อารามศิลปะพม่าเชิงดอยสุเทพ ที่มีประวัติความเป็นมาแรกสร้าง ยึดโยงสัมพันธ์กับองค์พระธาตุบนยอดดอยมานานกว่า 500 ปี เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวที่ไม่เคยว่างวายท่ามกลางหมายหมุดสุดคลาสสิคให้ต้องแวะชมชื่นรื่นรมย์หลายแห่ง ทั้งแหล่งธรรมชาติและนานาอารยสถานที่มนุษย์สร้างเชียงใหม่ได้ซ่อนวัดงามแห่งหนึ่ง ไว้ในโอบล้อมของป่าเขาเชิงดอยสุเทพ วัดเก่าสงบสงัด ที่มีประวัติยาวนานหลายศตวรรษ ค่อย ๆ พัฒนาโดยสงฆ์พุทธสาวกและอุบาสกอุบาสิกา มาเป็นวัดในสังกัดมหานิกาย และสถานปฏิบัติธรรมพักพิงใจศาสนิกทุกศาสนาให้มาเยือนได้ในปัจจุบันวัดผาลาด หรือวัดสกิทาคามี ฟังชื่อครั้งแรก เราเข้าใจว่าคำว่าผาหมายถึงที่ตั้งของวัด ความจริงก็ใช่ครึ่งหนึ่ง แต่ยังมีรากคำลึกซึ้งกว่านั้น เพราะคำว่าผาลาด แผลงมาจากคำว่า ผะเลิด ภาษาถิ่นล้านนาที่แปลว่าไถล พลาด ลื่น ที่มาของชื่อนี้ก็มาจากการที่ใครต่อใครพากันเดินลื่นพลาดหกล้มกันระนาวเมื่อมาที่นี่แต่แรก ว่ากันว่าแม้แต่ช้างก็ยังเดินพลาด ไถลกันไปจากผะเลิด ก็กร่อนแปลงคำเป็นผาลาดในเวลาต่อมาส่วนชื่อวัดสกิทาคามี นั้นเป็นนามที่เรียกขานกันภายหลังปัจจุบันวัดนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางขึ้นสู่ดอยสุเทพ ด้วยปูมประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกันราววัดพี่วัดน้องกับวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารที่อยู่ด้านบนสุด..แม้รูปลักษณ์จะต่างกันมากก็ตามเมื่อออกจากใจกลางเมืองตามถนนขึ้นดอย ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยมาราว 5 กิโลเมตร ก็จะเห็นทางเข้าวัดอยู่ทางขวา เราจอดรถใกล้ปากทางที่มีหมู่ร้านค้าพื้นเมืองเล็ก ๆ แล้วเดินทอดน่องช้า ๆ ตามเสียงนกเสียงแมลงเข้าวัด ด้านซ้ายคือประตูเขตสังฆาวาส กราบนมัสการเจ้าอาวาส ที่ยินดีเสมอเมื่อพบญาติธรรมเข้ามาใช้วัดเป็นมุมพักจิตสงบใจครั้นเดินเลี้ยวไปอีกทางอย่างสำรวมโดยแรงดึงดูดของสายลมใต้ร่มไม้ เข้าไปด้านในที่มีวิหารและลานปฏิบัติธรรม โลกก็ราวหยุดเวลาไว้ตั้งแต่ครั้งอดีตย้อนประวัติของวัดนี้เล่ากันมาว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา เมื่อกว่า 500 ปีก่อน มีเหตุปาฏิหาริย์ องค์พระธาตุที่วัดสวนดอก เกิดแตกออกเป็นสององค์ พระองค์จึงทรงอธิษฐานเสี่ยงทายอัญเชิญพระธาตุ 2 องค์ ไปหาที่ประดิษฐานใหม่ เมื่อขบวนช้างอัญเชิญพระธาตุมาตามทาง ช้างได้ยอบตัวลง ณ ตรงนี้ เดินขึ้นและเดินลงไปมาถึง 3 ครั้ง เป็นสัญญาณให้สร้างวัดหนึ่งแห่งเพื่อประดิษฐานพระธาตุครึ่งดวงแรก จากนั้นจึงได้เคลื่อนขบวนต่อขึ้นไปด้านบนเรื่อย ๆ ช้างยอบหยุดลงด้วยกิริยาเดียวกันอีกครั้ง ณ ยอดดอยอ้อยช้าง จึงสร้างเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระธาตุอีกครึ่งหนึ่ง และเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยสุเทพในปัจจุบันวัดผาลาดถือกำเนิดอย่างศักดิ์สิทธิ์ ดังตำนานเล่า ทิ้งร้างเป็นบางสมัย และสืบทอดบูรณะใหม่ในยุคหลัง เกิดสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ โดยแรงศรัทธาพุทธศาสนิกล้านนาต่อมาจนวันนี้เจดีย์โบราณที่เราเห็นในวันนี้ เคยมีรูปแบบสุโขทัย แต่เก่ารกร้างพังลง ก็มีการสร้างใหม่โดยช่างพม่าทำให้รูปทรงเปลี่ยนไป เจดีย์นี้จะเขียวครึ่้มด้วยพืชพันธุ์จำพวกมอสเฟิร์น ปกคลุมชุ่มชื้นในฤดูฝนเมื่อเดินช้า ๆ จากเจดีย์ด้านบนลงมาที่ลานเบื้องล่าง ภาพของวิหารเก่าที่เรียกกันว่าวิหารโขงสะกดให้เราเงยขึ้นมองได้นานเนิบเสมือนเวลาหยุดนิ่ง เมื่อชีวิตไม่เร่งรีบ ก็ยกเวลาช่วงบ่ายเย็นให้การสำรวจมุมสงบด้วยสายตา หัวใจเต้นช้าตามการผ่อนคลายของลมหายใจ บรรยากาศป่าเขาและรูปแบบสิ่งก่อสร้างบอกเล่าศิลปะแห่งชาติพันธุ์ความประวัติกล่าวว่าผู้สร้างวิหารกลางวัดนี้นี้คือหลวงโยนการวิจิต หรือ พญาตะก่า ชาวพม่า ผู้เป็นลูกศิษย์ของครูบาโสภา (เทิ้ม) วัดแสนฝาง และครูบาสิทธิ วัดท่าสะต๋อย เชิงชายลายนาค ลวดลายแกะสลัก ปูนปั้น และหลังคาแป้นเกล็ด ชวนให้มองเพลิน เป็นความงามอย่างง่ายและมีเอกลักษณ์ชัดนกยูงเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งในศิลปะไทลื้อ นอกจากหน้าบันที่มีปูนปั้นรูปนกยูงรำแพนประดับกระจกสีแล้ว เยื้องไปด้านซ้ายมีอาคารทรงศาลาปูนที่มีนกยูงตัวโตทอดหางยาวเป็นแพเชิดหน้าอยู่บนหลังคาอีกตัวหนึ่งหากเป็นสายมู โดมนกยูงนี้ก็เป็นหมุดหมายที่ต้องชะโงกเข้าไปสักนิด เพราะใต้หลังคาที่นกยูงขาวนี้ทอดลำตัวนิ่งอยู่ มีบ่อน้ำทิพย์ ที่มีความลึกและเก่าแก่ สร้างซ้อนทับกันหลายยุค หลายคนมาตักน้ำขึ้นมาแตะด้วยความหวังและเอ่ยคำอธิษฐานต่างจิตต่างใจ เช่นกันกับพระเจ้าทันใจองค์ใหญ่ที่ทอดเนตรด้วยเมตตาอยู่เชิงบันไดทางขึ้นวิหาร รอคนมาสัมผัสหน้าผากกับปลายนิ้วเทพ แล้วตั้งจิตขอพร หากเป็นสายธรรมแสวงทางสงบ วัดผาลาดมีบรรยากาศที่เหมาะแก่จริตธรรมทางเดินที่คลุมครอบด้วยร่มไผ่ครึ้ม ชวนให้เดินลงไปหาลำธารเบื้องล่าง แต่สำหรับผู้คร้านจะเดินขึ้นลง ก็พักพิงอิงเอนอยู่ที่ม้านั่งในลานร่มไม้ แดดอ่อนถูกบังไว้ด้วยร่มใหญ่ไพศาลของต้นบุนนาค ที่ออกดอกขาวเกสรเหลืองเป็นไข่ดาวพราวพรั่ง นั่งเล่นบนม้ายาว แล้วแหงนมองเบื้องบน ลมพัดเย็นสบาย ลานปฏิบัติธรรมคือสรณะหลายคนเข้ามาวัดผาลาด สกิทาคามี เพื่อพักหัวใจคลายร้อน คุยกันด้วยเสียงเบา ก้าวเดินช้า ๆ ชมทั่วบริเวณ สักการะเจดีย์โบราณ ขึ้นกราบพระพุทธรูปในวิหาร พินิจศิลปะงานช่างฝีมือพม่าที่ใกล้ชิดติดดินแดนล้านนาเฉกเช่นญาติเคียงเรือน ฟังเสียงนก สูดกลิ่นหญ้า ความสุขแสนง่ายก็แทรกอยู่ในลมหายใจนี่เองธรรมชาติค่อย ๆ หรี่แสงตะวัน ฆราวาสอย่างเราเห็นสมควรแก่กาล ก็หันไปยิ้มร่ำลานกยูงและร่มไผ่ เก็บความสุขใส่กระเป๋ากลับไปอีกหนึ่งความทรงจำเชียงใหม่จะมีวัดผาลาดเป็นหมุดหมายการเดินทางของเราในครั้งต่อไป ผาลาดผะเลิดล้ม เดิมที วัดสกิทาคามี ชื่อตั้ง ปฏิบัติธรรมสงบดี ลานร่ม ควรค่ามาอีกครั้ง กอบเกื้อชูใจ ..............................................................................................บ้านห้วยผาลาด 101 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200ภาพประกอบโดย ไหนว่ามาซิ Creatorอยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !