มีโอกาสไปเที่ยวทางภาคอีสานก็หลายครั้ง เคยได้ยินตำนานกระดูกไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าวมาก็หลายหน แต่ก็ไม่ได้ไปดูของจริงสักที วันนี้จับพลัดจับผลู ทางคณะที่เดินทางไปประชุมด้วยกันที่จังหวัดร้อยเอ็ดบอกขากลับจะไปขึ้นเครื่องที่ขอนแก่น เวลาเหลือครึ่งวันจะไปเที่ยวที่ไหนดี เสียงแว่วจากคณะเบาๆว่า ภูกุ้มข้าว ตาลุกโพรงบอก OK ทันที แล้วภูกุ้มข้าวอยู่จังหวัดใดหนอ อ๋อ กาฬสินธุ์ นี้นี่เอง จังหวัดกาฬสินธ์ุ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอยู่หลายแห่ง วันนี้เท่าที่พอมีเวลาได้มีโอกาสมาเยือนดินแดนที่มีเรื่องเล่า เกี่ยวกับกระดูกไดโนเสาร์ ภูกุ้มข้าว ตลอดเส้นทางมีธรรมชาติที่สวยงามมาก อยากแวะจอดถ่ายรูปหลายจุดแต่กลัวว่าจะไม่ทัน ฝากไว้ก่อนโอกาสหน้าจะมาเก็บรายละเอียดให้หมด พนักงานขับรถนำรถมาจอดบริเวณลาดจอดหน้าพิพิธภัณฑ์สิรินธร บอกว่าก่อนจะไปดูกระดูกไดโนเสาร์ของจริงต้องเข้าไปศึกษาดูข้างในก่อนจะได้ไม่เสียเที่ยว พิพิธภัณฑ์สิรินธรใหญ่โตและสวยงามมาก ก่อนเข้ามีจุดให้ถ่ายรูปกับไดโนเสาร์จำลองหลายๆ จุด จนลืมเวลา เดินเข้าไปด้านในชำระค่าเข้าชมก่อน ผู้ใหญ่ราคาคนละ 40 บาท เด็ก 10 บาท ได้ตั๋วแล้วก็พร้อมลุย จากข้อมูล พิพิธภัณฑ์สิรินธร เดิมเป็นศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ในปี พ.ศ.2537 พบโครงกระดูกของไดโนเสาร์กินพืช ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ในบริเวณที่เป็นหลุมขุดค้นปัจจุบัน โดยพระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมา คณะสำรวจไดโนเสาร์จากกรมทรัพยากรธรณีจึงได้เริ่มทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบ และพบว่า ภูกุ้มข้าว เป็นแหล่งที่พบโครงกระดูกไดโนเสาร์กินพืชที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย มีการพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาดต่างๆ เป็นกระดูกชนิดกินพืชมากกว่า 7 ตัว จำนวนกระดูกมากกว่า 700 ชิ้น ที่สำคัญคือ พบชิ้นส่วนของหัวกระโหลก ฟันและกราม และโครงกระดูกที่เรียงรายต่อกัน เกือบจะสมบูรณ์ทั้งตัวอยู่ด้วย โครงกระดูกทั้งหมดอยู่ในชั้นหินที่วางตัวอยู่บนไหล่เขาของภูกุ้มข้าวซึ่งมีรูปร่างคล้ายลอมฟาง มีความสูงประมาณ 240 เมตร เที่ยวดูนั่นดูนี่จนเพลิน ดูนาฬิกาเหลือเวลาไม่มากแล้ว จุดที่เป็นจุดไฮไลท์ ยังไม่ได้ไปดูเลย รีบกันเลยละทีนี้ จากพิพิธภัณฑ์อีกอึดใจเดียวก็มาถึงสถานที่ที่เป็นจุดขุดค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าในตำนาน จากประวัติโดยสังเขปก็จะประมาณว่า หลวงปู่หาท่านได้นิมิตเห็นแสงสว่างที่ใสมาก สว่างไสวไปทั่ว แล้วก็ปรากฎสัตว์ชนิดหนึ่ง คอยาวตัวใหญ่กว่าช้าง เท้าใหญ่เท่ากระบุง เดินไปเดินมาบริเวณภูกุ้มข้าว กินยอดไม้ เล่นน้ำ และล้มลงตาย ประมาณเดือนกันยายน 2537 ตอนเที่ยงวัน มีฝนตกมาอย่างหนักหลายชั่วโมง หลังฝนหายปรากฎมีกระดูกชิ้นใหญ่หลายชิ้นโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน ท่านสั่งให้คนเก็บไว้เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่มาตรวจ หลังจากนั้นก็พบกระดูกอีกจำนวนมากกว่าว 700 ชิ้น จึงได้สร้างโรงเรือนคลุมเพื่อป้องกันการเสียหายและเพื่อถวายการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 และพัฒนามาเป็นพิพิธภัณฑ์สิรินธร เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำการอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย และเก็บรวมรวมซากดึกดำบรรพ์ที่สำรวจพบในประเทศไทย มาจนถึงปัจจุบัน เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อันยาวนานย้อนไปถึงยุคไดโนเสาร์ ที่คนไทยน่าจะได้มาเยือนสักครั้งหนึ่ง ยังความประทับใจให้จดจำไม่รู้ลืม "ภาพถ่ายโดยนักเขียน..Pakpoom.."