รีเซต

10 สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อไปเที่ยวทะเล

10 สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อไปเที่ยวทะเล
aichan
5 พฤษภาคม 2559 ( 12:45 )
39.8K

10 สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อไปเที่ยวทะเล : ทะเลสวยน้ำใส แนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสรรสร้างออกมาได้อย่างงดงาม จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครๆ ก็ต่างอยากที่จะไปชื่นชมและสัมผัสกับความงดงามนั้น แต่ธรรมชาติเหล่านี้ หากเราไม่ดูแลหรือรักษาไว้ให้ดี ก็มีวันสูญสลายไปเช่นกัน นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะรักษาทะเลสวยๆ นี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป

1.ไม่เหยียบหรือยืนบนปะการัง : ปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ระยะเวลายาวนานในการเติบโต อีกทั้งเป็นสัตว์ที่เปราะบาง การสัมผัสเพียงเล็กน้อยอาจทำให้ปะการังตายได้ การเหยียบหรือยืนบนปะการังนอกจากจะทำให้ปะการังแตกหักแล้วยังอาจทำให้นักดำน้ำบาดเจ็บ

 

2.ไม่เตะกวนตะกอนให้ฟุ้งกระจาย : ขณะที่ดำน้ำ การตีฟินส์ใกล้พื้นทรายจะกวนตะกอนเล็กๆ ให้ฟุ้งกระจายไปทับถมปะการัง ทำให้สาหร่ายที่อาศัยอยู่ในปะการังซึ่งทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารและออกซิเจนให้กับปะการัง ทำงานได้ไม่สมบูรณ์ นอกจากนั้นแรงน้ำหรือตะกอนที่ถูกกวนยังทำให้สัตว์เล็กๆ ที่อาศัยอยู่ตามพท้นทรายเพื่อหลบภัย ถูกพัดขึ้นมาและเสี่ยงกับการถูกล่าจากสัตว์อื่น

 

3.ไม่ไล่ต้อนหรือจับสิ่งมีชีวิตทางทะเล : การไล่ต้อนทำให้สัตว์เกิดความเครียดและหวาดกลัว นอกจากนั้นการสัมผัสสัตว์โดยตรงอาจส่งผ่านเชื้อโรคไปสู่สัตว์ หรือทำให้สารเคลือบป้องกันผิวหลุดได้ เช่น ปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ นักดำน้ำไม่ควรไล่จับและพยายามเข้าใกล้มากจนเกินไป

 

10 สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อไป เที่ยวทะเล 02

 

4.ไม่ให้อาหารปลา : เพราะจะทำให้สัตว์พึ่งพาแต่อาหารจากนักท่องเที่ยว และทำให้สัตว์เกิดปฎิสัมพันธ์กับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งอาจทำอันตรายให้กับทั้งสัตว์และมนุษย์เอง นอกจากนั้นเศษอาหารที่เหลือตกอยู่ในแนวปะการัง เป็นการเพิ่มธาตุอาหารในน้ำทะเล เร่งการเจริญเติบโตของสาหร่าย ซึ่งจะไปแย่งพื้นที่การลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง และหากปลาเปลี่ยนพฤติกรรมไปกินอาหารจากมนุษย์ ก็จะลดการกินสาหร่ายตามธรรมชาติ ทำให้สาหร่ายเพิ่มมากขึ้น (คลิกอ่าน-ทำไมจึงไม่ควรให้อาหารปลาในทะเล?)

 

5.ไม่ทิ้งขยะลงในทะเล : ขยะในทะเลทำให้เกิดปัญหามากมาย เช่น สัตว์หลายชนิดอย่างเต่า วาฬ หรือแม้กระทั่งนกกินปลาเข้าใจผิดคิดว่าพลาสติกเป็นอาหารและกินมันเข้าไป อีกทั้งสารพิษที่อยู่ในขยะปนเปื้อน หากลงสู่น้ำทะเลและเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหาร ก็จะส่งผลร้ายกับมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย นอกจากนี้ขยะที่ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งก็ยังส่งผลกระทบต่อเราและต่อสภาพชายหาดและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนชายหาดอีกด้วย

6.ไม่เก็บสะสมสิ่งใดๆ จากทะเล : การนำสิ่งมีชีวิตบางชนิดออกจากระบบนิเวศ ทำให้ความสมดุลทางธรรมชาติถูกรบกวน สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจขาดธาตุอาหารและส่วนประกอบบางอย่างที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต แม้กระทั่งเปลือกหอยและซากปะการังบนชายหาด ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างหาดทราย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด

 

7.ไม่ใส่ถุงมือขณะท่องเที่ยวดำน้ำ : การที่นักดำน้ำใส่ถุงมือเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากการจับต้องสิ่งมีชีวิตในทะเล อาจเป็นการป้งกันที่ผิด เพราะนอกจากจะทำให้ปะการังมีโอกาสแตกหักง่ายขึ้น ยังทำให้นักดำน้ำอยู่ใกล้กับสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังมากเกินควร ซึ่งสัตว์บางชนิดอาจเป็นอันตรายกับมนุษย์

 

8.ไม่ยิงปลาขณะท่องเที่ยวดำน้ำ : การยิงปลาเป็นการล่าสัตว์ใหญ่และสัตว์ที่เชื่องช้าในแนวปะการัง ซึ่งทำให้ความสมดุลในระบบนิเวศเปลี่ยนไป การยิงปลาอาจทำให้ปลาที่หนีรอดได้รับบาดเจ็บ ทรมาน และตายอย่างช้าๆ นอกจากนั้นนักดำน้ำและผู้ที่อยู่ใกล้เคียงอาจได้รับอันตรายจากอุปกรณ์ยิงปลาด้วย

 

 

9.ไม่ทิ้งสมอลงในแนวปะการัง : เพราะจะทำให้แนวปะการังเสียหาย เมื่อคลื่นลมเปลี่ยนทิศทางยิ่งทำความเสียหายมากขึ้น เพราะสมอปละโซ่ หรือเชื่อกที่ผูกกับสมอครูดไถไปบนแนวปะการัง จึงควรสำรวจใต้ท้องเรือก่อนทิ้งสมอ

 

10.ไม่สะสมปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเลเป็นของที่ระลึก : การสะสมของที่ระลึกจากทะเล จะทำให้จำนวนสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตในทะเลสูญเสียไปจากระบบนิเวศ หากไม่มีผู้ซื้อก็จะไม่มีผู้ขาย จึงควรช่วยกันรักษาและเก็บสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไว้ตามธรรมชาติ

ข้อมูล : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ: ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock

ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับงานบทความใน “ทรูไลฟ์” และ “H Travel” เท่านั้น ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด

 

ติดตาม travel.truelife.com ได้อีกช่องทางที่

ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และที่พัก คลิกที่ http://travel.truelife.com