รีเซต

ประวัติจังหวัด ระนอง เมืองฝนแปดแดดสี่ แหล่งบ่อน้ำร้อนออนเซ็นเมืองไทย

ประวัติจังหวัด ระนอง เมืองฝนแปดแดดสี่ แหล่งบ่อน้ำร้อนออนเซ็นเมืองไทย
Muzika
16 กันยายน 2564 ( 17:24 )
7.1K

     ระนอง 1 ในจังหวัดที่นักเดินทางสายชิลต่างให้การยอมรับกันมานาน มีที่เที่ยวหลากหลายไม่ว่าจะทะเล น้ำตก ป่าเขา รวมไปถึงแหล่งแช่น้ำร้อนชื่อดังที่มีความดีงามไม่ต่างจากได้ไปแช่ออนเซ็นที่ญี่ปุ่นเลย แถมบรรยากาศของเมืองยังมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี สมชื่อฉายา "เมืองฝนแปด แดดสี่" กันเลนทีเดียว เป็นที่ถูกใจไม่น้อยสำหรับใครที่ชอบความเย็นสบายชุ่มฉ่ำ นอนเล่นฟังเสียงฝนพรำเพลินๆ ไปได้ทั้งวัน เราลองไปทำความรู้จักกับ ประวัติจังหวัดระนอง กันดีกว่า ว่าเมืองเล็กสุดชิลแห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร

 

 

ข้อมูลเบื้องต้น จังหวัดระนอง จังหวัดแรกของภาคใต้ที่อยู่ฝั่งทะเลอันดามัน

 

     ระนอง ทางทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า และทะเลอันดามัน ส่วนที่แคบที่สุดของจังหวัดคือที่อำเภอกระบุรี คือกว้างเพียง 9 กิโลเมตร หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม คอคอดกระ นั่นเอง คำว่า ระนอง เพี้ยนมาจากคำว่า แร่นอง เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดมีแร่อยู่มากมาย นอกจากนี้คำว่าระนองยังมีเสียงใกล้เคียงภาษาอินโดนีเซียว่า ระนาห์ (Ranah) หมายถึงทุ่งหญ้า หรือเทือกเขาที่ทอดยาวอีกด้วย

 

Nor Gal / Shutterstock.com

 

     จังหวัดระนองได้ชื่อว่าเป็นเมือง ฝนแปด แดดสี่ เพราะมีช่วงฝนตกยาวนานถึง 8 เดือน และฝนแล้งเพียง 4 เดือน นับเป็นจังหวัดที่ฝนตกชุกมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากอยู่ติดกับทะเลอันดามัน ทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างมาก

 

ประวัติศาสตร์ จังหวัดระนอง 

 

 

     เรื่องราวของจังหวัดระนองนั้นว่ากันว่านับย้อนไปได้ไกลถึงสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา แต่ด้วยความที่เมื่อก่อนไม่มีหลักฐานปรากฏว่าระนองมีสภาพบ้านเมือง มีความเป็นอยู่อย่างไร เข้าใจว่าเป็นเพียงดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเจริญรุ่งเรืองทางตอนใต้ในสมัยนั้น ต่อมาก็อยูในฐานะหัวเมืองเล็กๆ ที่มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองชุมพร ไปตลอดจนถึงสมัยกรุงธนบุรี 

 

     กระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองระนองมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดาร ในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ว่าเป็นเมืองหนึ่งที่พม่ายกทัพผ่านเข้ามาเพื่อไปตีเมืองชุมพรเท่านั้น ยังไม่มีความสำคัญ และยังไม่มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากิน กระทั่งมีการค้บพบสายแร่ดีบุก หรือที่แต่ก่อนจะเรียกกันว่า "ตะกั่วดำ" ซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์มากในแถบนี้

 

     ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวจีนฮกเกี้ยน ชื่อ "คอซู้เจียง" ได้ยื่นขอประมูลอากรดีบุกในเขตเมืองระนอง และเมืองตระซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดอนุญาต พร้อมกับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คอซู้เจียงเป็น หลวงรัตนเศรษฐี ดำรงตำแหน่งนายอากรเมืองตระ และเมืองระนอง ในปี พ.ศ. 2397

 

     เมื่อพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และรัฐบาลอังกฤษได้จัดการปกครองหัวเมืองที่ได้ไปจากพม่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าเมืองระนอง และเมืองตระ ที่เป็นเมืองขึ้นอยู่ในเมืองชุมพรคงจะรักษาราชการทางชายแดนไม่สะดวก จึงโปรดฯ ให้ยกเมืองตระ และเมืองระนอง เป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อตำแหน่งเจ้าเมืองระนองว่างลง เนื่องจากหลวงระนองถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ หลวงรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขึ้นเป็นพระรัตนเศรษฐี เป็นเจ้าเมืองระนอง เมื่อ พ.ศ. 2405 

 

 

     ท้ายที่สุด เมืองระนอง ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2479 โดยอาศัยส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัดระนองหลังเก่า หรือ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ เป็นที่ตั้งสํานักงาน ซึ่งพระที่นั่งแห่งนี้ ถือเป็นเป็นเกียรติประวัติ และความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดระนอง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ และแหลมมลายู ทรงแวะประทับจังหวัดระนองระหว่างวันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2433 ในครั้งนั้นพระองค์ยังได้พระราชทานนามพลับพลาที่ประทับ คือ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ และเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของพระที่นั่ง ฯ ชื่อว่า เขานิเวศน์คีรี

 

คำขวัญประจำจังหวัดระนอง


     "คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง"

 

สถานที่เที่ยวน่าสนใจในจังหวัดระนอง

 

 

     แน่นอนว่าเอ่ยถึงระนอง ก็ต้องคิดถึงบ่อน้ำแร่ ที่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น บ่อน้ำร้อนรักษะวาริน ที่ไปง่ายเพระาตั้งอยู่ในตัวเมืองระนองเลย ทางด้านที่เที่ยวทางทะเลก็ต้องเป็น เกาะพยาม ที่ขึ้นชื่อในเรื่องทะเลสวย น้ำใสสีฟ้าอ่อนๆ โดยไม่ต้องบินไปไกลถึงมัลดีฟส์ และเกาะช้าง เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของระนอง เป็นต้น

====================

อ้างอิง :

 

ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<