปุ่นมากค่ะเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า หมู่บ้านญี่ปุ่นมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น สวยงาม อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่บ้านญี่ปุ่นออกแบบโดยนายฮิโรฮิสะ นาคาจิมา นักออกแบบสวนชาวญี่ปุ่น ของบริษัทโซโก้เทเอ็น เคนคิวจิทสึ รูปแบบสวนจะเน้นความเป็นสวนญี่ปุ่นที่สง่างาม สงบ เยือกเย็น ภายนอกอาคารยังมีศาลาญี่ปุ่นให้นั่งพักผ่อน บรรยากาศร่มรื่น แต่แดดร้อนไปนิดค่ะ นั่งนาน ๆ คงไม่ไหว ป้ายนี้ คือ ป้ายชื่อหมู่บ้านของดั้งเดิม เขียนว่า "หมู่บ้านชาวญี่ปุ่นในอยุธยา" ค่ะ ศิลาจารึกประวัติของหมู่บ้านญี่ปุ่นค่ะ สำหรับการมาเที่ยวที่หมู่บ้านญี่ปุ่น นอกจากได้ชมความสวยงาม ร่มรื่นของสถานที่แล้ว ยังทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น ได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้น ส่วนค่าเข้าชมอยู่ที่ 20 - 50 บาท เปิดให้เข้าชมทุกวันค่ะ แม้ผู้เขียนจะใช้เวลาอยู่ที่หมู่บ้านญี่ปุ่นแค่ 1 ชั่วโมง แต่ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ ค่ะ ทั้งบรรยากาศสวยงามและความรู้ที่ได้รับเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาค่ะ หมู่บ้านญี่ปุ่น ตั้งอยู่ตำบลเกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่เลยวัดพนัญเชิงเล็กน้อย เปิดบริการวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.30 - 18.00 น. ส่วนวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เปิด 08.30 - 18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 50 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 20 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีเข้าฟรีค่ะ เครดิตภาพ : ภาพถ่ายโดยผู้เขียน