หลงป่าต้องทำไง? รวมทักษะการเอาตัวรอดในป่า ที่นักเดินทางควรรู้

การเดินป่า หรือ Trekking / Hiking ไม่ใช่แค่การผจญภัยเท่านั้น แต่ยังต้องการความรู้ และทักษะในการเอาตัวรอด หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดด้วย ดังนั้นนักเดินทางทุกคนควรมีความรู้พื้นฐานด้านทักษะในการเอาตัวรอดในป่าติดตัวไว้บ้าง เพื่อการเดินทางอย่างอย่างปลอดภัย จะมีทักษะจำเป็นอะไรบ้างที่เราควรรู้ มาดูกัน
รวมทักษะการเอาตัวรอดในป่า ที่นักเดินทางควรรู้
1. การหาและจัดการแหล่งน้ำ
การหาน้ำในป่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเอาตัวรอด เพราะมนุษย์สามารถอยู่ได้โดยไม่มีอาหารหลายวัน แต่ขาดน้ำเพียงไม่กี่วันก็อาจตุยได้เลย
- หาแหล่งน้ำธรรมชาติ : น้ำจากลำธารหรือแหล่งน้ำใต้ดินเป็นแหล่งน้ำที่ปลอดภัยที่สุด
- กรองและต้ม : น้ำจากธรรมชาติอาจมีเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อน ควรกรองด้วยผ้าหรือทราย และต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อน
- การเก็บน้ำฝน : ใช้ใบไม้หรือวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เพื่อเก็บน้ำฝนลงในภาชนะ
2. การก่อไฟ
ไฟ เป็นสิ่งสำคัญลำดับต่อมารองจากน้ำ เพราะต้องใช้ในการทำอาหาร ป้องกันสัตว์ป่า ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น และช่วยเป็นแสงสว่างในเวลากลางคืนได้
- การก่อไฟ : เริ่มจากการหาเชื้อไฟเช่น ใบไม้แห้ง กิ่งไม้เล็ก และใช้วิธีการเช่น การเสียดสีของไม้ การใช้แว่นขยาย หรือการใช้ไฟแช็ก
- การรักษาไฟ : เมื่อก่อไฟได้แล้ว ควรเพิ่มไม้ที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ไฟอยู่ได้นาน
3. การหาอาหาร
กองทัพต้องเดินด้วยท้อง อาหารจะช่วยให้เรามีแรง มีพลังในการเดินทาง
- การหาผลไม้ และพืชป่า : หาข้อมูลเกี่ยวกับพืช และผลไม้ที่สามารถกินได้ ระวังพืชที่มีพิษ
- การล่าสัตว์ และตกปลา : ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในป่า เช่น ไม้หรือหิน เพื่อสร้างกับดักหรือตกปลา
- การเก็บรักษาอาหาร : ใช้การอบแห้งหรือการรมควัน เพื่อให้สามารถเก็บอาหารได้นานขึ้น
4. การสร้างที่พัก
ที่พักจะช่วยป้องกันจากสภาพอากาศ รวมถึงสัตว์ป่า
- การเลือกสถานที่ : หาที่ที่มีความปลอดภัยจากน้ำท่วม ลมแรง และสัตว์ป่า เลือกทำเลที่มีแนวต้นไม้ เถาวัลย์ หรือพุ่มไม้ เพื่อกันไม่ให้สัตว์เข้ามา เลี่ยงการนอนใต้ต้นไม้ที่ค่อนข้างรกทึบ
- การสร้างที่พักชั่วคราว : ใช้กิ่งไม้ และใบไม้สร้างที่พักแบบง่ายๆ เพื่อใช้ในคืนแรก
- การสร้างที่พักถาวร : หากต้องอยู่ในป่านาน ให้ใช้เวลาในการสร้างที่พักที่แข็งแรงขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น
5. การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
การรู้วิธีปฐมพยาบาลสามารถช่วยชีวิต และป้องกันอาการบาดเจ็บจากการลุกลามของเชื้อโรคได้
- การดูแลบาดแผล : ทำความสะอาด พันแผลให้ดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- การรักษาพิษจากสัตว์ : เรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากพิษงู และแมลง
- การจัดการกับภาวะร่างกาย : รู้วิธีดูแลตัวเองจากภาวะร่างกายขาดน้ำ ความร้อนเกิน หรือความเย็นเกิน
6. การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์
การมีอุปกรณ์ที่ถูกต้องและรู้วิธีใช้งานจะทำให้การเอาตัวรอดง่ายขึ้น
- มีดพก : ใช้สำหรับตัด เชือก หรือตัดไม้
- เชือก : มีประโยชน์หลายอย่างในการสร้างที่พัก การล่าสัตว์ และการทำเครื่องมือ
- แผนที่ และเข็มทิศ : เพื่อการนำทางและการหาทิศทาง
การเอาตัวรอดในป่าไม่ใช่เรื่องยากหากเรามีการเตรียมตัวที่ดี มีความรู้ที่ถูกต้อง นักเดินทางควรฝึกฝนทักษะเหล่านี้และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการเดินทาง เพื่อให้การผจญภัยในป่าเป็นประสบการณ์ที่ปลอดภัย
====================