ชื่อของ ‘เมืองลำพูน’ หรือ ‘อดีตนครหริภุญไชย’ จังหวัดเล็กๆ ของดินแดนล้านนา ในสายตานักท่องเที่ยวทั่วไป อาจเป็นเพียง ‘เมืองรอง’ บนเส้นทางสัญจรผ่าน ที่มีระยะการเดินทางเพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมงไปสู่ นครเชียงใหม่ หมุดหมายหลักที่ยิ่งใหญ่ และน่าดึงดูดใจกว่าหลายเท่า หากแต่การเดินทางที่รีบเร่งด้วยพาหนะส่วนตัวของคนจำนวนมาก ที่ต่างเหยียบคันเร่งตะบึงมิดผ่านไปสู่จุดหมายอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้เราตกหล่นสถานที่ดีๆ อีกมากที่มักซ่อนตัวอยู่ตามรายทาง ดังเช่น สะพานข้ามทางรถไฟที่มีชื่อแปลกหู แต่มีเสน่ห์มัดใจชวนให้ค้นหา ที่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์คู่เมืองลำพูน และเป็นฉากประวัติศาสตร์ความท้าทายของการสร้างทางรถไฟสายเหนือ ที่คู่ควรแก่การได้ไปสัมผัสชมซักครั้งครับ.. สะพานดังกล่าวคือ ‘สะพานขาวทาชมภู’ ที่วางตัวงดงามทอดข้ามลำน้ำแม่ทา ที่มีเทือกดอยขุนตานตระหง่านเป็นฉากหลัง ตั้งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟขุนตาน กับสถานีทาชมภู ในเขตบ้านทาชมภู ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา ห่างจากตัวเมืองลำพูนราว 30 กิโลเมตร ถูกก่อสร้างเชื่อมต่อมาจาก ‘อุโมงค์รถไฟขุนตาน’ อันเลื่องชื่อที่อยู่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร เพื่อให้ขบวนรถที่เดินทางจากลำปาง มายังเชียงใหม่ บนเส้นทางสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ แล่นข้ามผ่านลำน้ำแม่ทา โดยโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือในสยาม เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ที่มีจุดตั้งต้นมาจากอยุธยา ปากน้ำโพ พิษณุโลก ผ่านเขตป่าเขากันดารของเมืองแพร่ จนถึงเมืองลำปาง กว่าจะเสร็จสิ้นลงที่เมืองเชียงใหม่ ล้วนต้องผ่านอุปสรรค ฝ่าด่านปราการธรรมชาติอันยากลำบาก โดยเฉพาะการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาน ประจวบกับห้วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้น ซึ่งหลังจากที่ ‘อุโมงค์ขุนตาน’ ได้ถูกขุดเจาะทะลุต่อเนื่องถึงกันแล้ว แผนงานก่อสร้างทางรถไฟ และสะพานข้ามลำน้ำแม่ทา ที่เชื่อมต่อมาจากปากอุโมงค์ขุนตาน ก็ถูกกำหนดวางเอาไว้ในปี พ.ศ. 2461 แต่ก็ต้องมาประสบเข้ากับอุปสรรคใหญ่ ด้วยวิกฤตการขาดแคลนเหล็กที่ต้องนำมาใช้ก่อสร้าง รวมไปถึงเหล่านายช่างใหญ่ และวิศวกรรถไฟชาวเยอรมัน ที่ต่างก็เป็นแกนหลักในการคุมงานก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ ก็ต้องทยอยเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของตัวเอง ทำให้ภาระความรับผิดชอบจึงตกมาสู่ ‘นายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน’ ผู้บัญชาการกรมรถไฟ เวลานั้น ที่ต้องเข้ามาสานต่อการคุมงานทั้งหมดให้แล้วเสร็จทันกาล พระองค์จึงแก้ปัญหาด้วยการให้ปรับประยุกต์โครงสร้างสะพานขึ้นใหม่ โดยนำคอนกรีตเสริมเหล็ก เข้ามาใช้เป็นวัสดุหลักแทนที่ ผสานกับเทคนิคการก่อสร้าง และรูปแบบวิศวกรรมที่แพร่หลายอยู่ในทวีปยุโรป เข้ามาใช้เป็นครั้งแรก เอกลักษณ์เฉพาะตัวของสะพานแห่งนี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กรูปทรงครึ่งโค้งวงกลมฉาบทาด้วยสีขาวตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก แบ่งออกเป็น 2 ช่วงความยาว ที่ดูสมบูรณ์และอ่อนช้อยไปในตัว ใช้เป็นตัวพยุงน้ำหนักทางรถไฟที่ทอดข้ามแม่น้ำเอาไว้ แทนที่โครงเหล็กสีดำ ดังเช่นสะพานข้ามทางรถไฟ ที่เราเห็นได้ทั่วไปอย่างชินตา โครงสร้างนี้ยังกินความยาวลึกลงไปจนถึงส่วนของตอม่อสะพาน ที่ตั้งอยู่กลางน้ำ เสมือนหนึ่งว่าทั้งโครงสะพาน และตอม่อ ได้ถูกหลอมรวมเข้าจนเป็นโครงสร้างหนึ่งเดียวกัน และด้วยพระอัจฉริยภาพการคำนวณที่แม่นยำทางด้านวิศวกรรม และการควบคุมงานก่อสร้างที่ละเอียดละออของ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน’ ที่ต้องไม่ทำให้โครงคอนกรีตที่มีคุณสมบัติความอ่อนตัวต่ำกว่าเหล็ก เกิดความเสียหายในยามที่ต้องรับน้ำหนักแรงกระแทกของรถไฟเป็นเวลานาน สะพานขาวทาชมภู จึงสร้างเสร็จสิ้นลงในปี พ.ศ. 2463 และได้ลบคำปรามาส ที่คนในสมัยนั้นกล่าวว่าอายุของสะพานอาจจะพังทลายลงมาในช่วงเวลาไม่ถึงเพียงครึ่งปี แต่นับจนถึง พ.ศ.2567 นี้ โครงสะพานโค้งฉาบทาสีขาว ที่ทอดข้ามลำน้ำสายน้อย และมีฉากขุนเขาเขียวครึ้มทะมึนอยู่เบื้องหลัง ที่เปรียบดังอนุสรณ์ที่ยังมีลมหายใจของการสร้างทางรถไฟสายเหนือ กลับยังคงยืนเด่นทนกาล รองรับขบวนรถไฟสายเหนือทั้งสายขึ้น - ล่อง มาจนครบ 104 ปี อย่างสง่างาม ผมยังจดจำได้ว่า คล้อยเย็นของต้นฤดูหนาววันนั้น บรรยากาศรอบ สะพานขาวทาชมภู ที่เราได้สัมผัส หลังจากได้หักเลี้ยวรถยนต์คู่ใจออกมาจากถนนสายหลักที่กำลังมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองลำพูน ราว 10 กว่ากิโลเมตรนั้น คึกคักมากสีสันไปด้วยผู้คน และนักท่องเที่ยวหลายรุ่นวัย ที่ต่างตั้งใจมาเยี่ยมชม สะพานรถไฟแห่งนี้ด้วยกันทั้งสิ้น กระทั่งถึงช่วงเวลาที่ โบกี้ของขบวนรถดีเซลรางขบวนหนึ่งซึ่งมุ่งหน้าออกจากสถานีเชียงใหม่ กำลังจะแล่นผ่านโค้งราวสะพาน เพื่อมุดลอดสู่อุโมงค์ขุนตาน ที่อยู่เบื้องหน้าอีกไม่กี่อึดใจ เหล่านักท่องเที่ยวจึงต่างพร้อมใจกันบันทึกภาพ แห่งความประทับใจที่แสนจะเรียบง่ายสามัญนั้น กันอย่างพร้อมเพรียง สำหรับผมช่วงเวลาที่ได้มาสัมผัสกับ สะพานขาวทาชมภู ยังทำให้หวนระลึกไปถึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดดราม่าเนื้อหาอบอุ่น ที่มีฉากหลังเป็นชนบทอันสวยงาม โดยเฉพาะฉากสะพาน และเส้นทางรถไฟที่แสนโรแมนติกหลายเรื่องที่อยู่ในความทรงจำก็ผุดพรายขึ้นชัดเจนอีกครั้ง แต่ฉากสะพานขาวทาชมภูในวันนี้ ก็ต่างออกไปจากเมื่อหลายสิบปีก่อน มันไม่ใช่สถานที่ลับ ซีเคร็ท ที่สงวนไว้แก่นักเดินทางเฉพาะกลุ่มที่ต้องมุ่งมั่นบากบั่นมาเยือนอีกต่อไป เพราะถนนลาดยางอย่างดีได้ทอดตัวยาวมาถึงที่นี่อย่างสะดวกสบาย บรรยากาศรายรอบล้วนครบครันทั้ง ร้านอาหาร รีสอร์ท ร้านกาแฟ คาเฟ่สวยที่ตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ ไปจนถึงลาน Camping และกอล์ฟคลับ ที่ล้วนปลูกสร้างอิงแอบกับความงามของ สะพานขาวทาชมภู อยู่ไม่ห่าง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มทวีขึ้น รวมไปถึงความสะดวกสบายในการเข้าถึง ก็หาใช่สิ่งที่จะลดทอนเสน่ห์ คุณค่า และความน่าหลงใหลต่อสะพานข้ามทางรถไฟแห่งนี้ ลงไปแม้แต่น้อย และแม้ว่า สะพานขาวทาชมภู แห่งเมืองลำพูน ที่เรามีโอกาสไปเยือนนั้น อาจหาใช่สิ่งปลูกสร้างจากสมัยอดีตที่ยิ่งใหญ่ หรือมีประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นไปด้วยเลือดเนื้อของผู้ที่อยู่เบื้องหลังมัน ดังเช่น สะพานข้ามแม่น้ำแคว แห่งแผ่นดินเมืองกาญจน์ แต่อย่างใด แต่สำหรับผู้ที่หลงใหลในโลกของขบวนรถไฟแล้ว แค่เพียงได้ทอดตาชมฉากสะพาน ผืนน้ำ และโบกี้หัวรถจักร ขณะเคลื่อนแล่นผ่านไปบนรางเหล็ก ก่อนที่จะลับสายตาไป เพียงเท่านี้ก็ทำให้ห้วงอารมณ์ของเรา ได้ดำดิ่งสู่คืนวันแห่งอดีตที่งดงาม ได้อย่างสุขใจแล้วครับ… และท้ายสุด..ปริศนาของชื่อ สะพานขาวทาชมภู ที่ถูกเรียกขานเอาไว้อย่างน่าฉงน และเหมือนจะยังไม่ได้ถูกคลี่คลายอย่างชัดเจน ผมขอทิ้งเอาไว้เป็นคำถามปลายเปิด ให้ผู้อ่านได้ลองค้นหาคำตอบกันดูสักครั้ง ก่อนที่จะออกเดินทางไปเยือนกันครับ... ที่ตั้ง สะพานขาวทาชมภู : บ้านทาชมภู ตำบลทาปลาดุก อ.แม่ทา จังหวัดลำพูน การเดินทาง : โดยรถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข11 (ซูเปอร์ไฮเวย์) มุ่งหน้าสู่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ก่อนข้ามทางรถไฟให้เลี้ยวซ้ายไปทางเดียวกับเส้นทางสู่ อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ขับเข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร จะมองเห็นสะพานตั้งอยู่ใกล้กับ วัดทาชมภู เครดิตภาพทั้งหมดโดย : ผู้เขียน (Ruttapol Srivilas) ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva โดย : ผู้เขียน (Ruttapol Srivilas) เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !