รีเซต

ที่เที่ยวอยุธยา หมู่บ้านญี่ปุ่น Japanese Village Ayutthaya เที่ยวใกล้กรุงเทพ

ที่เที่ยวอยุธยา หมู่บ้านญี่ปุ่น Japanese Village Ayutthaya เที่ยวใกล้กรุงเทพ
Muzika
8 พฤศจิกายน 2565 ( 17:05 )
46.6K

     ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้น จะว่าไปก็มีการติดต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ถ้าใครนึกไม่ออกว่านานขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่ามี หมู่บ้านญี่ปุ่น (อังกฤษ : Japanese Village) ที่ชุมชนชาวญี่ปุ่นมาก่อร่างสร้างตัว ตั้งหมู่บ้านอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเลย ห่างจากวัดพนัญเชิงไปแค่ 1 กิโลเมตรเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีที่ดำเนินมาถึงปัจจุบัน

 

Anotai Y / Shutterstock.com

ที่มา หมู่บ้านญี่ปุ่น สมัยกรุงศรีอยุธยา

 

Kittipong Chararoj / Shutterstock.com

 

     หมู่บ้านญี่ปุ่น (Japanese Village) ก่อตั้งขึ้นประมาณคริสต์ทศวรรษ 1300 อยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามกันกับหมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างชาติที่เดินทางมาค้าขายในสมัยนั้น และได้รับพระราชทานที่ดินตั้งชุมชนบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน แรกเริ่มเดิมทีที่นี่เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ของพ่อค้าเรือสำเภาชาวญี่ปุ่น 

 

     ภายในหมู่บ้านสันนิษฐานว่ามีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาทำมาค้าขาย กลุ่มโรนิน ที่เข้ามาเป็นทหารอาสาในอยุธยา และกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ ที่ต้องเดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา (ในยุคสมัยนั้น) ว่ากันว่าชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้ มีอยู่ประมาณ 1,000 -1,500 คน

 

     ผู้นำ และหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่นสมัยนั้นคือ ยามาดะ นางามาซะ (Yamada Nagamasa) ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม จนได้จัดตั้งกองทหารอาสาญี่ปุ่น และมีบทบาทในการช่วยปราบปรามกบฎ ตลอดจนเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย และญี่ปุ่น จนได้รับแต่งตั้งเป็นออกญาเสนาภิมุข  ซึ่งท่านได้รับการยกย่องในความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้านาย ภายหลังยังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จวบจนสิ้นชีวิต

 

จากหมู่บ้านญี่ปุ่น สู่พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น

 

Kittipong Chararoj / Shutterstock.com

 

     ปัจจุบันหมู่บ้านญี่ปุ่นได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นโดย สมาคมไทย – ญี่ปุ่น ร่วมมือกับนักวิชาการไทย และนักวิชาการญี่ปุ่น เพื่อรำลึกถึงชาวญี่ปุ่นผู้มีบทบาทสำคัญ และมีความจงรักภักดีต่อราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งเพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งหมู่บ้านญี่ปุ่นเดิมด้วย

 

Kulpreya PHOTO / Shutterstock.com

 

     หมู่บ้านญี่ปุ่น ได้รับการปรับปรุงครั้งแรก ในปี พ.ศ.2529 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 999 ล้านเยน (ประมาณ 170 ล้านบาทไทยในขณะนั้น) เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา (พ.ศ.2530) และเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 100 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงหลังจากนั้น ที่นี่ก็ได้รับการปรับปรุงต่อยอดอีกเรื่อยๆ เพื่อเป็นสถาบันวิจัย และพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวมด้วย

 

     ด้านในนั้นจะจัดแสดงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ แบ่งออกเป็นอาคาร 9 ส่วน ได้แก่

1. ห้องวีดีทัศน์
2. แผนที่เดินเรือมายังกรุงศรีอยุธยา
3. แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ
4. ห้องจัดแสดงใต้ท้องเรือ
5. ห้องจัดแสดงเรื่องราวของชุมชนชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา
6. ห้องจัดแสดงเรื่องราวของชุมชนชาวญี่ปุ่นในพระนครศรีอยุธยา
7. ลำดับเหตุการณ์ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น
8 ห้อง e-book
9. เรือโบราณจำลอง

 

Kittipong Chararoj / Shutterstock.com

 

     การเข้าชมที่นี่จะเสียค่าเข้าชมคนละ 50 บาท ใครอยากแต่งชุดยูคาตะ หรือชุดกิโมโนเข้าไปถ่ายภาพด้านในก็ได้ มีชุดให้เช่าอยู่ที่อาคาร 1 ด้วย ข้างในมีมุมสวยๆ บรรยากาศญี่ปุ่นมากมายครับ โดยเฉพาะโซนสวนญี่ปุ่นที่ออกแบบโดยนักออกแบบสวนชาวญี่ปุ่นเอง

 

Kittipong Chararoj / Shutterstock.com

 

     ภายในอาคาร 2 ยังมีจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของบุคคลที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักมากสำหรับคนไทยในยุคที่ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส กำลังดังถึงขีดสุด ก็คือ แม่มะลิ หรือ มารี กีมาร์ (Marie Guimar) สตรีผู้ครองตำแหน่ง ท้าวทองกีบม้า ราชินีขนมไทย ลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น นั่นเอง

 

ข้อมูลหมู่บ้านญี่ปุ่น

  • ที่ตั้ง : ตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/BEdjdJDXdhksoKZ89
  • โทร : 0-3525-9867
  • เวลาเปิด :
    • วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.30 – 18.00 น.
    • วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 – 18.00 น.
  • เว็บไซต์ : www.japanesevillage.org/th
  • การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนสายเอเชีย(ทางหลวงหมายเลข 32) เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเข้าจังหวัดอยุธยา ขับตรงไปจุดถึง วงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกไฟแดง แล้วใช้ทางออกไปทาง อำเภอบางปะอิน หรือวัดพนัญเชิงวรวิหาร (ถนนหมายเลข 3477) ขับผ่าน วัดใหญ่ชัยมงคล และ วัดพนัญเชิงวรวิหาร หมู่บ้านญี่ปุ่นจะอยู่ทางขวา

====================