“ลับแล” มีอะไร ถ้าไม่ใช่ทุเรียน ลองกอง ข้าวแคบกับตำนานเมืองแม่หม้าย นี่เป็นคำถามสำหรับผมที่มีโอกาสมาเยือนเมืองลับแลแห่งนี้ เมืองที่ใครเข้ามาแล้วห้ามพูดโกหก ตามตัวอักษรบนป้ายด้านขวามือของซุ้มประตูสีทองสูงใหญ่ก่อนเข้าเขตตัวเมืองลับแล ประตูเมืองที่ดูอลังการน่าเกรงขามเหมือนกำลังจะเข้าไปในเมืองเก่าผ่านประตูมิติแห่งกาลเวลา แต่ผมยังไม่เข้าไปหรอก จะไปหาข้อมูลที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแลก่อนว่าเป็นยังไง จึงได้ข้อมูลล่าสุดว่ามีเส้นทางแนะนำให้ปั่นจักรยานเที่ยวรอบเมืองลับแล ผมดูแผนที่และเส้นทางแล้วเห็นว่า จุดที่จะไปไม่ไกลมากและใช้เวลาไม่เยอะ น่าจะราว 2 ชั่วโมงได้ จะรออะไรละครับ ผมก็เลยขอเช่า 1 คัน แต่เจ้าหน้าที่บอกไม่ได้ให้เช่าแต่ให้ยืมใช้ฟรี ปั่นไปตามแผนที่และจุดพักต่าง ๆ ค่อยเอามาคืนที่นี่ ผมจึงแลกบัตร คว้าแผนที่และปั่นจักรยานออกมาอย่างรวดเร็ว สถานที่แรกซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของผมทุกครั้งก่อนจะซอกแซกไปในพื้นที่ คือ ต้องศึกษาหาข้อมูลและเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นนั้น ๆ ให้มากที่สุด ยิ่งเป็นข้อมูลที่เชื่อมโยงอดีตถึงปัจจุบันได้ยิ่งดี ดังนั้น ถ้ามาที่นี่ก็ต้องไปที่พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล เป็นอันดับแรกก่อน ซึ่งจะเป็นสถานที่เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนลับแล ทำให้เราได้รู้เรื่องราวความเป็นมาและตำนานว่า เมือง “ลับแล” ที่จริงคือเมือง “ลับแลง” ในภาษาพื้นเมืองภาคเหนือที่มีความหมายว่า “หายไปในเวลาเย็น” เพราะพื้นที่แห่งนี้เดิมเป็นป่ารกทึบและมีภูเขาสูงสลับซับซ้อน พระอาทิตย์ยังไม่ตกดินก็มืดแล้ว เพราะมียอดเขาบังพระอาทิตย์ไว้ ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็นเมืองลับแล หมายถึง ลึกลับ แอบอยู่ หาไม่เจอ ซึ่งเข้ากับตำนานเมืองแม่ม่ายลึกลับ ที่มีเรื่องราวเอ่ยถึงสัจจะวาจาของคู่รักในครั้งกระโน้นได้อย่างพอดิบพอดี ภายในพิพิธภัณฑ์มีเรือนชาวลับแล มีนิทรรศการเล่าเรื่องภาษา การจำลองวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นและจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อน ที่ด้านข้างเป็นที่ตั้งของประติมากรรมแม่ม่ายเมืองลับแลและประวัติให้อ่านพอสังเขป ทำให้พอเข้าใจเมืองลับแลได้อีกมากโขเลย จากนั้น ผมก็ปักหมุดจุดที่จะไปให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง ระยะทางรวม 2 กิโลเมตร ทีแรกคิดว่าจะปั่นผ่านซุ้มประตูไปในเมืองตามเส้นทางปกติในเอกสารแนะนำ แต่เห็นว่าไปได้หลายทาง จึงตั้งต้นปั่นไปตามถนนด้านทิศเหนือของศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล ผ่านทุ่งนา เลาะริมคลอง ผ่านไร่กระเทียมที่กำลังเติบโตสวยงาม พอเข้าเขตหมู่บ้านก็เจอกับโรงเรือนเก็บกระเทียมขนาดใหญ่ที่ตากกระเทียมเป็นแผงยาวเกือบ 20 เมตร ผ่านบ้านที่กำลังทำแผ่นแป้งสำหรับใช้ม้วนข้าวแคบ จึงเข้าไปพูดคุยทราบว่า ทำกันมา 3 ชั่วอายุแล้วทำเป็นอาชีพเสริมนอกจากทำนาข้าวและทำไร่กระเทียม แผ่นแป้งที่สำเสร็จแล้วส่วนใหญ่ก็เอาไปขายส่งให้กับร้านต่าง ๆ ในเมืองลับแล จากนั้นก็เร่งสปีดปั่นไปที่ “ม่อนจำศีล” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์บ้านต้นม่วง ที่นับว่าเป็นหนึ่งในสักการะสถานสำคัญ ที่ใครมาเมืองลับแลแล้วห้ามพลาดเด็ดขาด ทางขึ้นไปด้านบน เป็นบันไดพญานาค 3 เศียร 2 องค์ซ้ายขวา มีกายสีขาวขนาดใหญ่ สวยงามน่าเกรงขาม พอขึ้นไปได้ครึ่งทางก็จะเจอเทวดา 3 องค์กับพญายักษ์ 3 ตน ช่วยกันพยุงลำตัวพญานาคไว้คนละฝั่ง เดินขึ้นไปอีกราว 25 เมตรก็มาถึงยอดม่อนจำศีล ด้านบนนี้มีมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัยศิลปะแบบเชียงแสนให้กราบไหว้บูชา ส่วนเนินเขาด้านหลังมณฑปในเอกสารแนะนำบอกว่า เป็นปากถ้ำสำหรับเข้าไปเมืองลับแลแม่หม้าย ที่นั่นมีเพชรนิลจินดามากมากนับไม่ถ้วน ผมรีบจ้ำอ้าวไปอย่างเร็ว ผ่านป่าโปร่งและทางคดเคี้ยวไม่นานก็มาถึง แต่ปรากฏว่า ปากถ้ำเข้าเมืองลับแลถูกดิน หินและใบไม้ปิดไว้ เข้าไปไม่ได้ รอบ ๆ มีก้อนหินถูกทาสีทองบอกไว้ว่าเป็นบริเวณปากทางเข้าเท่านั้นเอง น่าเสียดายจริง ๆ ระหว่างเดินกลับไปที่มณฑปเพื่อกราบลาพระบนยอดเขา จากนั้นเดินลงไปที่เชิงเขาด้านล่าง ได้มีโอกาสเดินช้า ๆ สังเกตต้นสักยืนต้นทิ้งใบเหลือแต่กิ่งก้านโกร๋น ๆ แทงไปบนฟ้า ใบหญ้าที่เริ่มแตกหน่อแทงยอดและผลิใบใสบางเหมือนทำจากแก้วสีต่าง ๆ ก้อนหินน้อยใหญ่เป็นกลุ่มก้อนเหมือนปฎิมากรรมธรรมชาติเกลื่อนม่อนจำศีล พลางคิดได้ว่า หรือนี่คือ นัยยะแห่งลับแลที่ให้เราแลหา ความงามและคุณค่าของธรรมชาติที่จะคอยเกื้อกูลและโอบอุ้มเราไม่สิ้นสุด ผมปั่นจักรยานกลับไปตามเส้นทางเดิมอย่างช้า ๆ ไม่ได้เข้าเขตเมืองตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก ระหว่างที่ปั่นกลับก็ทบทวนความรู้สึกและระลึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เห็นได้สัมผัสตลอดเส้นทางปั่นจักรยาน โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่า ๆ ก็มาถึงยังจุดรับคืนจักรยานซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลพอมองเห็นประตูเมืองลับแลได้อย่างชัดเจน “พี่ปั่นเข้าประตูเมืองแล้วหรือยัง เป็นไงบ้างคะ” เจ้าหน้าที่ถามพร้อมกับยื่นบัตรประชาชนคืนให้ ผมผงะหัวและยิ้มให้พลางเดินออกมาช้า ๆ แล้วตอบในใจตัวเองว่า “ครับ ผมได้เข้าเมืองลับแลไปแล้ว แต่ไม่ได้ปั่นผ่านประเมืองตู แต่ผ่านประตูใจครับ” ที่ตั้ง : ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เวลาเปิด-ปิด : 09.00-16.00 น.(กรณีใช้บริการปั่นจักรยานเที่ยว) โทร. 055 431076 สิ่งที่น่าสนใจ : ธรรมชาติวิถีชุมชน/การทำข้าวแคบ/ม่อนจำศีล/ปากถ้ำเข้าเมืองลับแล/พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน : อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ฟรี