การเดินทางไปยังลพบุรี คือ ทางผ่านระหว่างการเดินทางของผมจากนครศรีธรรมราชไปสุโขทัย ซึ่งจะขอเล่าประสบการณ์เลยล่ะกัน เหตุที่ได้เดินทางท่องไปในลพบุรี ก็ด้วยความตระหนี่ที่เฝ้ารอขบวนรถไฟฟรีจากลพบุรีไปยังพิษณุโลกยามค่ำคืน เพื่อขึ้นรถเมล์จากพิษณุโลกไปยังสุโขทัย ซึ่งพอจะมีเวลาว่างตั้งแต่ช่วงบ่าย จึงถือโอกาส Backpack เดินเท้าท่องไปในดินแดนลพบุรีสักครั้ง โดยสถานที่แรกซึ่งผมเลือกเดินทางไป คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อันตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีรถไฟลพบุรี ปรากฏภาพของพระปรางค์ประธานก่อด้วยศิลาแลงโบกปูนประดับลวดลายศิลปะละโว้ (สมัยขอมเรืองอำนาจ) เด่นชัดมาแต่ไกล นอกจากนั้นยังมีวิหารหลวงที่ผสานศิลปะระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตลอดจนเจดีย์น้อยใหญ่รอบ ๆ วัด ให้อารมณ์ของประวัติศาสตร์ศิลป์เป็นอย่างมาก เดินออกไปไม่ไกลก็พบกับ วัดนครโกษา (ร้าง) ริมทางรถไฟ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทับซ้อนระหว่างศาสนสถานพราหมณ์-ฮินดูกับพุทธศาสนามาหลายยุคหลายสมัย จากนั้นเดินข้ามถนนมาสู่วงเวียนจะเป็นพื้นที่ตั้งของ ศาลพระกาฬ ที่คร่าคร่ำไปด้วยผู้คนผู้หวังมาสักการะเจ้าพ่อพระกาฬ ตลอดจนฝูงลิงของเจ้าพ่อพระกาฬที่ห้อยโหนบนกิ่งไม้และกระโดดไปมาเพื่อกินอาหารกันอย่างสนุกสนาน เมื่อเดินเท้าฝ่าฝูงลิงหลายร้อยตัวบนท้องถนน เสาไฟฟ้า กำแพง อาคารบ้านเรือน หรือแม้กระทั่งบนเรือนร่างของผู้คน ก็จะเข้าสู่เขตของ พระปรางค์สามยอด ซึ่งโดดเด่นด้วยปราสาทศิลปะขอมทั้งสามองค์ สร้างด้วยศิลาแลง คาดว่าอยู่ในช่วงยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม โดยระหว่างเดินตระเวนดูรอบ ๆ พระปรางค์สามยอด ผมก็ต้องระมัดระวังเจ้าลิงจ๋ออยู่ตลอดเวลา ไม่นานนักจึงตัดสินใจเดินฝ่าฝูงลิงออกมาอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ถนนราชมนู ตามหา ป้อมเมืองและกำแพงเมือง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจนสำเร็จ และด้วยความเหน็ดเหนื่อย จำต้องนั่งพักกายภายในพื้นที่ของ วัดมณีชลขัณฑ์ อันเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์หลวงพ่อแสง ริมแม่น้ำลพบุรีซึ่งไหลลงไปด้วยวิถีของสายน้ำ ผนวกกับวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำน่าน ชวนให้รู้สึกผ่อนคลายเป็นระยะ ๆ เมื่อหายเหนื่อยก็ถึงเวลาเดินทางวกกลับลงมาทางใต้ ผ่าน วัดปืน (ร้าง) บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตามลำดับ แต่เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากเป็นช่วงเวลานอกราชการ จึงทำได้เพียงถ่ายรูปด้านนอกเท่านั้น เดินตัดเข้ามาทางทิศตะวันออกระหว่างถนนวิชาเยนทร์กับถนนสุระสงครามก็พบกับ เทวสถานปรางค์แขก สถาปัตยกรรมรูปแบบขอม คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แห่งอาณาจักร และก่อนจะถึงสถานีรถไฟลพบุรี ก็ยังคงเห็น ป้อมเมืองและแนวกำแพงเมือง ตลอดจนซากอุโบสถและเจดีย์ของ วัดบันไดหิน เห็นไหมครับว่า ระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงระหว่างรอรถไฟฟรี ผมสามารถสะพายเป้ท่องไปคนเดียวในลพบุรีได้อย่างสบาย ๆ ในพื้นที่มากมายหลากหลายแห่ง ถือเป็นประสบการณ์ของชีวิตนักเดินทางคนหนึ่ง ฉะนั้นหากผู้อ่านท่านใดมี Plan จะเดินทางไปเที่ยวยังลพบุรี ก็สามารถใช้เส้นทางเดียวกับผมหรือปรับเส้นทางเพื่อความเหมาะสมเฉพาะตนได้นะครับ ขอให้มีความสุขสำหรับการเดินทาง #ขอเป้หนึ่งใบสะพายไปลพบุรี