ในฝั่งธนบุรีมีวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายวัดที่เรียงรายตามริมคลอง โดยหลายวัดก็มีศิลปกรรมที่สวยงาม ควรค่าแก่การไปเยี่ยมชม สำหรับวัดที่ผมจะนำเสนอในคราวนี้ นอกจากจะมีสถาปัตยกรรม คือพระอุโบสถและพระวิหารที่งดงามแล้ว ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ที่เป็นการประชันกันของสองสุดยอดศิลปินแห่งยุค ทั้งยังมีพระพุทธรูปองค์สำคัญประดิษฐานอยู่ วัดนั้นคือ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร พระอุโบสถ วัดสุวรรณารามวัดสุวรรณาราชวรวิหารเดิมชื่อว่าวัดทอง มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เคยใช้เป็นที่ประหารชีวิตเชลยชาวอังวะในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย จนกระทั่งเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด แล้วพระราชทานนามว่า วัดสุวรรณาราม คำว่าสุวรรณก็หมายถึงทอง และยังพ้องกับพระนามเดิมของพระองค์คือ “ทองด้วง” ด้วย แต่ก็มีบางแหล่งข้อมูลที่เล่าว่าวัดนี้ได้รับพระราชทานนามว่า วัดสุวรรณทาราม หลังจากการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนเปลี่ยนมาเป็นวัดสุวรรณารามในสมัยรัชกาลที่ ๔ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน พระเจดีย์บรรจุพระอัฐิพระองค์เจ้าสุทัศน์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ และอัฐิคนในราชสกุลสุทัศน์วัดนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมรุหลวงที่สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาของรัชกาลที่ ๑ ใช้สำหรับฌาปนกิจศพเจ้านายหรือขุนนางที่ตามธรรมเนียมต้องนำไปทำพิธีที่นอกกำแพงเมือง เมรุหลวงดังกล่าวถูกใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ พระศาสดา พระประธานในพระอุโบสถสิ่งสำคัญภายในวัดก็คือพระอุโบสถทรงไทยประเพณีที่มีพระประธานนามว่า “พระศาสดา” โดยพระศาสดาองค์นี้นั้น บ้างก็ว่าเป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากสุโขทัย สร้างโดยช่างเดียวกับพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม บ้างก็ว่าเป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๑ ทรงให้หล่อขึ้นเพื่อเป็นพระประธานในวัดสุวรรณารามเป็นการเฉพาะ ในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดกเหมือนกับหลาย ๆ วัด แต่ที่สำคัญคือเป็นการประชันฝีมือ หรือหากพูดให้ทันสมัยคือ “แบทเทิล” กัน ของสุดยอดศิลปินสองท่านในสมัยรัชกาลที่ ๓ คือ หลวงวิจิตรเจษฎา หรือ ครูทองอยู่ วาดภาพเรื่องพระเนมิราช กับอีกท่านคือ หลวงเสนีย์บริรักษ์ หรือ ครูคงแป๊ะ ซึ่งวาดเรื่องมโหสถ จิตรกรรมเรื่องพระเนมิราช ฝีมือครูทองอยู่ จิตรกรรมฝาผนังฝีมือของครูทองอยู่ จะเป็นรูปแบบของศิลปกรรมไทยประเพณีที่มีความอ่อนช้อยงดงามเป็นอย่างมาก จิตรกรรมเรื่องมโหสถ ฝีมือครูคงแป๊ะ ส่วนของครูคงแป๊ะ เนื่องจากท่านมีเชื้อสายจีน จึงมักวาดภาพที่สอดแทรกความเป็นจีน สอดแทรกความตลกขบขันเอาไว้ด้วย เคยได้ฟังวิทยาการท่านหนึ่งบรรยายเอาไว้ แต่ก็จำได้ไม่ชัดเจนนักแล้ว ท่านได้บรรยายในแนว ๆ ที่ว่า ผลงานของครูทองอยู่ จะออกแนวไทยประเพณี ยึดตามขนบโบราณมากกว่า ในขณะที่ของครูคงแป๊ะจะออกแนวอิสระ มีความขบขัน เป็นเอกลักษณ์มากกว่า พระประธานในพระวิหารหน้าวัดมีคลองบางกอกน้อยไหลผ่าน ซึ่งบริเวณนี้เคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่ามาก่อน และแคบลงจนกลายเป็นคลองหลังมีการขุดคลองลัดบางกอกแล้ว (คลองลัดบางกอกปัจจุบันคือแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง โรงพยาบาลศิริราช และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) สำหรับการเดินทางไปยังวัดนี้ในปัจจุบันก็แสนสะดวก เพราะมีรถเมล์ผ่านหน้าปากซอยวัดหลายสาย และที่สำคัญคือมีรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินผ่านแล้ว ลงได้ที่สถานีบางขุนนนท์ ท่านใดที่มีโอกาสก็ขอแนะนำให้ไปชมกันนะครับ พิกัด : https://maps.app.goo.gl/Bpvn4L75xoZT6QeE7เครดิตภาพ : Phonlakrit Sunthornphon (ถ่ายภาพเองครับ) อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !