สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกคน วันนี้เราจะพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งใน จ.สตูล เป็นเกาะที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่เพียง 80 หลังคาเรือน มีโรงเรียนเล็ก ๆ หนึ่งโรง ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีรีสอร์ท ไม่มีโรงแรม ไม่มีโฮมสเตย์ มีเพียงความสวยงามของท้องทะเล ท้องฟ้า และวิถีชีวิตที่พอเพียงของคนบนเกาะเท่านั้น และบทความในอีพีนี้เราจะเล่าถึงความเป็นอยู่ของครูบนเกาะให้ทุกคนได้อ่านนะคะ ในช่วงปิดภาคเรียน ครูทุกคนของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน จะถูกจัดให้มีเวรรักษาการณ์ในโรงเรียนคนละ 5 วัน ซึ่งในช่วงที่มาอยู่เวรรักษาการณ์นี้ ครูสามารถพาใครมาอยู่ ( เป็นเพื่อน ) ด้วยก็ได้ ซึ่ง ครูนวล ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ก็ได้พาเพื่อน คือ ตัวผู้เขียนมาอยู่ด้วย จึงทำให้มีเรื่องมาเขียนเล่าผู้อ่านทุกคนนี่แหละค่ะ การเดินทางเราเดินทางจากตัวเมืองสตูลมายังท่าเรือแหลมเต๊ะปัน ในอำเภอละงู ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร เมื่อมาถึงท่าเรือเราก็ขนสัมภาระลงเรือโดยสารของโรงเรียน และออกเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน ซึ่งห่างจากท่าเรือประมาณ 17 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลประมาณ 50 นาที ก็ถึงโรงเรียน โรงเรียนบ้านเกาะบูโหลนมีนักเรียนประมาณ 80 กว่าคน มีครู 7 คน สำหรับอาหารครูจะต้องซื้อมาจากบนฝั่งมาตุนไว้ที่บ้านพัก เพราะบนเกาะไม่มีอาหารสดขาย ในด้านการสอนครูหนึ่งคนต้องสอนนักเรียนหลายวิชา เนื่องจากอัตราครูไม่เพียงพอ และในบางวันที่ไม่มีแม่ครัวมาทำอาหารกลางวันให้นักเรียน ครูก็จะต้องช่วยทำกันเองเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้กินข้าวเที่ยง ในช่วงเปิดภาคเรียนปกติ ครูจะลงมาสอนนักเรียนบนเกาะวันจันทร์และกลับขึ้นฝั่งในวันศุกร์ แต่ถ้าหากว่าลมฟ้าอากาศไม่เป็นใจให้เรือแล่นผ่านได้ ครูก็จะต้องนอนที่บ้านพักโรงเรียนต่อไป รั้วโรงเรียนกั้นระหว่างหอพักครูกับบ้านนักเรียน ครูหลายคนที่มาสอนบนเกาะมีครอบครัวแล้ว ก็ต้องเสียสละเวลาจากครอบครัว เพื่อมาทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้นักเรียนบนเกาะได้รับโอกาสทางด้านศึกษา เท่าเทียมกับนักเรียนในเมือง บทความและภาพถ่าย : แว่นสุนทรีย์