“เกาะพิทักษ์” ให้ทะเลไกวเปล “เกาะพิทักษ์ ไม่หนีไปไหน” ใครบางคนว่า ก่อนจะพาแวะนั่นนี่ไปเรื่อย กว่าจะออกจากตัวเมืองชุมพร มาถึงท่าเรือเพื่อข้ามไปยังเกาะเป้าหมาย ก็ใช้เวลาไปหลายชั่วโมง ครับ... ยังไม่ไปไหนก็เริ่มง่วงซะอย่างนั้น พอเจอลมทะเลเย็นๆ กับคลื่นลูกย่อม ๆ ก็ทำให้เคลิ้มงีบไปบ้าง แต่เราก็มาถึงเกาะกันทันเวลา เกาะพิทักษ์ จ.ชุมพร ความงามหาใช่แสงสีอย่างเมืองชายทะเลในละแวกอื่น ๆ แต่ที่นี่เราจะได้ใกล้ชิดชาวบ้าน ได้กินอยู่ และสูดกลิ่นไอของความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยผู้ใหญ่บ้าน เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของชื่อเกาะว่า ในสมัยอดีตเกาะพิทักษ์ มีการเรียกขานว่าเกาะผีทัก เพราะในสมัย ร.5 ที่มีการปราบโจร หรืออั้งยี่ มีบุคคลหนึ่งที่หนีคดีมายังเกาะแห่งนี้ โดยท่านล่องเรือมาจากอำเภอหลังสวน จนมาถึงหลังเกาะนี้ ซึ่งระหว่างลอยลำเรืออยู่ ได้ยินเสียงคนทักให้ขึ้นมาบนเกาะ พอขึ้นมาก็ไม่เจอคนที่เรียก ท่านเลยเรียกเกาะนี้ว่า เกาะผีทัก และทุกครั้งที่ชาวเรือแล่นผ่านหาด ด้านตะวันออกของเกาะ ในโมงยามที่จะมีภัยธรรมชาติ มักได้ยินเสียงคนเรียกเพื่อให้ขึ้นมาหลบบนเกาะ จึงทำให้ชาวประมงละแวกนี้ เลื่อมใสศรัทธา จนบางคนเรียกเกาะนี้ว่า เกาะที่พัก นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบหนังสือที่กล่าวถึงครั้ง ร.5 เสด็จพระราชดำเนินมายังด้านหน้าเกาะผีทัก ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่า เกาะแห่งนี้เดิมชื่อเกาะผีทัก ซึ่งต่อมากรมการปกครองให้มีการตั้งชื่อพื้นที่ จึงเปลี่ยนมาเป็นเกาะพิทักษ์ ตราบจนปัจจุบัน สมัยก่อนเกาะพิทักษ์ เป็นสถานที่ที่มีความสมบูรณ์ในเรื่องของธรรมชาติ จนมีนายทุนเข้ามาแสวงผลประโยชน์ในการจับปลาด้วยเครื่องมือเชิงพาณิชย์ ทำให้ปลาที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ค่อยๆ หายไป พอมาปี พ.ศ.2536 ชาวบ้านหลายคนเห็นพ้องกัน ในการฟื้นฟูเกาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมจากอาชีพชาวประมงที่เคยทำอยู่ จึงค่อย ๆ พัฒนาที่พัก โดยเน้นเป็นที่พักของชาวบ้าน ที่จะมีกิจกรรมคือ ดำน้ำดูปะการัง ออกไปตกหมึกในเวลาค่ำคืน หรือพายเรือคายัค ชมวิถีชุมชนรอบๆ เกาะ พอกระบวนการท่องเที่ยวที่จัดการโดยชาวบ้านเริ่มเป็นระบบ จึงทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนอยากจะเข้ามา และบอกต่อ ๆ กันถึงกิจกรรมธรรมชาติ ที่ทำร่วมกันภายในเกาะ ซึ่งผลพวงที่ตามมาทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในชุมชน มีตลาดในการค้าขายมากขึ้น จากเดิมอาหารทะเลที่ชาวบ้านหามาได้ มักไม่มีตลาดที่จะขาย หรือหากขายได้ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง สิ่งนี้ทำให้ผู้สูงอายุในเกาะ เริ่มหันมารื้อฟื้นการถนอมอาหารทะเล ที่เดิมมีการสูญหาย มาผลิตขายให้กับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เมื่อขายได้ก็ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มที่อยากเรียนรู้การถนอมอาหาร และเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระยะยาว ตอนนี้คนหนุ่มสาวในเกาะ ที่เข้าไปเรียนในกรุงเทพ ฯ เริ่มที่จะกลับมาอยู่ที่เกาะมากขึ้นหลังจากเรียนจบ เพราะเขามีรายได้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปหากินไกล ถือเป็นเรื่องดีในการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ด้วย สินค้าชุมชน ที่ได้รับความนิยมคือ ปลาฝังทราย เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ในพื้นที่มาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีตู้เย็นที่ช่วยถนอมอาหาร ชาวบ้านเลยเกิดแนวคิดที่จะนำปลาที่ตกมาได้ไปฝังในทราย ถือเป็นการถนอมอาหารที่ยังใช้ได้มาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่น เพราะเนื้อปลาที่ผ่านการฝังทรายจะแห้ง มีความหอมแบบธรรมชาติ มีรสเค็มไม่มากเหมือนปลาที่ผ่านการแปรรูป โดยการฝังปลาในทรายจะทำให้ทรายดูดความชื้นจากเนื้อปลาจนแห้ง จึงทำให้ปลาไม่เสียง่าย คนสมัยก่อนจะกินปลาเมื่อไหร่ก็ไปขุดทราย เพื่อนำปลาขึ้นมาทำเป็นอาหาร บางบ้านฝังทรายไว้ 3 - 4 เดือน แล้วค่อยขุดขึ้นมากิน กระบวนการทำ เมื่อได้ปลามาแล้ว จะควักไส้และเครื่องใน ในท้องออกให้หมด ทิ้งปลาไว้สักพัก รอให้เนื้อนิ่ม แล้วโรยด้วยเกลือ ก่อนจะบรรจุไว้ในถุงพลาสติก เพื่อไม่ให้ทราย หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในเนื้อปลา ทั้งนี้ การฝังทรายขึ้นอยู่กับขนาดความใหญ่ของปลาด้วย อย่างปลาอินทรีย์ ถ้าขนาดใหญ่ต้องฝังไว้อย่างต่ำ 1 เดือน ถ้าตัวเล็กลงมาก็ประมาณ 20 วัน ถ้าฝังไว้นานกว่านี้ก็ได้ ปลาที่นำมาฝังทราย คือ ปลาอินทรีย์ , ปลากุเลา , ปลาจวด , ปลากะพง แต่จะเน้นปลาพื้นบ้านที่หาได้ในพื้นที่ และเป็นปลาที่หาได้ตามฤดูกาล ขณะเดียวกัน ความเชื่อของคนที่หาปลาบนเกาะ เป็นอีกสิ่งที่ต้องนำมาประกอบในการหาปลา เช่น วันที่ 10 เดือน 2 หาปลากระบอกได้ในจุดนี้ ปีถัดไปในวันเดียวกันก็ต้องมายังจุดเดิม เพราะปลาพวกนี้มักจะวนเวียนมายังจุดเดิมในช่วงเวลาเดียวกันทุกปี สำหรับ โฮมสเตย์ บนเกาะพิทักษ์ มีการจัดการดูแลแบบเป็นกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งเน้นบ้านพักแนวชาวประมง จะไม่มีห้องแอร์ แต่มีห้องที่มีลานกิจกรรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นั่งคุยกัน หรือทานอาหารทะเลร่วมกัน นี่คือแนวทางการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นเสน่ห์ของชุมชน ที่หาไม่ได้จากที่อื่น นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่มาพักโฮมสเตย์ นอกจากจะได้สัมผัสความเป็นธรรมชาติแล้ว ยังได้ทานอาหารทะเลสดๆ ที่ชาวบ้านจัดเตรียมไว้ให้ โดยวัตถุดิบได้มาจากชาวประมงพื้นบ้านที่ออกหาในทุกวัน ถือเป็นอีกแนวทางที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาวประมงด้วย เรานอนทอดอารมณ์อยู่ริมเรือนพักข้างหาด มองเห็นเรือประมงที่มุ่งหน้าเข้ามายังฝั่ง พาลให้นึกถึงปลาหมึก และกุ้งตัวโต มื้อกลางวันที่ชาวบ้านเลี้ยงต้อนรับ มันสดและหอมหวาน จนเราต้องกลืนน้ำลายลงคออยู่หลายรอบ. *CR ภาพทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน ดูคลิปวีดีโอเพิ่มเติมที่ https://www.youtube.com/watch?v=xJrNgLbSt4Q