รีเซต

6 พีระมิดอาเซียน อารยธรรมโบราณใกล้ๆ ไม่ต้องไปถึงอียิปต์

6 พีระมิดอาเซียน อารยธรรมโบราณใกล้ๆ ไม่ต้องไปถึงอียิปต์
Muzika
15 กันยายน 2566 ( 14:20 )
6.5K

     โดยปกติถ้าเอ่ยถึง พีระมิด แล้ว หลายคนน่าจะนึกไปถึงอียิปต์ ไม่ก็ข้ามไปฝั่งทวีปอเมริกาใต้แถวๆ ชิลี เปรู นู่นเลย แต่ในแถบ อาเซียน บ้านเราเองก็มีอะไรทำนองนี้ให้เห็นอยู่เหมือนกันนะ หลายๆ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย อย่ารอช้า ไปดูกันดีกว่าว่ามีที่ไหนบ้าง

 

6 พีระมิดอาเซียน อารยธรรมโบราณ

 

 

1. กุหนุง ปาดัง (Gunung Panang) | อินโดนีเซีย


     กุหนุง ปาดัง เป็นชื่อของเนินเขาขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเมืองชวาตะวันตก ห่างจากเมืองหลวงจาการ์ตาไปทางใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นเนินเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 150,000 ตารางเมตร บริเวณเนินเขาถูกปกคลุมด้วยก้อนหินขนาดใหญ่รูปหกเหลี่ยมจำนวนมหาศาล คาดว่ามีมากกว่า 2 ล้านก้อน 

 

     การศึกษาทางโบราณคดีระบุว่า Gunung Padang สร้างขึ้นในช่วงระหว่าง 13,000 ถึง 23,000 ปีก่อนคริสตกาล ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าอารยธรรมมนุษย์มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์



2. เขาคลังนอก มหาสถูปเมืองศรีเทพ | ไทย


     อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นเมืองโบราณที่กำลังเตรียมขึ้นเป็นมรดกโลก UNESCO แห่งใหม่ของประเทศไทย โดยมี เขาคลังนอก ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยาน ลักษณะเป็นมหาสถูปมีโครงสร้างเหมือนกับพีระมิด ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1,200 ถึง 1,300 ปีมาแล้ว หรือในช่วงยุคสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ก่อด้วยศิลาแลง กว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดประมาณ 20 เมตร แต่ละทิศมีเจดีย์รายรอบเล็ก ๆ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับมณฑลจักรวาล และอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้และชวากลาง

 

3. บุโรพุทโธ โบโรบูดูร์ ​ (Borobudur Temple) | อินโดนีเซีย

 

 

     บุโรพุทโธ หรือ มหาสถูปโบโรบูดูร์ ​ มหาวิหารศาสนาฮินดูขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในจังหวัดชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย สร้างขึ้นเมื่อช่วง ​ ค.ศ.750-850 โดย กษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ ที่นับถือศาสนาพุทธ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2531  

 

     นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการตกแต่งด้วยภาพสลักถึง 2,672 ชิ้น ภายในฐานมีรูปสลักหินแกะสลักเรื่องราวจากมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะ รวมไปถึงรูปปั้นพระพุทธรูป 504 องค์ 

 

4. เกาะแกร์ ​ (Koh Ker) | กัมพูชา


     เกาะแกร์ เป็นชื่อสถานที่ตั้งของกลุ่มปราสาทโบราณ ที่อยู่ห่างจากเมืองเสียมราฐไปประมาณ 100 กิโลเมตร แถบนี้เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรเจนละ อาณาจักรโบราณของกัมพูชาที่รุ่งเรืองในช่วงศตวรรษที่ 9-10 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2532

 

5. วิหารธรรมยังยี (Dhammayangyi Tempel) | เมียนมาร์ 


     วิหารธรรมยังยี หรือธรรมเจดีย์ ตั้งอยู่ในเขตมัณฑะเลย์ เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองพุกาม ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้านะระตู ช่วง ค.ศ. 1,167-1,170 ประกอบด้วยฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละประมาณ 1,200 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดประมาณ 50 เมตร แบ่งเป็น 3 ชั้น แต่ละชั้นมีบันไดเวียนขึ้นไปจนถึงยอด ภายในมหาวิหารมีทางเดินแคบๆ เชื่อมถึงกัน ผนังแต่ละด้านถูกเจาะเป็นช่องเล็กๆ ละชั้นจะสว่างไสวด้วยแสงธรรมชาติที่ลอดผ่านช่องเหล่านี้ ทางเดินแคบๆ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการไม่ยึดติดกับสิ่งทางโลก



6. วัดซูกุฮ์ (Candi Sukuh) | อินโดนีเซีย


     วัดซูกุฮ์ สร้างขึ้นในช่วงช่วงปลายของอาณาจักรฮินดู-ชวา ประมาณค.ศ.750 สร้างขึ้นจากหินภูเขาไฟแอนดีไซติก ที่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 11,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยวิหารหลักเป็นรูปทรงพีระมิด ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าวิหารมีรูปแกะสลักหินจำนวนมาก รูปแกะสลักเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นภาพเทพเจ้า และนางอัปสรในศาสนาฮินดู

====================