เมลเบิร์นโด่งดังและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะเมืองน่าอยู่ที่สุดของโลกติดต่อกันหลายปี สะท้อนให้เห็นความใส่ใจในการออกแบบ และบริหารจัดการตัวเมืองที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คน นอกเหนือจากการเป็นเมืองน่าอยู่ของโลกแล้ว เมลเบิร์นยังได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองแห่งวรรณกรรมจากองค์การยูเนสโก ภายใต้โครงการ “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์” (Creative Cities Network) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2547 มีการแบ่งสาขาเมืองสร้างสรรค์ออกเป็น 7 ประเภท ประกอบด้วย 1. เมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature) 2. เมืองแห่งภาพยนตร์ (City of Film) 3. เมืองแห่งดนตรี (City of Music) 4. เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) 5. เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) 6. เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (City of Media Art) 7. เมืองแห่งวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy เมืองแห่งวรรณกรรมถูกลิสต์ขึ้นมาเป็นประเภทแรก และเมืองเมลเบิร์นได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองแห่งวรรณกรรมลำดับที่สองถัดจากเมืองเอดินเบอระ เกณฑ์ในการคัดเลือกเมืองแห่งวรรณกรรมนั้นพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน การเป็นแหล่งรวมนักเขียน สำนักพิมพ์ การมีอยู่ของห้องสมุด ร้านหนังสือ กระทั่งการจัดกิจกรรมนานาที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์วรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง เมลเบิร์นมีทุกอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะประเด็นห้องสมุดและร้านหนังสือ ผู้คนที่มาเยือนเมืองเมลเบิร์นเมื่อกดค้นหาข้อมูลสถานที่ที่ควรไปเยือน ห้องสมุดรัฐวิคตอเรีย (State Library of Victoria) ปรากฏขึ้นเป็นอันดับแรก ๆ เสมอ ห้องสมุดรัฐวิคตอเรีย การเล่นหมากรุกคนหน้าห้องสมุด เพราะอะไร? ห้องสมุดรัฐวิคตอเรีย เป็นห้องสมุดสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดของออสเตรเลีย ทำหน้าที่เก็บข้อมูลอ้างอิง ทั้งหนังสือ วารสาร และสื่อที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของรัฐวิกตอเรียและออสเตรเลีย เปิดให้บริการแก่ประชาชนได้เข้าไปค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือที่มีมากกว่า 2 ล้านเล่ม และยังจัดแสดงงานศิลปะแบบหมุนเวียนตลอดทั้งปี ดึงดูดผู้คนเข้าใช้บริการเกือบ 2 ล้านคนต่อปีกลายเป็นห้องสมุดสาธารณะที่มีคนเข้าใช้บริการลำดับต้น ๆ ของโลก แต่นั่นยังไม่ใช่คำตอบ คำตอบที่แท้จริงอยู่ที่การออกแบบเชิงสถาปัตย์ที่โดดเด่น กระทั่งถูกจัดเป็นหนึ่งในห้องสมุดที่สวยที่สุดของโลก โดยเฉพาะห้องอ่านหนังสือ La Trobe ที่ออกแบบเป็นทรงโดมแปดเหลี่ยม พื้นที่ด้านล่างเป็นที่นั่งอ่านหนังสือ มีโต๊ะยาวแปดตัววางเฉียงจากมุมขอบผนังแปดด้าน มาจรดกันตรงจุดศูนย์กลางของห้อง รองรับผู้เข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือได้จำนวนมาก และมีชั้นหนังสือบรรจุหนังสือได้นับล้านเล่ม ขอบผนังวงแหวนแปดเหลี่ยมทรงสูงมีสามชั้น ผู้ที่เข้ามาในห้องสมุดสามารถขึ้นไปบนขอบวงแหวนชั้นบนเพื่อมองลงมายังพื้นที่นั่งอ่านหนังสือตรงกลางด้านล่างได้ รูปทรงตัวอาคารที่สวยงาม และบรรยากาศการอ่านหนังสือที่ขรึมขลังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวรวมทั้งตัวฉันเองด้วย พากันต่อแถวยาวเพื่อขึ้นลิฟต์ไปชั้นบนสุดของขอบวงแหวน เพื่อถ่ายรูปเก็บบรรยากาศของห้องสมุดที่สวยที่สุดในโลกไว้เป็นที่ระลึก ห้องอ่านหนังสือ La Trobe ออกแบบเป็นทรงโดมแปดเหลี่ยม ห้องสมุดในตัวเมืองโดดเด่น ร้านหนังสือมีบุคลิกเฉพาะตัวไม่แพ้กัน เมลเบิร์นมีทั้งร้านหนังสือขนาดใหญ่ ร้านหนังสืออิสระเฉพาะทางที่มีบุคลิกแตกต่าง หนึ่งในนั้นคือร้าน “Book for Cooks” ร้านหนังสือตรงตลาดวิคเตอเรีย ที่ขนาดไม่ได้เล็กเลย แต่ทั้งร้านมีแต่หนังสือที่เกี่ยวกับอาหารเท่านั้น ฉันเป็นนักอ่าน และชอบเข้าร้านหนังสือ หากหนังสือที่เกี่ยวกับอาหารเป็นประเภทหนังสือที่ฉันไม่สนใจนักเพราะส่วนใหญ่เป็นตำราอาหารต่าง ๆ หาก Books for Cooks พิเศษกว่านั้น มีหนังสือที่เกี่ยวกับอาหารที่ไม่ใช่แค่ตำราอาหาร ทำให้รู้ว่า เรื่องอาหารมีประเด็นให้เล่ามากมาย แล้วก็ชวนสนุกเสียด้วย ยกตัวอย่างกองหนังสือกองหนึ่งที่ทางร้านคัดมาวางตั้งไว้ เป็นหนังสือว่าด้วยเรื่อง “ไข่” โดยเฉพาะ เล่มที่ถูกยกวางบนสุดคือเรื่อง “How to boil and egg” แค่เรื่องต้มไข่ หนังสือเล่มนี้บอกว่า มีวิธีต้มถึง 84 วิธี หรือหมวดหนังสือเกี่ยวกับไวน์ หนังสือที่วางโชว์อยู่คือเรื่อง “Wine from another galaxy” คนสนใจเรื่องไวน์ไม่ลองหยิบขึ้นมาพลิกดูก็ให้มันรู้ไป นั่นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งของหนังสือสนุก ๆ ภายในร้านที่ประกาศตัวว่าเป็นร้านหนังสือเกี่ยวกับอาหารโดยเฉพาะ เหมาะสำหรับเชพมืออาชีพ ผู้ผลิตไวน์ แต่ขณะเดียวกันก็เหมาะกับนักอ่านที่หลงไหลในอาหาร ชอบดูเมนูอาหารต่าง ๆ แต่ไม่เคยลงมือทำ หนังสือภายในร้านมีตำราอาหารจากทั่วทุกมุมโลกรวมทั้งจากประเทศไทยด้วย ทั้งห้องสมุดรัฐวิคตอเรีย และร้านหนังสือ Books for Cooks ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจของตัวเมืองที่เรียกว่า CBD (Central Business District) สามารถเดินทางไปถึงโดยใช้บริการรถแทรมได้ฟรี เป็นหนึ่งในสวัสดิการดี ๆ ของตัวเมือง ภาพประกอบบทความทั้งหมดโดย "วันอาทิตย์" อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !