เบื้องหน้าของฉันคือหน้าผา ที่มองเห็นไกลจนสุดลูกหูลูกตา นั่นคือสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฉันยืนนิ่ง ๆ สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ และปล่อยลมหายใจออกมาอย่างช้า ๆ ให้สายลมบนยอดผาสูงพัดกระทบใบหน้า ภาพในวัยเยาว์ค่อย ๆ ชัดขึ้นในความทรงจำ “20 กว่าปีแล้วสินะที่ไม่ได้มาเยือนที่นี่” บนหน้าผาที่สูงชันจนมองเห็นอีกฝั่งซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ตะวันออกสุดของประเทศไทย และหากจะดูพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม ก็ต้องเดินทางมาที่นี่ สถานที่แห่งนี้ คือ “ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์” นั่นเอง "มองเห็นไกลๆ คือประเทศลาว" ผาแต้มแห่งนี้ตั้งอยู่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สมัยก่อนเคยถูกเรียกว่า “ภูผามรณะ” นั่นเพราะมีความเชื่อ เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษว่า หากใครย่างกรายเข้ามาในสถานที่แห่งนี้ จะต้องมีอันเป็นไป หากไม่สูญหายไปเลย ก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยจนเสียชีวิตในที่สุด ที่ต้องเรียกว่า “ผาแต้ม” นั้น เป็นเพราะสถานที่แห่งนี้ มีรอยจารึกภาพเขียนสีที่เก่าแก่ นานกว่า 3,000- 4,000 ปี นับว่าเป็นภาพเขียนสีของคนโบราณ ที่มีความอลังการที่สุด อีกแห่งหนึ่งของโลกรูปที่ชัดเจนคือ ช้าง วัว หมา ปลาบึก เต่า และ “ตุ้ม” ตุ้มคือเครื่องมือจับปลาขนาดใหญ่ของชาวอีสาน บางครั้งมอง ๆ แล้วก็คล้ายคนใส่หมวกอยู่เหมือนกัน ภาพเขียนเหล่านี้ถูกเข้าสำรวจอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยอาจารย์และนักศึกษาจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และมีการขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถานของชาติ” ในปีพ.ศ. 2525 "ทางเดินแคบๆ แต่เดินได้สบายๆ " การไปเที่ยวผาแต้มครั้งนี้ของผู้เขียน พิเศษกว่าทุกครั้งเพราะเป็นโอกาส ที่ได้ติดตามพระอาจารย์ที่ผู้เขียนศรัทธา และเคารพนับถือ เราเดินทางจากอำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี บ้านเกิดของผู้เขียน ถึงอำเภอโขงเจียมซึ่งเป็นที่ตั้งของผาแต้มแห่งนี้ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงกว่า ๆ เมื่อเดินทางมาถึงแวะทักทายเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พักดื่มน้ำท่าให้เรียบร้อย แล้วค่อย ๆ เดินสำรวจตามทางเดินที่ทางอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ได้จัดทำไว้ให้นักท่องเที่ยวเดินอย่างสะดวกสบาย น่าเสียดายที่มากันช่วงหน้าแล้ง มองไปทางไหนจึงเห็นเป็นสีน้ำตาลไหม้ของใบไม้ และกิ่งไม้ที่ผลัดใบทิ้งจนเหลือเพียงยอดเท่านั้น "สภาพอากาศอันแห้งแล้ง" เบื้องหน้าของเราที่มองดูใกล้ตาแต่ไกลตีน นั่นคือแม่น้ำโขงที่ทอดตัวยาวกั้นระหว่างประเทศไทย กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว น้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอดจนเห็นพื้นดินได้ชัดเจนในบางจุด บ่งบอกถึงความแห้งแล้ง ของสภาพอากาศในช่วงนี้ "ภาพเขียนสี ที่ผาแต้ม" "ภาพเขียนสี ที่ผาแต้ม" เมื่อเดินสำรวจไปเรื่อย ๆ ตามทางเดิน เราจะพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏอยู่ตามหน้าผาเป็นจุด ๆ ด้วยความแห้งแล้งเต็มไปด้วยฝุ่นละออง จึงทำให้มองเห็นภาพเขียนไม่ชัดเจนมากนัก เดินสำรวจกันไปเรื่อย ๆ จนไปถึงจุดสุดท้าย ของผาแต้มช่วงแรก หากเดินต่อไปอีกประมาณ 3-4 กิโลเมตรก็จะมีภาพเขียนสีให้ชมอีกช่วงหนึ่ง แต่เนื่องจากว่าวันนี้ สมาชิกที่ร่วมเส้นทางของเรา มีทั้งพระสงฆ์และคนแก่อายุ 60 ขึ้นไป จึงหยุดการเดินทางไว้เพียงเท่านี้ "หมดเวลา" ในประวัติศาสตร์ไม่มีใครเคยจารึกไว้ว่าภาพเขียนเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และศิลปินท่านใดกันนะ ที่ขึ้นไปเขียนภาพเขียนไว้บนหน้าผาที่สูงชัน จนไม่สามารถเอื้อมมือถึง สำหรับตัวผู้เขียนเอง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เดินทางมาเที่ยวที่ผาแต้มแห่งนี้ หากแต่การเดินทางมาในแต่ละครั้งได้สร้างความประทับใจ และความทรงจำที่แตกต่างกันออกไป เพราะเราไม่สามารถหยุดเวลาเอาไว้เพียงเท่านี้ได้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือเก็บเอาความทรงจำอันงดงามเอาไว้ไม่ให้ลบเลือน “ครั้งหนึ่งกับการติดตามพระอาจารย์ไปเที่ยวผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์” :::เรื่องและภาพโดย : บุหงาอันดามัน :::