เพชรบุรี จังหวัดนี้ครบเครื่องเรื่องที่เที่ยวทั้งแนวธรรมชาติและวัฒนธรรม ยังได้รับการเปรียบเปรยเป็น "อยุธยาที่ยังมีชีวิต" เพราะหลงเหลือศิลปกรรมสมัยอยุธยาอยู่จำนวนมาก และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปกรรมเมืองเพชรในรุ่นต่อ ๆ มาแง้มประตู ดูจิตรกรรม ขอพานักท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ศิลปะและผู้อ่านทุกท่าน ไปเที่ยวเพชรบุรีในโอกาสที่งานพระนครคีรี ครั้งที่ 37 กำลังจะจัดขึ้น กับแนะนำแหล่งจิตรกรรมหลายฝีมือ หลากสมัยให้เลือกชมกันตามความสนใจ มีที่ไหนบ้าง ตามอ่านต่อไปได้เลยครับ ... งานพระนครคีรี - เมืองเพชรงานใหญ่ประจำจังหวัด ไฮไลท์คือการเดินขึ้นไปเที่ยวชม พระนครคีรี พระราชวังในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสงไฟส่องสว่างยามค่ำคืน สร้างบรรยากาศสวยงามกับหมู่พระที่นั่ง อาคารต่าง ๆ ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกระยะแรกในสยาม พระธาตุจอมเพชร และวัดพระแก้วน้อย และที่ทุกคนรอคอยคือการแสดงดอกไม้ไฟ เวลา 21.00 น. ของทุกวัน เหล่าผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพต่างหามุมที่จะถ่ายภาพได้สวย น่าประทับใจที่สุดงานพระนครคีรี - เมืองเพชร ครั้งที่ 37 "พระนครคีรี สดุดีจอมราชัน มหัศจรรย์มรดกโลก" จัดระหว่างวันที่ 14 - 23 มีนาคม 2567 ก่อนจะเริ่มงานช่วงเย็นย่ำ มาถึงแหล่งศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทั้งทีก็ไม่ควรพลาดชมวัดวาอารามเก่ามากมาย มาเริ่มจากวัดใกล้ ๆ เขาวังกันครับ 1. วัดมหาสมณาราม(พิกัด: ทางขึ้นเขาวัง ฝั่งถนนคีรีรัฐยา 13.110321420085914, 99.93845965583695)วัดนี้มีชื่อลำลองว่า วัดเขาวัง เพราะที่ตั้งอยู่เชิงเขาวังนั่นเอง ใครเดินขึ้นเที่ยวงานต้องผ่านวัดนี้แน่นอน จุดสำคัญคือพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังที่กล่าวกันว่าเขียนโดย ขรัวอินโข่ง และบรรดาศิษย์ ใช้เทคนิคแสงแงาและทัศนมิติแสดงระยะใกล้-ไกลแบบจิตรกรรมตะวันตก ภาพบนผนังเหนือช่องประตูหน้าต่างเป็นภาพสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในสยาม ได้แก่ พระพุทธบาท-พระพุทธฉายสระบุรี พระปฐมเจดีย์ พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และพระนครคีรี ผนังด้านหลังเป็นภาพเกาะลังกา ผนังระหว่างช่องประตูหน้าต่างเป็นภาพประเพณี วิถีชีวิตของคนนับแต่เกิดจนตาย จิตรกรรมที่นี่เป็นตัวอย่างของจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4-5 เปลี่ยนจากเรื่องราวปรัมปรามาเป็นเรื่องราวที่ใกล้ชิดกับผู้คน แสดงสถานที่ที่มีอยู่จริง ๆ ให้เห็นได้ว่าบรรยากาศสมัยนั้นเป็นอย่างไร มองดูกิจกรรมของผู้คนในภาพก็สนุกแล้วครับปกติวัดนี้ไม่เปิดให้เข้าชม ต้องขออนุญาตกับทางวัด มาลุ้นกันว่าช่วงงานพระนครคีรีนี้จะเปิดหรือไม่ หากได้ข่าว แง้มฯ จะรีบอัปเดตทางเพจนะครับ 2. วัดสระบัว(พิกัด: ถนนคีรีรัฐยา 13.107519042352415, 99.94122791959087)"น้อยแต่มาก" แค่อุโบสถหลังเล็ก ๆ ก็มีอะไรให้ชมเยอะ ทั้งทรวดทรงอ่อนช้อยจากผนังเอนสอบเข้าหากันกับฐานแอ่นโค้งแบบอาคารสมัยอยุธยาตอนปลาย ลวดลายปูนปั้นประดับอาคารและฐานใบเสมา ส่วนภายในแม้เรียบ ๆ แต่เมื่อมองเพดานและหลังบานประตูหน้าต่าง จะพบงานจิตรกรรมยางรงบนพื้นรักแดง ที่ลวดลายพลิ้วไหวไม่ซ้ำแบบกันเลย ทั้งลายดาวเพดาน ลายช่อหางโต ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ภาพทวารบาลแบบไทยและเซี่ยวกางแบบจีน ยังสมบูรณ์มาก ตอนแง้มฯ ไปถึงกับขอนอนหงายถ่ายภาพเพดานเลยทีเดียวปกติอุโบสถเปิดให้เข้าชมตลอด เวลาเข้าชมระมัดระวังลิง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ วัดด้วยนะครับ วัดใกล้เขาวังยังมีอีกหลายวัด ที่สามารถเดินไหว้พระเที่ยวชมได้ก่อนเที่ยวงานวัดพระพุทธไสยาสน์ ถนนคีรีรัฐยา มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่ได้รับการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 4-5 ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ มีลวดลายมงคล 108 ประการที่ฝ่าพระบาท ใกล้กันยังมีวิหารพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลาย และมณฑปพระพุทธฉายวัดคงคาราม ถนนราชดำเนิน ในพระอุโบสถกำลังตกแต่งผนังด้วยงานศิลป์สี่แบบ คือ งานปูนปั้น งานแกะสลักไม้ งานลายรดน้ำ และงานจิตรกรรม ซึ่งเป็นงานช่างโดดเด่นของเมืองเพชรบุรีวัดยาง ถนนราชดำเนิน เข้าวัดมาก็เจอกับหอไตรกลางน้ำหลังเล็กหลังงาม ในอุโบสถมีหมู่พระพุทธรูปสมัยอยุธยา และในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์ไม้แกะสลัก 3. วัดใหญ่สุวรรณาราม(พิกัด: ถนนพงษ์สุริยา 13.109092351983687, 99.95335258106672)ความเป็น "อยุธยาที่ยังมีลมหายใจ" ของเพชรบุรี อย่างไรต้องกล่าวถึงที่นี่ วัดใหญ่สุวรรณาราม ได้รับการบูรณะโดยสมเด็จเจ้าแตงโมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ พระอุโบสถหลังใหญ่ไม่มีหน้าต่าง เขียนภาพเทพชุมนุมนั่งเรียงเป็นแถวตลอดแนว หน้าตากับลวดลายแต่ละองค์ไม่ซ้ำกัน เห็นชัด ๆ ไปเลยว่าครูช่างเขียนสมัยนั้นมีฝีมือและความสร้างสรรค์มากแค่ไหน ที่ต้องชมอีกจุดคือภาพทวารบาลบนบานประตูขนาดใหญ่ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นภาพเทวดายืนแท่น สวมมงกุฎทรงเทริดและเครื่องประดับ เป็นจิตรกรรมอยุธยาชิ้นเด่นที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบันหลังพระอุโบสถคือ ศาลาการเปรียญ อาคารเครื่องไม้สมัยอยุธยาที่ยังสมบูรณ์มาก อาจเคยเป็นพระตำหนักมาก่อน ฝาเรือนยังหลงเหลือภาพเทวดา นักสิทธิ์วิทยาธร สัตว์และพืชพรรณให้เห็นอยู่ราง ๆ วัดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัด เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตัวจิตรกรรมค่อนข้างบอบบางเพราะอายุเก่าแก่ เวลาเข้าชมงดสัมผัสและงดถ่ายภาพโดยใช้แฟลชนะครับ 4. วัดเกาะ(พิกัด: 13.097626421238362, 99.94898891151959)อีกหนึ่งวัดขวัญใจผู้สนใจประวัติศาสตร์ศิลปะไทย และแหล่งจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลายที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง คงไม่พ้น วัดเกาะ วัดเงียบ ๆ ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น จิตรกรรมในวัดนี้มีสองแห่ง แห่งแรกอยู่ในอุโบสถที่ไม่มีหน้าต่าง เขียนภาพสัตตมหาสถาน (สถานที่เสวยวิมุติสุข 7 สัปดาห์หลังตรัสรู้) และอัษฏมหาปาฏิหาริย์ (เหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ 8 เหตุการณ์) มีจารึกระบุว่าเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2277 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ภาพต่าง ๆ คั่นด้วยเจดีย์ทรงเครื่องที่ตกแต่งลวดลายจัดเต็ม และยังแทรกภาพวิถีชีวิตคนสมัยอยุธยาตอนปลาย ภาพชาวต่างชาติทั้งฝรั่ง จีน แขก ในรูปนักสิทธิ์วิทยาธร และตัวละครในพุทธประวัติ อาจสะท้อนว่าเมืองเพชรสมัยนั้นมีชาวต่างชาติเดินทางมาติดต่อค้าขายเพราะเป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญศาลาการเปรียญของวัดเกาะก็มีจิตรกรรม อยู่บนแผ่นไม้ที่คอสอง (ระดับหัวเสา) และเหนือช่องประตูหน้าต่าง เป็นภาพมหาเวสสันดรชาดกและพุทธประวัติ ภาพชุดนี้เป็นงานสมัยรัชกาลที่ 5-6 สังเกตความฝรั่งเล็ก ๆ น้อย ๆ จากเครื่องแต่งกายและอาคารที่เป็นฉากในภาพ ยังมีภาพบ้านเรือนและวิถีชีวิตของชาวลาวโซ่ง กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อพยพมาอยู่เมืองเพชรบุรีปรากฏอยู่ด้วยวัดเกาะเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ปกติอุโบสถจะเปิดตลอด หากปิดหรือต้องการเข้าศาลาการเปรียญด้วย ติดต่อเบอร์โทรศัพท์บนป้ายประชาสัมพันธ์ของทางวัด ที่นี่สุนัขเจ้าถิ่นฝูงใหญ่อาจเห่าต้อนรับผู้มาเยือน ระมัดระวังไว้ด้วยครับ 5. วัดมหาธาตุ(พิกัด: ถนนดำเนินเกษม 13.10544851161971, 99.94710381381218)พูดถึงสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นในเมืองเพชรบุรี หากไม่นับเขาวังแล้ว ก็ต้องเป็นพระปรางค์ของวัดมหาธาตุที่สูงตระหง่าน อยู่มุมไหนในเมืองก็มองเห็นได้ไม่ยาก ที่นี่โดดเด่นเรื่องงานปูนปั้นสมัยเก่าและใหม่ประดับตามอาคารต่าง ๆ ภายในพระวิหารหลวงตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังเต็มพื้นที่สี่ด้าน ด้านหลังเป็นภาพพุทธประวัติตอนโปรดพญาชมพูบดีซึ่งพบเรื่องนี้ไม่กี่แห่งในไทย ผนังด้านหน้าเขียนภาพมารผจญ ผนังด้านข้างเขียนภาพเทพชุมนุม และทศชาติชาดก ภาพได้รับการเขียนซ่อมครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยครูช่างเมืองเพชรหลายท่าน ได้แก่ ครูพิน อินฟ้าแสง ครูหวน ตาลวันนา พระอาจารย์เป้า และครูเลิศ พ่วงพระเดช ได้ศึกษาเทคนิคของครูช่างเขียนคนสำคัญได้ครบในที่เดียววัดมหาธาตุเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงเย็น จะมาถ่ายภาพวัดตอนท้องฟ้ากำลังเปลี่ยนสี มีแสงไฟส่องสว่างพระปรางค์และพระวิหารก็น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ 6. วัดธ่อเจริญธรรม(พิกัด: ถนนมาตยาวงษ์ 13.103826157630744, 99.94986781461564)ใครที่เคยค้นหาร้านอาหารในเมืองเพชรคงรู้จัก ก๋วยเตี๋ยววัดธ่อ หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวคืออุโบสถของวัดธ่อเจริญธรรม ตัวอาคารและพระพุทธรูปประธาน หลวงพ่อดำ อาจสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจิตรกรรมฝาผนังเขียนราวสมัยรัชกาลที่ 3-4 ตัวภาพเหลือเพียงน้อยนิดเพราะเสียหายจากความชื้น แต่ยังเห็นเทวดาสององค์นั่งพนมมืออยู่บนผนังหลังพระพุทธรูปประธาน ผนังระหว่างช่องประตูหน้าต่างเป็นภาพอสุภกรรมฐาน หรือการพิจารณาธรรมจากซากศพ 10 ประเภท ยังเห็นครึ่งบนของพระสงฆ์รูปหนึ่ง และฉากธรรมชาติ โขดเขา ต้นไม้ สิงสาราสัตว์ ลายเส้นเฉียบจนอดนึกไม่ได้ว่าหากยังสมบูรณ์จะสวยงามขนาดไหนทานก๋วยเตี๋ยวเสร็จ หากอยากเข้าชม ให้ติดต่อกับพระสงฆ์ที่กุฏิครับ (ระยะหลังมีข่าวว่าทางวัดเปิดให้เข้าสักการะหลวงพ่อดำ หากมีข้อมูลอะไรจะอัปเดตทางเพจเช่นกันครับ) 7. วัดจันทราวาส(พิกัด: ถนนบริพัตร 13.095837272554363, 99.94948618576959)อยู่ใกล้กับวัดเกาะแค่คลองคั่น ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีไม่ไกลจากพระรามราชนิเวศน์ หรือพระราชวังบ้านปืน วัดจันทราวาสเป็นวัดเก่าสมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะเรื่อยมา ในศาลาการเปรียญมีงานจิตรกรรมบนแผ่นไม้ ที่คอสองเป็นภาพมหาเวสสันดรชาดก ฝีมือใกล้เคียงกับจิตรกรรมในศาลาการเปรียญวัดเกาะ แผ่นไม้ข้างใต้เขียนภาพนักสิทธิ์วิทยาธร บางตนทำท่าทางตลก ๆ และเหนือช่องประตูหน้าต่างเป็นภาพพุทธประวัติ วาดราว พ.ศ. 2463 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ผลงานครูหวน ตาลวันนา ใช้เทคนิคแบบตะวันตกให้ภาพสมจริง พร้อมกับรักษาลักษณะอุดมคติแบบจิตรกรรมไทยปกติศาลาการเปรียญจะปิดไว้ ติดต่อขอเข้าชมกับเจ้าอาวาส ท่านใจดีมากครับ (ในภาพของจะรกหน่อย เพราะไปตอนช่วงน้ำท่วมเมืองเพชร ทางวัดเลยนำของขึ้นมาเก็บบนศาลา) 8. วัดชีว์ประเสริฐ(พิกัด: ถนนมาตยาวงษ์ 13.100205552377316, 99.9510181292365)วัดเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างถิ่น แต่สิ่งที่น่าสนใจของวัดอยู่ด้านหน้าติดถนนใหญ่ นั่นคือ ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2472 (สมัยรัชกาลที่ 7) ภายในมีธรรมาสน์ไม้แกะสลักประดับภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ เหนือช่องประตูหน้าต่างติดตั้งแผ่นไม้เขียนภาพพุทธประวัติ การลำดับภาพและการจัดองค์ประกอบภาพเหมือนจิตรกรรมในศาลาการเปรียญวัดเกาะและวัดจันทราวาส แต่รายละเอียดค่อนข้างสมัยใหม่กว่า อย่าลืมมองหาภาพบ่าวสาวฟ้อนแคนสมโภชพระบรมสารีริกธาตุกันนะครับศาลาการเปรียญอยู่ติดกับหมู่กุฏิสงฆ์ ขึ้นไปขอเข้าชมกับพระที่วัดได้ครับ 9. วัดดอนไก่เตี้ย (ร้าง)(พิกัด: ถนนดำเนินเกษม ด้านหลังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี 13.102259654863458, 99.9466557102925)ปิดท้ายด้วย วัดร้าง วัดลับ ในเมืองเพชรบุรี วัดนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่แล้ว เหลือเพียงศาลาหลังเดียวตั้งอยู่ในตรอกแคบ ๆ ซุกซ่อนงานจิตรกรรมฝีมือดีของครูช่างเมืองเพชรไว้ บนแผ่นไม้คอสองในศาลาที่เคยใช้เป็นศาลาเรียนและศาลาฟังธรรม ตกแต่งจิตรกรรมเรื่องทศชาติชาดก หลายแผ่นเป็นผลงานของครูเลิศ พ่วงพระเดช และแผ่นภาพพรหมนารทชาดกเป็นผลงานของนายบุญ เทคนิคภาพผสมผสานระหว่างจิตรกรรมไทยประเพณีและตะวันตกจากการพูดคุยกับผู้ถือกุญแจ ทราบมาว่าระยะหลังมานี้ไม่ได้ใช้จัดงานของชุมชนแล้ว น่าเสียดาย แต่ยังมีคนมาดูแลทำความสะอาดเป็นระยะ หากจะเข้าชมก็สอบถามจากคนในบริเวณรอบ ๆ ได้เลยครับ เรียบร้อยสำหรับแหล่งจิตรกรรม 9 วัดในเมืองเพชร ยังมีอีกหลายวัดที่น่าสนใจ เช่น วัดกำแพงแลง วัดไผ่ล้อม วัดพลับพลาชัย ฯลฯ สามารถจัดโปรแกรมไหว้พระ ชมศิลปกรรมระหว่างวัน ก่อนจะไปเที่ยวชมงานพระนครคีรีช่วงเย็นถึงกลางคืนกันต่อครับ เรื่องและภาพ โดย แง้มประตู ดูจิตรกรรม อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !