ปกติจะชอบเที่ยวธรรมชาติ ทะเล ภูเขา ชมวิวสวยๆ แต่ที่นี่วัดถ้ำไตรรัตน์ที่มีถ้ำแก้วสารพัดนึกเป็นไฮไลต์ ทำให้เปลี่ยนความคิด เพราะมีธรรมชาติที่สวยเกินกว่าจะจินตนาการได้ว่า วันก่อนเป็นแบบไหน และที่เห็นวันนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอีกแค่ไหนในวันต่อไป การเข้าถ้ำของที่นี่ เพื่อความปลอดภัยจะต้องไปกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นอาสาสมัคร น้องนักศึกษาที่มาทำหน้าที่มัคคุเทศก์นำชม ที่นี่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นชุดๆ ไม่ให้แออัดมากเกินไป เพราะมีบางช่วงต้องเดินอย่างระมัดระวัง มีบันได ผนวกกับภายในถ้ำที่ค่อนข้างมืด วันที่ไปไม่ได้เตรียมความพร้อม จึงไม่มีไฟฉายไปด้วย เคยคุ้นกับสำนวน "หินงอก หินย้อย" ก็คิดว่าเป็นเพียงสำนวนคำคล้องจอง มาที่นี่ทำให้แยกออกได้ว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หินย้อย เป็นหินที่ย้อยลงมาจากข้างบน จะมีรูปร่างแตกต่างกันไป รวมถึงสีสัน ส่วนหินงอก เป็นหินที่งอกขึ้นมาจากพื้น มัคคุเทศก์ชี้ให้ดูจุดที่หินกำลังงอก เห็นเป็นปุ่มๆ ฉ่ำน้ำรอบๆ ปุ่ม ในอนาคตจากนี้คงจะขยายใหญ่ขึ้น ธรรมชาติสร้างความแตกต่าง ทำให้ระหว่างทางที่เดินเข้าไปชมรู้สึกตื่นตาตื่นใจเป็นระยะๆ รูปของหินสามารถจินตนาการเป็นสิ่งที่คุ้นเคย ส่วนที่เป็นหินย้อยในถ้ำแห่งนี้ ย้อยจริงจังจากเพดานถ้ำลงมา มีความยาว ในส่วนที่อาจเป็นอันตราย จะถูกห้ามไปใกล้ๆ มีการติดไฟระหว่างทางให้มองเห็น พร้อมส่องหินให้เห็นไปในตัว มีจุดหยุดพักชมเป็นระยะ พระพุทธรูป เกจิอาจารย์ศักดิ์สิทธิ์ที่มัคคุเทศก์เล่าความเป็นมาให้ฟัง ความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมาจากคนโบราณ การเอาหัวมุดเข้าไปในปากของหินที่เหมือนปากจระเข้แล้วอธิษฐานจิต การวางเงินบูชาตามจุด และอีกจุดที่สำคัญคือ กระดูกฤาษี เป็นฤาษีที่เคยบำเพ็ญเพียรในถ้ำจนเสียชีวิตที่นี่ มีการนำกระดูกมาเรียงต่อๆ กันเป็นรูปโครงร่างของมนุษย์ และกระดูกเป็นท่อนๆ ที่กระจัดกระจายไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็มีธรรมะแฝงให้คิด มีหลากหลายความเชื่อจึงเห็นเงินเหรียญ แบงค์ วางอยู่บนโครงร่างนี้ ภายนอกถ้ำ มีความร่มรื่นด้วยสวนธรรมชาติ ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา และมีศาลาประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้จุดธูปบูชาอธิษฐานกัน มีเวลาด้านนอกถ้ำไม่มากนัก เพราะไปกับทริปท่องเที่ยวที่จำกัดด้านเวลา แต่เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับตัวเอง ถ้ำนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจอยากไปชมถ้ำอื่นที่เพื่อนร่วมทริปยืนยันว่า สวยกว่านี้ก็มี