รีเซต

ประวัติ ท่าเตียน ย่านเก่ากรุงเทพ กับตำนานเมืองยักษ์วัดแจ้ง ยักษ์วัดโพธิ์

ประวัติ ท่าเตียน ย่านเก่ากรุงเทพ กับตำนานเมืองยักษ์วัดแจ้ง ยักษ์วัดโพธิ์
Muzika
29 ธันวาคม 2564 ( 17:13 )
6K

     "เจ้ายักษ์วัดแจ้ง ท้าตีท้าแทงกับยักษ์วัดโพธิ์ แน่ะ เฮ้ย ทุย ป๊ะทุมทุย" เนื้อเพลงนี้ใครเคยได้ยินคงบ่งบอกอายุได้เป็นอย่างดี แต่สงสัยกันหรือไม่ครับว่าทำไมยักษ์จาก 2 ฝั่งนี้ถึงต้องมาตีกันด้วย วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ท่าเตียน ย่านเก่ากรุงเทพ ซึ่งเป็นตลาด และท่าเรือเก่าแก่ของเขตพระนคร กรุงเทพมหานครนั่นเอง 

 

Kittipong Chararoj / Shutterstock.com

 

ประวัติ ท่าเตียน ย่านเก่ากรุงเทพ

 

     ท่าเตียน ตั้งอยู่บนถนนมหาราช บริเวณด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มองไปฝั่งตรงข้ามเยื้อง ๆ จะเป็นวัดอรุณ และท่าเรือวัดอรุณ แม้ปัจจุบันที่นี่จะเป็นย่านท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวสะพายกล้อง โฮสเทล ร้านอาหาร และคาเฟ่มากมาย แต่เมื่อก่อนนั้นเคยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเริ่มก่อตั้งเมื่อใด แต่ก็มีเรื่องเล่าต่อกันมา โดยแบ่งออกเป็น 2 เรื่องเล่า ดังนี้

 

  • ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ที่แถบนี้เคยเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ จนราบเรียบเหี้ยนเตียน กลายเป็นชื่อ ท่าเตียน ในที่สุด
  • เชื่อว่ามาจาก "ฮาเตียน" เมืองท่าแห่งหนึ่งในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเกียนซาง) เนื่องจากแถบนี้ในอดีตเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวญวนอพยพหนีภัยสงครามจากเว้ ตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชาวญวนเหล่านี้ได้เรียกชื่อถิ่นฐานนี้ว่าฮาเตียน เนื่องจากมีภูมิทัศน์คล้ายกับบ้านเกิดที่จากมา เพื่อคลายความคิดถึงถิ่นฐานตนเอง และได้เรียกเพี้ยนมาเป็นท่าเตียนในที่สุด

 

 

     ในส่วนของตลาดท่าเตียนนั้น  เนื่องจากบริเวณนี้เป็นท่าจอดเรือที่มีชัยภูมิดีมาก ผู้คนอาศัยอยู่คึกคัก บรรดาพ่อค้าแม่ขายจึงนิยมนำสินค้าหลากหลายประเภทมาขายกันที่นี่ ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีชื่อเรียกว่า "ตลาดท้ายวัง" หรือ "ตลาดท้ายสนม" กินอาณาบริเวณตั้งแต่ถนนท้ายวังจนถึงตลาดท่าเตียนในปัจจุบัน เป็นตลาดที่บรรดานางในหรือนางสนมจะออกจากกำแพงพระบรมมหาราชวังมาจับจ่ายซื้อข้าวของต่าง ๆ โดยสินค้าที่นิยมมากที่สุด คือ ดอกไม้ ต่อมาได้รวมเป็นตลาดเดียวกับตลาดท่าเตียน

 

     นอกจากนี้ ยังเป็นชุมทางคมนาคมทางน้ำสำคัญในอดีตด้วย สมัยก่อนจะมีเรือเมล์ข้ามระหว่างจังหวัดเลย แต่หลังจากเริ่มมีถนนเกิดขึ้นขึ้น การเดินทางด้วยเรือเมล์จึงค่อยๆ จางหายไป

 

     จนสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มมีการสร้างอาคารขึ้นมา ใช้สถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก และมีของขายหลากหลายมากขึ้น จนกลายเป็นแหล่งค้าส่งแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งวัสดุก่อสร้าง เครื่องตัดหญ้า อะไหล่รถยนต์ ผักและผลไม้ น้ำตาล ลูกอม รวมถึงอาหารทะเลแห้ง ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ท่าเตียนมีสถานะเป็นตำบลชื่อ "ตำบลท่าเตียน" ขึ้นอยู่กับอำเภอพระราชวัง (เขตพระนครในปัจจุบัน) ปัจจุบันอาคารพาณิชย์ตลอดจนบ้านเรือนต่าง ๆ ได้รับการบูรณะปรับปรุงโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปี พ.ศ. 2556 ให้ดูทันสมัย และสวยงามยิ่งขึ้น

 

 

ตำนาน ยักษ์วัดแจ้ง ท้าตีกับยักษ์วัดโพธิ์

 

 

     นี่นับเป็นตำนานเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่ง เล่ากันว่า ยักษ์เฝ้าประตูวัดทั้งสองฟาก คือ ยักษ์วัดแจ้ง จากฝั่งธนบุรี และยักษ์วัดโพธิ์ จากฝั่งพระนคร เข้าต่อสู้กันเพราะผิดใจกันเรื่องเงินๆ ทองๆ ตีกันจนในถึงขั้นทำให้บริเวณนี้เหี้ยนเตียนราบเรียบไปจนหมด ซึ่งในบางตำนานก็มีการเสริมเติมแต่งเข้าไปอีกว่า ที่ยักษ์ทั้งสองตนนั้นหยุดสู้กันเพราะมีโยคีหรือฤๅษีมาห้าม บ้างก็ว่าเป็นยักษ์วัดพระแก้วเข้ามาห้าม

====================

 

ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<