หลายคนคงรู้จักวรรณกรรมอมตะเรื่อง “สี่แผ่นดิน” อันสร้างสรรค์ทั้งฉากและตัวละครได้เสมือนจริงจนตราตรึงความรู้สึกของผู้อ่าน หนึ่งในฉากประทับใจที่อดพูดถึงไม่ได้คงจะเป็นครั้งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งเพื่อพักผ่อนพระอิริยบถ ณ พระราชวังบางปะอิน นำมาสู่ฉาก “ขนมจีนบางปะอิน” ซึ่งเป็นการจีบสาวชาววังของพระเอกอย่างคุณเปรม จุดเริ่มต้นของการเดินทางคือสถานีรถไฟกรุงเทพฯในเช้าตรู่วันหนึ่งกับคณะมิตรสหาย โดยมีจุดหมายปลายทาง ณ สถานีรถไฟบางปะอิน ออกเดินทางเวลาประมาณ 06.00 น. ด้วยตั๋วรถไฟราคาแสนถูกเพียง 15 บาท และเมื่อก้าวลงจากรถไฟสิ่งแรกที่สะดุดตาคือ ‘พลับพลาที่ประทับอาคารสถานีรถไฟ’ อันมีสีนวลตางดงาม เป็นสถาปัตยกรรมอาคารไม้ชั้นเดียวประกอบด้วยหลังคาทรงปั้นหยา เดินชมความสวยงามสักครู่ จึงเดินทางไปยังพระราชวังบางปะอินโดยรถสองแถว ยอมรับเราไม่ได้วางแผนการเดินทางไว้มากมาย อาศัยสอบถามการเดินทางจากชาวบ้านแถวนั้น รถสองแถวที่ใช้โดยสารไปนั้นคุณสามารถไว้ใจได้ว่าจะสามารถจ่ายในราคาปกติทั่วไป และแนะนำให้ขอเบอร์ติดต่อไว้เผื่อเที่ยวกลับด้วย หากมองสองข้างทางจะพบสถานที่สำคัญอย่าง วัดชุมพลนิกายาราม ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของพระมารดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งทรงถวายที่ดินให้สร้างเป็นพระอาราม เพลิดเพลินกับสองข้างทางสักพักเราก็มาถึงยังจุดหมาย ที่นี่ในยามเช้าเงียบมากๆ มีร้านอาหารและร้านขายของด้านหน้าสำหรับหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันแสงแดดหรือเสื้อผ้านักท่องเที่ยวในราคาไม่แพง เดินตามทางไปเรื่อยๆก็ถึงประตูทางเข้า อัตราค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ราคา 50 บาท ถ้าหากคุณต้องการเที่ยวชมพระราชวังแห่งนี้อย่างสะดวกสบายสามารถเช่ารถกอล์ฟสำหรับขับชมได้ แต่ถ้าคุณค่อยๆเดินชมบรรยากาศความร่มรื่น คุณก็จะได้รับความเพลิดเพลินอีกแบบหนึ่ง คำว่า “บางปะอิน” มาจากเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาว่า สมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จประพาสทางเรือมายังสถานที่แห่งนี้ ได้พบสาวชาวบ้านมีนามว่าอิน โดยรับเป็นบาทบริจาริกาและมีพระราชโอรสด้วยกัน ต่อมาคือเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งได้ปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราชวังบางปะอินแห่งนี้ จึงนับว่าเป็นพระราชวังโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ ใช้เป็นที่ประทับในพระมหากษัตริย์ระหว่างเสด็จประพาสหรือแปรพระราชฐาน หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า สถานที่แห่งนี้ถูกปล่อยให้ทรุดโทรมมานาน จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้มีการบูรณปรับปรุงสถานที่นี้ให้เรียบร้อย พร้อมทั้งโปรดให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ รวมตำหนัก หอ และอาคารต่างๆ คือ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ วโรภาษพิมาน อุทยานภูมิเสถียร เหมมณเฑียรเทวราช วรนาฏเกษมสานต์ สภาคารราชประยูร วิฑูรทัศนา เวหาศน์จำรูญ และบุปผาประพาส โดยปรับภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นงดงามสำหรับพักผ่อนพระอิริยบถ เดินตามถนนมาเรื่อยๆ ไม่ไกลจากทางเข้า จะพบหอเหมมณเฑียรเทวราช หรือศาลพระเจ้าปราสาททอง อันเป็นสถานที่เคารพสักการะ ซึ่งแม่พลอยและแม่ช้อยแวะมาเสี่ยงเซียมซี “...ทั้งที่เนื้อความในเซียมซีนั้นจะอ่านอย่างไรก็ไม่มีวันเข้าใจ แต่ช้อยกลับเห็นเป็นเรื่องขบขัน เสี่ยงใบเดียวไม่พอต้องทอดครั้งละหลายๆใบ แล้วเอามาอวดคนโน้นคนนี้เป็นที่รื่นเริงไปทั่ว...” ปัจจุบันเรายังสามารถเข้าไปสักการะและเสี่ยงเซียงซีตามรอยหนังสือได้ โดยศาลพระเจ้าปราสาททองนี้ มีลักษณะเป็นปรางค์ศิลาจำลองแบบขอม ภายในประดิษฐานเทวรูปพระเจ้าปราสาททอง อยู่บริเวณริมสระน้ำใต้ต้นโพธิ์ ฝั่งตรงข้ามมองเห็นพระอุโบสถของวัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกสไตล์กอธิค พอถึงกระโจมแตรซึ่งเป็นจุดพักชมบรรยากาศยอดฮิตที่หลายคนนิยมหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก บริเวณนี้จะมองเห็นอาคารหลังหนึ่งคือประตูเทวราชครรไล สำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์รถม้าพระที่นั่ง โดยเริ่มใช้กันตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนกระทั่งแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับมาจากการประพาสยุโรป ถัดมาคือพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นสถาปัตยกรรมไทยประเพณีแบบจตุรมุข อันตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางน้ำ ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) บริเวณนี้ยังมีม้านั่งสำหรับพักผ่อนและสามารถให้อาหารปลาริมน้ำได้อีกด้วย เป็นอาหารเม็ดแบบหยอดเหรียญ มีถังและที่ตักให้ แบบไม่ต้องกลัวมือเปื้อน ในช่วงเวลาที่บรรยากาศงดงามเช่นนี้ ผู้เขียนก็ไม่ลืมหยิบกล้องฟิล์มขึ้นมาบันทึกภาพ เก็บความคลาสสิกของสถานที่มาให้ชม... มีสะพานทอดยาวข้ามแม่น้ำสั้นๆ ตกแต่งแบบยุโรป โดยมีรูปปั้นเรียงรายไปตามทาง เดินข้ามสะพานมาอีกนิด ฝั่งทางซ้ายมือคือสภาคารราชประยูร เป็นอาคารตึก 2 ชั้นริมน้ำ ศิลปะสไตล์โคโรเนียล ใช้สำหรับเป็นที่ประทับเจ้านายฝ่ายหน้า ปัจจุบันจัดแสดงสิ่งของที่ประชาชนทูลเกล้าฯถวายและนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชวังบางปะอิน ทว่ากฎระเบียบการเข้าชมภายในอาคารแห่งนี้คือห้ามบันทึกภาพ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็สามารถชมความงดงามด้วยดวงตาและเก็บไว้ในความทรงจำได้ รับรองว่าของข้างในหน้าตื่นตาตื่นใจแน่นอน ส่วนฝั่งทางขวามือของสะพานจะมองเห็นพระที่นั่งวโรภาษพิมาน โดยมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ศิลปะแบบคอรินเทียนออร์เดอร์ ใช้สำหรับเสด็จออกว่าราชการและเป็นที่ประทับ ใกล้กันนั้นคือสะพานสีเขียวทอดยาวไปอีกฝั่ง เข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นใน มีป้ายเขียนไว้ว่าถนนพระนารายณ์ เมื่อเดินบนสะพานมองออกไปจะพบกับเรือนแพพระที่นั่งอย่างไทยสร้างด้วยไม้สักทอง หลังคามุงด้วยจาก ใช้เป็นที่ประทับในการเสด็จประพาสต้นและทรงสำราญพระอิริยาบถทางน้ำ อยู่ติดกับเก๋งบุปผาประพาส และใกล้กันนั้นเคยเป็นที่ตั้งของตำหนักวรนาฏเกษมสานต์ อันเป็นสถานที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ซึ่งเป็นที่ประทับของ ‘เสด็จ’ ผู้มีเมตตาต่อแม่พลอยอย่างยิ่งในวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน แต่น่าเสียดายที่ได้ถูกรื้อถอนไปในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่กระนั้นความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมภายในนี้ก็ไม่ลดลงเลย ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน มีสถาปัตยกรรมที่หลากหลายแปลกตาอันได้แก่ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยชาวสยามเชื้อสายจีนเพื่อถวายแด่รัชกาลที่ 5 ใกล้กันนั้นคือหอวิฑูรทัศนา ใช้สำหรับทอดพระเนตรโขลงช้างป่า และภูมิประเทศโดยรอบพระราชวัง มีความสูง 3 ชั้น ทาสีเหลืองสลับแดง นอกจากนี้ยังมีตำหนักเก้าห้องและตำหนักของเจ้านายฝ่ายในอีกหลายพระองค์ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์และความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด การันตีว่าจะสร้างความเพลิดเพลินใจได้ไม่น้อยทีเดียว การเดินทางมายัง 'บางปะอิน' ของแม่พลอยครั้งนั้น คุณสายผู้คุมเรือเครื่องได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งเอาไว้ว่า "...อย่าว่าแต่เรือเครื่องเลย เรือพระประเทียบก็เคยล่ม เจ้านายสิ้นพระชนม์ตั้งหลายพระองค์..." ซึ่งเป็นเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ หรือ 'พระนางเรือล่ม' ที่เรารู้จักกัน โดยมีบันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทุกข์โทมนัสอย่างแสนสาหัส โดยโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ และอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นที่ระลึกด้วยความเสน่หาอาลัยไว้ ณ ที่แห่งนี้ด้วย ถ้อยคำในเนื้อความที่จารึกไว้นั้น หากผู้ใดได้อ่านก็จะรับรู้ได้ถึงความรักอันสนิทเสน่หา และความทรงจำ "...ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้ โดยความศุขสบาย" ด้วยความอาลัยยิ่งจากผู้เป็นพระสวามี พระราชวังบางปะอินมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก จนสามารถเดินเที่ยวชมเพลิดเพลินกับธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมที่สวยงามได้ตลอดทั้งวัน จนไม่รู้สึกเบื่อหรือเหน็ดเหนื่อย และยังได้รู้ภูมิหลังประวัติศาสตร์จากความทรงจำของตนเอง ด้วยธรรมชาติที่ร่มรื่นภายในพระราชวังบางปะอินแห่งนี้ ทำให้ผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมหลายท่านรู้สึกผ่อนคลาย รวมไปถึงแม่พลอยจากสี่แผ่นดินก็เช่นกัน “...ตั้งแต่พลอยมาบางปะอิน ความอ้างว้างในใจและความโทมนัสต่างๆ ดูเริ่มจะเรือนลางไปจากหัวใจ... หรือบางปะอินจะเป็นสถานที่กายสิทธิ์ สร้างขึ้นเพื่อความสุขง่ายๆ ผู้ใดที่ได้ไปถึงก็บังเกิดความสุขอย่างง่ายโดยมิต้องแสวงหา” หากมีโอกาสผ่านมาเที่ยว อยากให้ทุกคนลองแวะมา “บางปะอิน” เพราะมันอาจเป็นหนึ่งในสถานที่แห่งความทรงจำ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน การเดินทางมาบางปะอินแต่ละครั้ง ก็ล้วนทำให้บังเกิดความประทับใจได้ไม่ซ้ำกันเลย เรื่องและภาพโดยผู้เขียน