เมื่อพูดถึงความฝันในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแล้วละก็ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงวาดฝันถึงประเทศในแถบยุโรปหรือญี่ปุ่นเสียมากกว่า ดินแดนที่สวยงามราวเทพนิยาย อากาศเย็นสบาย แถมผู้คนก็ดูดีมีสไตล์ หากใครเลยจะคาดคิดว่าผู้หญิงตัวเล็กๆอย่างฉัน จะมีความฝันที่อยากไปเยือนดินแดนภารตะเสียสักครั้งหนึ่งในชีวิต ฉันไม่แค่คิดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากลงยังมือชักชวนเพื่อนรุ่นน้องที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคนหนึ่ง คำตอบรับอย่างง่ายดายทำให้หัวใจของฉันพองโตอย่างประหลาด แผนการเดินทางไปต่างประเทศที่ไกลที่สุดในชีวิตของฉันก็เริ่มต้นขึ้นในทันที ทุกอย่างดูรวดเร็วราวกามนิตหนุ่ม แต่ด้วยความกว้างใหญ่ของประเทศอินเดีย เราจึงเลือกเมือง Jaipur รัฐราชสถาน หรือคนไทยเรียกกันติดปากว่า “ ชัยปุระหรือจัยปูร์” ตามติดด้วยเมือง “ Agra หรือ อัครา” เมืองอันเป็นที่ตั้งของ ทัชมาฮาลอนุสรณ์แห่งรักอันเลี่ยงชื่อ เราสองคนวางแผนด้วยการจองตั๋วเครื่องบินเป็นอันดับแรก ต่อด้วยที่พักและสุดท้ายคือรถเช่าพร้อมคนขับ อินเดียนั้นมีประชากรระดับพันล้าน การใช้ระบบขนส่งมวลชนอาจไม่สะดวกนักสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาจำกัด วันเดินทางของเราสองคนเริ่มขึ้นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ และเป็นฤดูหนาวของอินเดีย เครื่องของสายการบินไทยสมายล์พาเราเหินฟ้ามุ่งหน้าสู่ประเทศอินเดีย ดินแดนภารตะที่เราใฝ่ฝัน เรามาถึงสนาม Jaipur International ในเวลาตีหนึ่งกว่า ความง่วงนั้นไม่มีสักนิด มีแต่ความตื่นเต้นที่จะได้เห็นประเทศอันกว้างใหญ่นี้ เราต่อแถวยาวเหยียดตามขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองของอินเดียและดูเหมือนฉันจะเป็นนักท่องเที่ยวคนสุดท้ายของคืนนั้น เราเดินลงบันไดเลื่อนมารับกระเป๋าที่นอนเดียวดายเพียงลำพังที่สายพาน หากความยุ่งยากก็เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่สงสัยว่าภายในกระเป๋าของเพื่อนฉันมีเมล็ดพันธุ์ต้องห้ามอยู่ในนั้นหรือเปล่า ความวุ่นวายเมื่อแขกมุงจึงเกิดขึ้นเล็กน้อย ก่อนจะจบลงเมื่อค้นพบว่า ภายในกระเป๋าที่ต้องสงสัยนั้น มีชุดสาหรีพร้อมเครื่องประดับเทียมที่จัดเต็มมาสำหรับถ่ายรูปโดยเฉพาะ เราสองคนเดินออกจากสนามบินด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวังว่า ทางโรงแรมคงมารอรับพวกเรานานมากแล้ว ฉันมองหาป้ายชื่อตัวเอง หากก็ไร้วี่แววตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ออกเสียงเป็นสำเนียงไทย ฉันตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่โรงแรม คำตอบที่ได้รับ ช่างดูสั้นกระชับเสียกระไรว่า “ไม่!” ท่ามกลางประเทศที่แปลกต่าง ภาษาที่ไม่คุ้นเคย ผู้คนที่คราคร่ำอยู่หน้าสนามบินขณะนี้ก็ล้วนเป็นบุรุษเพศทั้งสิ้น ฉันมองไม่เห็นผู้หญิงในประเทศนี้สักคน ความกลัวเริ่มจับหัวใจ เพื่อนร่วมทางของฉันเข้าไปติดต่อรถแท็กซี่ของสนามบิน เพื่อพาเราไปยังโรงแรมที่พักในคืนนี้ สารถีของเราเป็นชายสูงวัยในเครื่องแต่งกายประจำชาติของอินเดีย เนื้อผ้าสีขาวขุ่นกับผ้าคลุมสีมอๆดูรุ่มร่าม หากให้ความรู้สึกละม้ายกำลังด่ำดิ่งสู่ดินแดนอันไกลโพ้น แกพาพาหนะคู่ใจออกจากสนามบินนานาชาติ Jaipur ผ่านถนนหนทางที่เงียบสงัด ไร้สิ่งมีชีวิตอื่นใด ดวงไฟตลอดสองข้างทางเป็นสีเหลืองนวล บางช่วงบางตอนเป็นเพียงแค่แสงสลัว รถเคลื่อนเข้าสู่ย่านเมืองเก่าอันเป็นจุดหมายปลายทางของเราในราตรีนี้ คืนแรกบนดินแดนภารตะไม่เป็นอย่างที่เราวาดฝันเอาไว้ ฉันและเพื่อนไม่อาจข่มตาให้หลับลงได้ ด้วยความรู้สึกแปลกที่ และตื่นกลัวอย่างบอกไม่ถูก เราลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวเมื่อเวลาตีห้า น้ำเย็นจัดไม่ได้ช่วยให้ร่างกายที่สลึมสลือจากการอดนอน สดชื่นมากนัก เรานั่งกินขนมปังแห้งๆที่เตรียมใส่กระเป๋ามา พร้อมกับบทสนทนาที่รำพึงรำพันถึงบ้าน...อินเดียไม่ได้เป็นอย่างที่เราฝันถึง ฉันเดินไปที่หน้าต่างพลางคลี่ม่านหนาหนักนั้นให้กว้างขึ้น ภาพเมืองจัยปูร์เมื่อแสงอรุณเบิกฟ้าฉายชัดอยู่เบื้องหน้า ภูเขาสูงตะหง่านกับม่านหมอกสีขาวมัว บ้านเรือนกับผู้คนที่ดูแปลกตา ไม่อาจทำให้หัวใจของฉันสลัดความกังวลออกไปได้มากนัก เราสองคนเก็บกระเป๋าเดินทางลงมาชำระค่าห้อง ไม่มีใครคิดอยากไปใช้บริการอาหารเช้าของโรงแรมเลยสักนิด เรานั่งรอคนขับที่นัดหมายไว้ทางอีเมล์ไม่นานนัก เขาก็มาตามนัด หนุ่มอินเดียวัยสามสิบปลายๆ กับท่าที่ดูสุภาพ ทำให้เราสองคนก้าวขึ้นรถไปกับเขาอย่างง่ายดาย มาทราบชื่อของแกภายหลังว่า “สแลมหรือสลัม” นี่แหละ เราสองคนจึงลงมติว่า ควรเรียกว่า “คุณสแลม” อันหมายถึงผ้าคลุมบังแดดของบ้านเรา ด้วยเหตุผลเดียวคือจำง่ายดี คุณสแลมสารถีตลอดทริป นำเราเดินทางมุ่งหน้าไปเมืองอัครา อันเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการเข้าชม ทัสมาฮาล ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง หากระหว่างทางนั้นฉันก็นึกขึ้นได้ว่า เรายังไม่มีปลั๊กไฟสำหรับชาร์ตแบตโทรศัพท์มือถือเลย เนื่องจากระบบไฟฟ้าของไทยกับอินเดียนั้นต่างกัน จึงต้องมีตัวแปลงไฟก่อน สารถีผู้อารีย์ของเราจึงพาตระเวนหาซื้อแถวตลาดอันเป็นตึกแถวชั้นเดียวรูปทรงสมัยใหม่ และที่นี่ทำให้ฉันได้รู้จักกับกลิ่นแบบอินเดีย ความผสมผสานกันระหว่างกลิ่นที่ฉันเองก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่ากลิ่นอะไรเป็นกลิ่นอะไร มันทำให้ฉันต้องงัดยาหอมคุณยายที่นำติดตัวมาอมไว้ใต้ลิ้นทันทีเมื่อกลับมาขึ้นรถ พาหนะของเราเริ่มออกนอกเมืองมากขึ้น ทางหลวงที่เชื่อมระหว่างเมืองคนอินเดียเรียกว่า “ไฮเวย์” คล้ายกับมอเตอร์เวย์ที่บ้านเรา ดูสะดวกสบายไปอีก สำหรับการท่องเที่ยวแบบนี้ จุดหมายแรกที่เราแวะชมคือ แชนด์ เบารี ( Chand Baori) บ่อน้ำขั้นบันไดที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ด้วยภูมิประเทศของรัฐราชสถานมีลักษณะกึ่งทะเลทราย ในสมัยโบราณจึงต้องมีการขุดบ่อเพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูร้อน รูปแบบสถาปัตยกรรมอันล้ำลึก มีนัยหลายอย่างที่น่าค้นหา ทำให้เราใช้เวลากับที่นี่ไปร่วมชั่วโมง ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองอัคราตามแผนที่วางไว้ สายฝนเม็ดเล็กๆโปรยปรายต้อนรับพวกเราเมื่อรถเคลื่อนเข้าสู่ตัวเมืองอัครา สภาพบ้านเรือนที่ยังคงมีสถาปัตยกรรมแบบเก่า ผสมกับตึกแบบใหม่ดูช่างอยู่ร่วมกันได้แบบไม่เคอะเขิน ผู้คนที่สัญจรไปมา ตลอดจนคนขายของ คนขับรถรับจ้าง ล้วนเป็นบุรุษเพศเฉกเช่นเดียวกับที่เมืองจัยปูร์ ดูแล้วก็น่าแปลกใจว่า ในดินแดนภารตะแห่งนี้เขาได้ซุกซ่อนสตรีเพศไว้เพียงในบ้านเสียกระมั้ง ความหนาวบวกความเย็นชื้นจากละอองฝน ทำให้รู้สึกยะเยือกจับหัวใจเมื่อก้าวเท้าลงจากรถ คุณสแลมเปลี่ยนแผนให้พวกเรานิดหน่อย ด้วยยังมีเวลาเหลือจึงให้เราได้เข้าชม Agra Fort ( ป้อมอัครา ) ป้อมปราการที่สร้างด้วยอิฐสีน้ำตาลปนแดงอันสูงตะหง่าน ระหว่างลานจอดรถกับประตูทางเข้าอยู่ห่างกันไม่มากนัก หากสิ่งที่เรากังวลลึกๆกับการข้ามถนนในอินเดีย ก็เกิดขึ้นจริงในวินาทีนี้ เราสองคนจับมือกันเหนียวแน่น เดินแทบจะเป็นวิ่งไปรวมกลุ่มกับนักท่องเที่ยวฝรั่งที่เตรียมรอข้ามถนนอยู่แล้ว แม้จะข้ามกันเป็นกลุ่มใหญ่ แต่บรรดาโซเฟอร์ระดับมหากาฬก็ไม่คิดจะเบาฝีตีนแม้แต่น้อย ล้อรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งแตะเบรคในระยะเผาขน ห่างจากเรียวขางามของฉันแค่ไม่กี่นิ้วเท่านั้น คุณพระคุณเจ้า! หัวใจลูกหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่ม เวียดนามที่ขึ้นชื่อว่าข้ามถนนยากแล้ว มาเจอที่อินเดียก็กินกันไม่ลงนะจ๊ะนายจ๋า หลังข้ามถนนมาได้ เราสองคนก็ตรงเข้าไปซื้อบัตรเข้าชม Agra Fort คาดหวังว่าจะได้ส่วนลดบ้างแต่เปล่าเลย จ่ายเต็มตามปกติของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และที่นี่ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง ความใหญ่โตของป้อมอัคราที่มีพระราชวังกับสวนสวยอยู่ด้านใน สร้างความรู้สึกตื่นตาตื่นใจให้ฉันไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรายืนอยู่บนป้อมแล้วมองผ่านแม่น้ำยมนา จะเห็นทัชมาฮาลแทรกตัวอยู่ท่ามกลางไอหมอกสีขาวมัวของเมืองอัครา เราเดินทางต่อไปยังที่พักคืนแรกในเมืองอัครา พร้อมกับละอองฝนที่โปรยปรายลงมาอีกครั้ง โฮมสเตย์สไตล์อินเดียที่เราเลือกจาก Booking.com ต้อนรับเราสองคนด้วยความอบอุ่น เจ้าของเป็นหนุ่มใหญ่ผิวขาวสะอาดสะอ้าน แถมยังให้คำแนะนำเรื่องการเดินไปชมทัชมาฮาล ว่าไม่ต้องนั่งสามล้อนะ เพราะที่พักอยู่ใกล้ทัชมาฮาลมาก ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งใจคนอินเดียไม่น้อย เย็นนั้นจึงต้มมาม่าหมูสับที่หอบหิ้วจากแผ่นดินสยามออกมากินด้วยความรู้สึกอร่อยลิ้นนักหนา เราตื่นกันแต่เช้าเพื่อเตรียมตัวเข้าชมทัชมาฮาล เพื่อนร่วมทางของฉันแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นสาวอินเดีย ในชุดสาหรีสีแดงเข้ม เราเดินออกจากโฮมสเตย์ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง เดินไปตามทางที่เจ้าของโฮมสเตย์แนะนำแล้วเราก็เจอกับแก๊งสามล้อรับจ้างจริงๆ ชายกลุ่มนั้นเดินตรงรี่เข้ามาถามทันทีว่าต้องการรถรับจ้างไหม เราตอบปฏิเสธ แต่พวกเขาไม่หยุดหากเดินเข้ามาจนใกล้ พร้อมกับตีวงล้อมโอบเราสองคนเอาไว้ เพื่อนร่วมทริปของฉันกลัวจนมือเย็นเฉียบ “จะทำยังไงกันดี!”หากฉันยืนนิ่งจับมือเพื่อนไว้แน่น ภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียยังถามย้ำประโยคเดิม ฉันตวาดกลับไปด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงไทยแลนด์ดังลั่น พร้อมกับดึงมือเพื่อนเดินฝ่าวงล้อมนั้นออกมา ด้วยหัวใจที่เต้นระทึก เราเดินย้อนกลับไปทางเดิม เพื่อไปตั้งหลักที่หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง ชายกลุ่มนั้นไม่ได้เดินตามเรามา“แล้วเราจะเดินไปทัชมาฮาลกันยังไง” เพื่อนยังสงสัยในการตัดสินใจของฉัน“รอก่อน”ฉันตอบอย่างใจเย็น สายตาจับจ้องไปที่ถนน สักพักก็มีนักท่องเที่ยวฝรั่งสามคนเดินผ่านมา ฉันกระตุกมือเพื่อนให้เดินตามในทันที เราทำตัวกลมกลืนเสมือนเป็นกรุ๊ปเดียวกัน พร้อมกับเดินผ่านกลุ่มสามล้อรับจ้างไปอย่างสวยๆเนื่องจากทัชมาฮาลเป็นมรดกโลก และแน่นอนว่าในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนนับหมื่นนับแสนคน ประตูเข้าชมจึงต้องเปิดแต่เช้าตรู่ เราเดินรวมกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นเข้าไป ผ่านพื้นที่สวนขนาดใหญ่ที่เขียวขจี ผ่านซุ้มประตูสีน้ำตาลแดงขนาดมหึมา ที่เปรียบเสมือนป้อมปราการอันแข็งแกร่ง จากนั้นทัชมาฮาลสีขาว ที่แทรกตัวอยู่ท่ามไอหมอกหนา ก็ปรากฏแก่สายตาของเรา ฉันยืนนิ่งทอดสายตามองภาพเบื้องหน้า ด้วยความรู้สึกเต็มตื้นในหัวใจอย่างบอกไม่ถูก ...ครั้งหนึ่งในชีวิต ฉันได้ยืนมองทัชมาฮาลด้วยตาเปล่า เราสองคนใช้เวลาอยู่ในนั้นนานพอควร ทั้งถ่ายรูป เดินชมภายในและภายนอก อากาศหนาวจัดแม้จะเริ่มสายแล้วก็ตาม เราเดินกลับมากินอาหารเช้าที่โฮมสเตย์ แป้งทอดกลมๆคล้ายซาลาเปาทอดของบ้านเราแต่ใหญ่กว่า กินกับแกงน้ำสีแดงๆ เมนูนั้นทำให้ฉันรู้จักอาหารอินเดียเป็นครั้งแรก และอร่อยลิ้นจนกินไปหลายอันทีเดียว สอบถามชื่อเมนูกับคนทำ แกก็บอกเป็นอย่างดี แต่ฉันก็ลืมจนได้นั่นแหละเราออกจากเมืองอัคราในเวลาสาย เพื่อย้อนกลับไปที่เมืองจัยปูร์อีกครั้ง ขากลับความรู้สึกช่างต่างจากขามาเสียเหลือเกิน ตอนนั้นเราสองคนทั้งเหนื่อยทั้งง่วง ทั้งวิตกกังวลกับชะตาชีวิตในแดนภารตะ แต่ตอนนี้รู้สึกปรับตัวเข้ากับทริปนี้ได้แล้ว เมื่อเข้าเขตรัฐราชสถานฉันนึกอยากกินองุ่นขึ้นมา จึงบอกความต้องการกับคุณสแลม แกก็ไม่มีต่อรองขับรถพาเราเข้าไปในย่านตลาดของเมืองจัยปูร์ในทันที เราสองคนเลยปรึกษากันว่า ไหนๆก็เข้ามาในเมืองแล้ว ช้อปปิ้งของฝากไปเลยดีกว่า ด้วยภารกิจนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำเสียกระนั้น ร้านเครื่องสำอางยอดฮิตจากอินเดียที่คนไทยรู้จักกันดี “หิมาลายา” เราซื้อจนคนขายยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ฉันเองนอกจากเครื่องสำอางแล้ว ยังทุ่มเงินรูปีไปกับงานคราฟท์ของอินเดียอีกด้วย กลับถึงโรงแรมพร้อมข้าวของที่งอกออกมาจนต้องใส่ในกระเป๋าสำรอง เรานั่งคุยกันพร้อมกับชื่นชมงานตกแต่งห้องพักของโรงแรม ที่ทำออกมาคล้ายห้องนอนของท่านมหาอุปราช พื้นปูด้วยหินอ่อนงดงามและน่าจะเย็นสบายในหน้าร้อน แล้วคืนนั้นเราสองคนก็นอนหนาวในห้องของท่านมหาอุปราชคุณสแลมมารับเราที่โรงแรมตอนเก้าโมงเช้า เพื่อเดินทางไปชม Amber Fortและป้อมเสือ (Nahargarh Fort) ด้วยชัยภูมิของรัฐราชสถานมีภูเขาโอบล้อมจึงมีป้อมปราการหลายแหล่ง แต่ละแหล่งก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ Amber Fort นั้นใหญ่โตและสวยงามมาก ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ด้านในมีพระราชวังและสวนอันสวยงาม ฉันคิดว่าพระราชาของอินเดียชื่นคงชอบต้นไม้ใบหญ้าไม่น้อย พระราชวังแต่ละแห่งล้วนมีสวนอยู่ด้านในแทบทั้งสิ้น สำหรับ Amber Fort เราวางแผนกันไว้คร่าวๆว่า จะขี่ช้างหรือนั่งรถขึ้นไปดี เพราะข้อมูลที่อ่านมาบอกว่าสูงชันนัก หากพอมาถึงสถานที่จริง เราใช้ขาเดินขึ้นกันสบายเลย ข้างบนวิวสวย อากาศก็เย็นกำลังดี ฉันชอบพระราชวังบนเขาแห่งนี้มากกว่าที่อื่น ด้วยโทนสีที่ใช้เป็นครีมอ่อนทำให้เกิดความรู้สึกละมุนละไมอย่างบอกไม่ถูก เราลงจาก Amber Fort เมื่อใกล้เที่ยงคุณสแลมพาเราไปร้านอาหารที่มีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เห็นได้จากรถที่ขับพาเข้ามา ล้วนเป็นโลโก้เดียวกันหมด รสชาติอาหารไม่ถูกปากแถมจ่ายแพงกว่าที่คิด แต่ช่างเถอะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง สถานีต่อไปคือ Nahargarh Fort ป้อมสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาของเมืองจัยปูร์ ระหว่างทางขึ้นเราเห็นนกยูงหลายตัวมาก พวกมันใช้ชีวิตชิลๆ อยู่กับป่าริมทาง ยังคิดอยู่ว่าถ้าเป็นบ้านเรา นกยูงจะมาเดินฉุยฉายแบบนี้ได้หรือไม่ อาจจะตกเป็นอาหารของใครสักคนหนึ่ง เพราะคนไทยนั้นกินทุกอย่างด้านในของ Nahargarh Fort จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงเครื่องไม้เครื่องมือและข้าวของเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์อินเดียในยุคโบราณ ที่ชอบใจน่าจะเป็นรูปแบบของประตู ที่มีสีสันแตกต่างกันตามแต่การใช้งาน เราถ่ายภาพ เดินเล่น ชมนกชมไม้ อยู่ใน Nahargarh Fort นานหลายชั่วโมง เพราะรอบบริเวณนั้นกว้างขวาง ประกอบกับอากาศเย็นสบาย ทำให้เดินได้เรื่อยๆ เกือบห้าโมงเย็นจึงได้ฤกษ์กลับโรงแรมและแล้ววันสุดท้ายในแดนภารตะก็มาถึง เราตื่นเช้าเก็บของเช็คเอาท์ออกจากโรงแรม จุดหมายปลายทางคือ City Palace และ Jantar Mantar หรือหอดูดาว จันตาร์มันตาร์ เนื่องจากเงินรูปีของเราเริ่มร่อยหรอ จากการช้อปปิ้งเมื่อวาน ทำให้โปรแกรมเข้าดูพระราชวังของเราต้องลดจำนวนห้องลงตามกำลังทรัพย์ที่มีอยู่ แม้จะไม่ได้ดูแบบชุดใหญ่ไฟกระพริบ แต่ที่นี่ก็สวยและประทับใจมากทีเดียว ฉันชอบพิพิธภัณฑ์ผ้าของเมืองจัยปูร์อย่างมาก เริ่มตั้งแต่ประวัติของผ้าไปจนลวดลายและการตัดเย็บที่ใช้กับมหาราชา มหาราชินี จวบจนถึงชาวบ้าน เราเดินดูแบบไม่มีเบื่อ แม้จะไม่มีไกด์คอยบอกเล่าเรื่องราว อาศัยอ่านตามป้ายที่ติดไว้ น่าเสียดายที่ด้านในห้ามถ่ายรูป จบจาก City Palace เราก็เข้าชมพระราชวังสายลมและจันตาร์มันตาร์ ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน สำหรับหอดูดาวจันตาร์ มันตาร์ เหมาะสำหรับคนที่สนใจดาราศาสตร์ มีความทึ่งว่าคนโบราณคิดได้ล้ำลึกขนาดนี้เชียวหรือ เราสองคนเดินดูจนทั่ว บวกกับถ่ายรูปเสียจนอิ่ม จึงใช้เวลาอ้อยอิ่ง ด้วยการนั่งดูคนอินเดียที่มาเที่ยวที่นี่ ส่วนใหญ่จะมากันเป็นครอบครัว น้อยมากที่จะมาคนเดียว เกือบบ่ายสองโมง เราจึงเดินออกจากหอดูดาวไปพบคุณสแลมที่ลานจอดรถ พร้อมกับบอกว่าเราอยากไปคาเฟ่ที่อยู่ตรงข้ามพระราชวังสายลม แกให้เปิด Google map แล้วเดินไปจะดีกว่า เพราะแถวนั้นรถติด เราทำตามอย่างว่าง่าย เมื่อเดินมาถึงทางแยกเราเกิดไม่เชื่อมั่น Google ขึ้นมาเสียอย่างงั้น จึงถามคนที่เดินผ่านไปมา ท่ามกลางความลังเลสับสน คุณสแลมก็โผล่มาราวพระเอกในหนังอินเดีย พาเราสองคนนั่งสามล้อเครื่องแล่นฉิวไปถึงคาเฟ่ในเวลาแค่สิบนาที เราสั่งแซมวิชกับซุปมะเขือเทศเป็นอาหารเที่ยง ก่อนกลับเจอคนไทยที่มาเที่ยวแพคคู่คล้ายเราสองคน ทักทายพอหอมปากหอมคอ จากนั้นต่างแยกย้าย คุณสแลมมารับเราเดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ตฮอลล์ ( Albert Hall Museum) อันเป็นจุดหมายปลายสุดท้ายก่อนเราจะบินกลับไทยในคืนนี้ ค่าเข้าชมสนนราคา 200 รูปีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คนอินเดีย 20 รูปี ช่างต่างกันลิบลับ ควานดูเงินรูปีที่มีติดตัว มีกันแค่ 140 รูปีเท่านั้น จะเข้าไปได้ก็ต่อเมื่อแปลงร่างเป็นแมลงสาบ!“เดินถ่ายรูปเล่นข้างนอกกันดีกว่า”เป็นข้อสรุปที่เหมาะสมกับฐานะทางการเงินของเรา มุมด้านข้างของอัลเบิร์ตฮอลล์ มิได้เลวร้ายอะไรนัก สถาปัตยกรรมของอินเดียแทบทุกแห่ง น่าสนใจทั้งรูปแบบและสีที่ทาทับ ฉันชอบอินเดียอีกข้อหนึ่ง ที่นี่ต้นไม้เยอะมากล้วนแต่เป็นไม้ใหญ่แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตามถนน อาคารสถานที่ คงไม่แปลกอะไรนัก ถ้าด้านหน้าของอัลเบิร์ตฮอลล์จะเต็มไปด้วยฝูงนกพิราบ แม้แต่บริเวณที่พวกเรากำลังยืนถ่ายรูป คุยกัน ยังต้องคอยหลบกระสุนจากนก ใกล้หกโมงเย็นเราจึงเดินทางไปสนามบินจัยปูร์ ร่ำลาคุณสแลมพร้อมกับมอบทิปงามๆให้แกไปด้วยความรู้สึกที่แบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกคือดีใจที่จะได้กลับบ้าน หากภาคที่สองกลับคิดถึงและใจหายที่ต้องลาจากดินแดนภารตะเสียแล้ว ความตราตรึงที่มีทำให้เวลาต่อมา ฉันจึงเขียน e-book สำหรับเรื่องราวในดินแดนนี้ว่า อินเดียในสายลมหนาว...คงเหมาะสมแล้วที่ใครหลายคนให้นิยามไว้ว่า “อินเดียถ้าไม่รักก็เกลียดเลย” ภาพปก: ตกแต่งใน canva.comภาพประกอบโดย : เจ้าจันทร์ (ผู้เขียน)อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !