เจดีย์สีทอง ถูกขนาบข้างด้วยพญานาค ตั้งตระหง่านโดนเด่นอยู่ที่ริมน้ำกว๊าน คนพื้นถิ่นเค้าจะเรียกชื่อกันง่าย ๆ แบบนี้ แต่ชื่อที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการก็คือ “กว๊านพะเยา” ที่แห่งนี้คือทะเลสาบอันแสนกว้างใหญ่อีกหนึ่งแห่งของภาคเหนือ คำว่า “กว๊าน” คือภาษาถิ่น แม่บอกไว้แบบนี้ เพราะตอนเด็ก ๆ เราเคยถามแม่ถึงความหมายของคำนี้ด้วยเหมือนกัน... ถนนสายหลักลำปาง-เชียงราย เป็นเส้นทางที่เราใช้สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ หากไม่ได้เปิด GPS นำทาง ก็หาได้ไม่ยาก เพราะเส้นทางไปถึงกว๊านพะเยาไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย จุดที่นักท่องเที่ยวและคนท้องที่จะให้ความเคารพนับถือเสมอ คือ “อนุสาวรีย์พญางำเมือง” ในอดีตท่านคือกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองภูกามยาว (พะเยาในปัจจุบัน) ซึ่งเราอยากจะบอกว่า กว๊านพะเยาในวันนี้ ดูสวยงาม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าเที่ยวมากกว่าหลายปีก่อนอย่างมาก เรามาถึงที่กว๊านพะเยาในช่วงเวลาเช้าตรู่ ประมาณ 7 โมงเช้าเห็นจะได้ ที่มุมเล็ก ๆ ในภาพ จะสังเกตได้ว่า ที่บึงแห่งนี้ ยังคงมีไอหมอกล่องลอยอยู่บนผืนน้ำ และยามเช้าแบบนี้ เหมาะอย่างมากในการออกกำลังกาย สถานที่แบ่งแยกชัดเจน มีทั้งถนนคนเดิน-วิ่ง และถนนของนักปั่น เรื่องอันตรายจะมีบ้าง ก็ตรงที่นักท่องเที่ยวเผลอไปใช้พื้นที่จักรยาน แต่เท่าที่เห็น ต่างคนก็ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป ส่งสัญญาณให้กัน ซึ่งเป็นภาพที่น่ารักมาก ป้ายไม้ใหญ่สีน้ำตาล สลักตัวอักษร “กว๊านพะเยา” เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะสลับสับเปลี่ยนกันมาถ่ายภาพเสมอ ในวันที่อากาศเย็นสบาย เราจะได้พื้นหลังขาว ที่เต็มไปด้วยไอหมอกเหมือนในภาพนี้ ส่วนยามเย็นที่พระอาทิตย์กำลังอัสดง พื้นหลังจะกลายเป็นสีทองโดยพลัน เพราะเบื้องหนาคือทิศตะวันตก ม้านั่งหินจะเรียงรายเป็นแถวยาวไปไกลพอสมควร เป็นทั้งที่นั่งชมวิวของนักท่องเที่ยว เป็นจุดตกเบ็ดของคนในท้องถิ่น เป็นที่นั่งขายสินค้าของแม่ค้าหาบเร่ หากจะถามถึงความร่มรื่น ก็เป็นไปตามสภาพอากาศ หากวันไหนแดดร่มลมตก หรือช่วงเย็น คาดว่าจะนั่งกันอย่างสบายอารมณ์แน่นอน ศาลาหลังคาแดงแห่งนี้ ด้านในสามารถเข้าไปนั่งเล่นได้ แต่ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้า มาตั้งจุดขายอาหารปลาอยู่ด้วย เรียกว่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมบุญทำกันดีกว่าเน๊อะ... และมองลึกเข้าไปที่ด้านหน้าศาลา คือกระชังปลาน้ำจืดนานา ๆ ชนิด ซึ่งต้องบอกก่อนว่า เป็นอีกหนึ่งจุดเที่ยวชมที่น่าสนใจมาก “โครงการเลี้ยงปลาในกระชังเชิงอนุรักษ์” ในป้ายเขียนบอกเอาไว้แบบนี้ ส่วนจะนำไปขายที่ไหน อย่างไร เราไม่ได้สอบถามมา ซึ่งจริง ๆ ก็อยากรู้เหมือนกัน ว่ามีการสร้างรายได้กันอย่างไร เพราะแถวริมกว๊าน เป็นร้านอาหารแทบทั้งสิ้น ไม่แน่ใจว่าเมนูปลาได้มาจากแหล่งนี้หรือไม่ เอาเป็นว่าครั้งหน้าจะไปไขข้อข้องใจอีกทีละกัน แต่มองจากทั้ง 2 ภาพด้านบนแล้ว เราจะเห็นว่า โซนนี้ไม่ใหญ่ไม่เล็กมาก และเป็นจุดถ่ายภาพที่น่าสนใจทีเดียว เพราะเบื้องหลังสุดสายตาทางโน่น คือ “วัดติโลกอาราม”... เพื่อน ๆ คงมีคำถามว่า “แล้วไง?” เดี๋ยวเราจะค่อย ๆ เล่าไปตามภาพละกันนะ ถัดจากศาลากระชังปลา คือท่าเรือ ซึ่งเป็นจุดแรกของการล่องเรืองพาย เพื่อไปยัง “วัดติโลกอาราม” ค่าใช้จ่ายในการล่องเรืองคนละ 150 บาท 1 ลำนั่งได้ 10 คน ใช้เวลา 1.30 ชั่วโมง (โดยประมาณ) นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาว บัวแดงจะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่ง ให้นักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย ...มาเที่ยวครั้งนี้ เราไม่ได้นั่งเรือ เพราะรีบไปจุดหมายอื่น แต่มีภาพเก่า ๆ มาเล่าอยู่นะ “วัดติโลกอาราม” ในตำนานเล่าว่า จมอยู่ใต้กว๊านพะเยา เพราะในปี 2482 กรมประมงได้ก่อสร้างประตูกั้นน้ำ ทำให้น้ำแม่อิงและลำน้ำสาขา ไหลลงมาจากทิวเขาผีปันน้ำ เข้าท่วมชุมชนโบราณแห่งนี้ จนเกิดทะเลสาบน้ำจืดขึ้นมา ก็คือ “กว๊านพะเยา” มีเพียงยอดพระธาตุเท่านั้น ที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ทราบมาว่ามีหลักศิลาจารึก ที่ระบุชื่อวัดแห่งนี้เอาไว้ ดังนั้นชื่อ “วัดติโลกอาราม” จึงเป็นชื่อดั่งเดิมมาแต่โบราณกาล เรามีภาพเก่าที่ยังพอหาได้ไม่กี่ใบ และในภาพนี้เป็นหนึ่งในนั้น จำได้ว่าในเรือนั่งกันอย่างเงียบสงบ เชื่อว่าทุกคนไม่ได้กลัวอันตราย แต่อยากเก็บบรรยากาศเหล่านี้ เอาไว้ในความรู้สึกเพื่อจดจำให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ และเราเป็นคนหนึ่งที่กลัวการท่องเที่ยวประเภทน้ำลึกแบบนี้มาก เพราะว่ายน้ำไม่เป็น แต่สำหรับ “กว๊านพะเยา” เรากลับอยากให้ถึงฝั่งช้าลง... คงเพราะรู้สึกหลงรักวิถีสโลว์ไลฟ์แบบนี้แล้วมั่ง!! เพราะทุกที่มีเรื่องราวต่างกัน หากเพื่อน ๆ มีโอกาส เราอยากให้แวะมาเก็บความทรงจำดี ๆ ที่ “กว๊านพะเยา” กันนะ ที่แห่งนี้ เชื่อว่าผู้มาเยือน จะหลงรักได้ไม่ยาก ... “กว๊านพะเยา” บึงกว้างใหญ่ ในเมืองเล็ก