ท่ามกลางความวุ่นวายของตัวเมืองใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ผู้คนและรถยนต์จำนวนมาก ที่แวะเวียนเข้าออกมายังกลางเมืองโคราชแห่งนี้อย่างคับคั่ง ตึกรามบ้านช่องทรงสมัยใหม่ผุดขึ้นเบียดเสียดกันเป็นแถวเป็นแนวราวกับดอกเห็ด แดดยามเที่ยงวันทำให้เราไฝ่หาสถานที่หลบแดดสักที่หนึ่ง กลางมหานครเมืองใหญ่ ที่ดูวุ่นวายเสียเหลือเกิน แต่ใครจะไปคาดคิดว่าสถานที่ที่ดูพลุกพล่านแห่งนี้คือที่ตั้ง ของบ้านทรงไทยโบราณที่เรียกกันว่า "เรือนโคราช" ซึ่งประดับประดาไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยร่มรื่นนาๆพรรณ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย และสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่รายล้อมรอบๆอาคารไม้ทรงโบราณ แต่ก็แฝงไปด้วยความความรู้สึกที่เป็นสถาปัตยกรรมที่ดูจะร่วมสมัยได้อย่างประหลาด โดยไม่ขัดกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบของมันแม้แต่น้อย นั่นเป็นเหตุผลที่เราเลือกเดินเข้ามายังสถานที่ ที่น่าสนใจแห่งนี้ ทันทีที่เราก้าวเข้ามาในอาณาบริเวณของ "เรือนโคราช เฉลิมวัฒนา" ก็ให้ความรู้สึกที่เย็นสบาย แตกต่างจากอากาศของภายนอกซึ่งขณะนี้สับสนวุ่นวายไปด้วยรถยนต์ที่สัญจรผ่านไปมาอย่างคับคั่ง อาจเป็นเพราะต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้ด้านในหลายต้น คะเนด้วยตาแล้วน่าจะเป็นต้นไม้ที่มีอายุมากหลายสิบปี บ้านไม้ทรงโบราณยกสูงเป็นใต้ถุนบ้าน แต่ปิดเป็นห้องกระจกดูโมเดิร์น ด้านบนเป็นเรือนไม้ทั้งหลัง ด้านล่างส่วนใต้ถุนของอาคารที่เปลี่ยนเป็นห้องกระจกดูโมเดิร์นนั้น ภายในยังจัดแสดงงานศิลปะ เป็นแกลอรี่แสดงภาพวาดศิลปะจากศิลปินชาวโคราชอีกด้วย เราเดินขึ้นบันได ที่นำพาเราขึ้นไปสู่ยังชั้นสองของอาคาร ซึ่งเป็นใต้ถุนที่เปิดโล่งอีกชั้นหนึ่งโดยไม่มีกระจกใสกั้น เรียกได้ว่าเป็นใต้ถุนซ้อนใต้ถุน เป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่เน้นพื้นที่การใช้สอยแบบเปิดโล่งรับอากาศธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ ในชั้นนี้เองที่เป็นที่ตั้งของเครื่องใช้ไม้สอยโบราณ ที่เป็นเสมือนการจำลองวิถีชีวิตดั้งเดิมแต่โบราณของชาวโคราช เราได้พบเจอและพูดคุยกับ 'พรหมนภัสสร คงทอง' โค้ชผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เรือนโคราช เฉลิมวัฒนาแห่งนี้ ผู้ที่สามารถอธิบายความเป็นมาเป็นไป และแนวคิดในเชิงสถาปัตยกรรมของเรือนโคราช เฉลิมวัฒนาแห่งนี้ จากการเล่าสู่กันฟังของคุณพรหมนภัสสร ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เรือนโคราช ทำให้เราได้รับรู้ว่า เรือนโคราช เฉลิมวัฒนาแห่งนี้เป็นเรือนจำลอง ที่มีต้นแบบมาจากเรือนโคราชอายุ 114 ปี มีการใช้งานมายาวนานถึง 4 ชั่วอายุคน ปัจจุบันเรือนต้นแบบของแท้ดั้งเดิม ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยนครราชสีมา เพราะปัจจุบันนี้ เราไม่สามารถที่จะพบเห็นเรือนโคราชในแบบดั้งเดิมนี้ในสถานที่อื่นได้แล้ว ซึ่งเรือนโคราชหลังดังกล่าว เป็นเรือนของ 'พ่อคง' โดยเรือนต้นฉบับแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ที่บ้านกระท้อน อำเภอคง ห่างจากตัวเมืองโคราชไปราวๆ หนึ่งร้อยกว่ากิโลเมตร ในอดีตนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรม ซึ่งเจ้าของโครงการแต่เดิมนั้น คือ 'ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์' อดีตคณาจารย์ในสมัยที่มหาวิทยาลัยราชภัฎฯ ยังเป็นวิทยาลัยครูนครราชสีมา ผู้ก่อตั้งโครงการเรือนโคราช ได้เล็งเห็นแล้วว่า สถาปัตยกรรมเรือนโคราชนั้นกำลังจะสูญหายไป จึงทำการขอซื้อเรือนโคราชจาก 'พ่อคง' ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านในอำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา และย้ายเรือนโคราชทั้งหลัง มาไว้ยังมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เพื่อเป็นเรือนที่ให้นักศึกษา ได้ศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยโคราชแต่โบราณ และจำลองเรือนต้นฉบับมาไว้ยังที่ใจกลางเมืองแห่งนี้อีกที่หนึ่ง โดยปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ผสมผสานกับรูปแบบเรือนโคราชโบราณ เข้ากับความเป็นอาคารโมเดิร์นสมัยใหม่ โดยไม่ทิ้งรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดิม เพื่อเป็นของขวัญแก่ชาวโคราช เรือนโคราชแห่งนี้ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในสาขา "ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น" ในปี พ.ศ.2561 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสถาปัตยกรรมโบราณที่งดงามและวิจิตรที่สุดในยุคนั้น มีรูปแบบการสร้างเรือนที่มีจั่วสองจั่ว มีรางน้ำคั่นกลาง ซึ่งเป็นการสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือนโคราช ที่หาชมที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะสูญหายไปทั้งหมดตามกาลเวลา สิ่งที่น่าทึ่งของสถาปัตยกรรมโบราณแห่งนี้คือ การเข้าไม้ทั้งหมด มีการนำไม้ถึง 5 ชนิดด้วยกัน มาสร้างเรือน อันได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้พะยูง ไม้เต็ง ไม้แดง และไม้มะค่า ก่อสร้างโดยใช้วิธีการการเข้าลิ่มไม้ทั้งหมด โดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว โดยต้นกำเนิดการเข้าสลักไม้แบบนี้ เป็นศิลปะที่สืบต่อมาจากสมัยจากอยุธยา ถือได้ว่าเป็นงานที่ละเอียดและปัจจุบันหาช่างที่มีฝีมือแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว ลักษณะเฉพาะของเรือนโคราชคือ มีการสร้างโถงโปร่งตรงกลางของบ้าน ลักษณะการสร้างโดยใช้จั่วคู่ คล้ายการนำบ้านสองหลังมาชนกัน มีหลังคาคลุมในลักษณะจั่วสองจั่วชิดกัน ซึ่งแตกต่างจากสถาปัตยกรรมเรือนไทยในภาคกลาง ที่จะมีการสร้างโถงแบบโปร่งตรงกลางของบ้านเช่นกัน แต่จะไม่มีหลังคาคลุม ทำให้เรือนโคราชนั้นต่างจากเรือนไทยในภาคกลางโดยสิ้นเชิง เนื่องจากภูมิประเทศ และสภาวะอากาศบริเวณเมืองโคราชแต่ดั้งเดิมนั้น เป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดาร มีอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว มีฝนตกไม่มากเท่าไหร่นัก ดังนั้นการกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในยามแล้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในส่วนโถงโปร่งตรงกลางจึงมีจั่วหลังคาและรางน้ำพาดผ่าน ซึ่งจะไหลไปลงที่โอ่งดินขนาดใหญ่บริเวณด้านล่างของเรือน เพื่อสำหรับเก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนซึ่งมีฝนตกชุก ก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้ง อีกทั้งยังระบายอากาศ ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกอีกด้วย ตัวเรือนแบ่งเป็นห้องออกเป็นห้องต่างๆหลายสัดส่วน เช่นห้องสันทนาการ ห้องทานอาหาร ห้องโถงกลาง ห้องนอนหลัก ห้องนอนรอง และห้องครัว เรือนโคราชยังยกชั้นเป็นช่องว่าง สูงกว่าระดับพื้นเรือน บริเวณห้องครัว เพื่อป้องกันให้ควันไม่ลอยเข้าบ้าน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ควันและความร้อนจะลอยขึ้นสู่ที่สูงและไม่ลอยลงต่ำ อีกทั้งยังระบายอากาศได้ดีเพราะมีช่องระบายอากาศที่ยกพื้นสูงกว่าระดับของพื้นเรือน ซึ่งชาวโคราชเรียกว่า "ช่องแมวรอดหรือร่องตีนแมว" อีกทั้งการสร้างบ้านด้วยไม้ ซึ่งจะไม่ดูดซับความร้อน ทำให้อากาศในตัวบ้านมีความเย็นสบาย จากลมที่พัดผ่านเข้ายังช่องระบายอากาศต่างๆอยู่ตลอดเวลา แม้ไม่ติดเครื่องระบายอากาศ ในส่วนของเพดานจะประกอบไปด้วยคานรับน้ำหนัก ในอดีตนั้นจะไม่มีการใช้ฝ้าเพดาน เพื่อให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทได้สะดวก แต่จะมีลักษณะของการค้ำคานไว้ด้วยไม้ที่มีลักษณะงดงาม และโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของเรือนโคราช การเข้าลิ้นไม้ซ่อนเกล็ดแนวนอน ก็เป็นเอกลักษณ์ของการออกแบบผนังเรือนแบบชาวโคราช เรียกว่า การตีเกล็ด ที่จะแตกต่างจากเรือนในภาคกลาง ที่เรียกว่า การตีขัด กล่าวคือผนังฝาเรือนจะเรียบเนียนเสมอกัน ไม่เหลื่อมซ้อนกัน โดยวิธีการนำไม้แต่ละแผ่นมาประสานกันด้วยการเข้ารางสอดสลักเดือย ประกอบเป็นแผงฝาผนัง ภายนอกบริเวณด้านหน้าเรือน ยังประกอบไปด้วยเฉลียงหรือระเบียง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยที่เชื่อมต่อระหว่างตัวเรือนและนอกเรือน ในส่วนด้านล่างจะเป็นใต้ถุน โปร่ง โล่งไว้สำหรับทำงานจักสาน ทอผ้า หรืองานฝีมือประเภทต่างๆ แต่ทว่าเรือนโคราชนั้น จะไม่มีห้องน้ำหรือเรือนน้ำไว้บนตัวเรือน ซึ่งจะสร้างไว้นอกชานเรือน เนื่องจากชาวโคราชโบราณยังมีความเชื่อในเรื่องของธรณีประตู ยังมีการนับถือเทพเจ้า และพระแม่ธรณีเป็นส่วนใหญ่ "การสร้างบ้านแบบลักษณะเป็นห้องโถงกลาง มีจั่วสองจั่วเหมือนบ้านสองหลังมาชนกัน มีรางน้ำคั่นตรงกลางเป็นการสร้างที่ทำได้ยาก เพราะต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรไม่ให้น้ำรั่วลงพื้นตรงกลาง จึงนับเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดของชาวโคราชที่มีมาแต่โบราณ" เรือนโคราชเองยังเป็นสถานที่ที่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมท้องถิ่น สามารถเข้ามาศึกษา โดยทางเรือนโคราชเองก็มีแบบแปลนบ้าน ไว้สำหรับผู้ที่สนใจได้นำกลับไปสร้าง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งยังสามารถเข้ามาศึกษาหาข้อมูล และถ่ายรูปภายในอาคารได้โดยไม่สงวนสิทธิ์ ยกเว้นการถ่ายภาพในเชิงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นการแบ่งปันและอนุรักษ์ สถาปัตยกรรมโบราณไว้ให้คงอยู่ต่อไป หากมองในแง่ของความเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแล้ว เรือนโคราชเอง ก็ถือได้ว่าเป็นเรือนที่ออกแบบมาสำหรับเอื้อประโยชน์การใช้สอยได้หลากหลาย ทั้งช่วยในเรื่องของการประหยัดการใช้พลังงาน เพราะตัวเรือนมีอากาศถ่ายเทโดยไม่ต้องเปิดเครื่องระบายอากาศ อีกทั้งยังออกแบบให้ใช้แสงธรรมชาติได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดไฟในเวลากลางวัน พร้อมๆกับการออกแบบที่สามารถเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคได้อีกด้วย เรือนโคราช จึงเป็นภูมิปัญญา ที่คนโบราณ มองการณ์ไกลได้ขาด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดี หากได้นำแนวคิด ความรู้ภูมิปัญญา ไปปรับใช้ในการออกแบบบ้าน หรือสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ให้มีความสอดคล้อง เอื้อประโยชน์กับภูมิประเทศ และวิถีความเป็นอยู่ของชุมชน "สำหรับสถานที่เรือนโคราชวัฒนาแห่งนี้ นอกจากเป็นสถานที่ศึกษาสถาปัตยกรรมท้องถิ่นแล้ว ชาวโคราชยังมีส่วนร่วมในการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวโคราช ยังเคยใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม Workshop อีกหลากหลาย ทั้งเป็นสถานที่ประกวดนางงาม Miss Grand Korat, ประกวด หนุ่มผู้ดีเมืองโคราช และอีกหลากหลายกิจกรรม เนื่องจากสถานที่ภายในนั้นร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ที่ถูกอนุรักษ์เอาไว้ ท่ามกลางใจกลางเมืองนครราชสีมาแห่งนี้ ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูร่มรื่น และเหมาะสำหรับเข้ามาพักผ่อนเรียนรู้ ศึกษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนโคราช ซึ่งสถานที่แห่งนี้ก็ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีอัตราค่าเข้าชมเพียงคนละ 20 บาท แลกกับความรู้และแนวคิดต่างๆที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในยุคปัจจุบันได้ ถือว่าคุ้มค่าที่สุดแล้ว" คุณพรหมนภัสสร กล่าวด้วยรอยยิ้มอย่างภาคภูมิใจ เรากล่าวร่ำลาและกล่าวขอบคุณ คุณ พรหมนภัสสร เพื่อเดินเที่ยวชมความร่มรื่นของเรือนโคราชเฉลิมวัฒนากันอยู่สักครู่เดียวก็ถึงเวลากลับ การท่องเที่ยวในรูปแบบของการค้นหาสาระและพักผ่อนไปในตัวนั้น ให้อะไรเราได้มากกว่าที่คิด อย่างน้อยก็คงเป็นแง่คิด มุมมองต่างๆ ที่อาจจะทำให้เรามีแนวคิดที่เปลี่ยนไป ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เทคโนโลยีทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราก็หลงลืมไปว่า เรื่องของการเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่เรามองว่าโบราณคร่ำครึนั้น แท้จริงแล้วเราสามารถเอามาปรับใช้ในวิถีชีวิตปัจจุบันได้ ด้วยหลักการการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด ดั่งคำที่คนไทยคุ้นชินกันคือคำว่า "พอเพียง" คือพออยู่พอกิน ซึ่งจะว่าไป เทรนด์ของโลกในขณะนี้ ล้วนพุ่งเป้าไปที่การใช้สอยทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด และอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนานที่สุด ซึ่งเรือนโคราชนั้น พิจารณาดูแล้ว ก็เรียกได้ว่า เป็น "Eco Living" หรือ บ้านประหยัดพลังงาน ที่น่าสนใจเลยทีเดียว เราจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลักให้ได้ บางครั้งการได้ย้อนมองกลับไปยังรากเหง้าของเราเอง และศึกษาให้ถ่องแท้ เราจะพบว่าจริงๆแล้ว สิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งไว้เป็นมรดกให้แก่คนรุ่นหลัง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่า สามารถพัฒนาสังคม บ้านเมืองเราให้ก้าวไกลทัดเทียมอารยะประเทศได้ ขอเพียงแค่รู้จักปรับและนำมาประยุกต์ให้ร่วมสมัย บางทีนวัตกรรมดีๆ ก็ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราเกินไปนัก บางครั้งมันอยู่ใกล้ตัวเราจนบางครั้งเราก็หลงลืมหรือละเลยมันไป มันคงถึงเวลาที่เราต้องกลับมาย้อนมอง ถึงสิ่งที่เรามีเสียที... เรือนโคราช เฉลิมวัฒนา เยื้องอนุเสาวรีย์ท้าวสุรนารี 680/1 ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เทศบาลนครนครราชสีมา 30000 โทร : 062 915 9152 www.rueankorat.com https://web.facebook.com/rueankorat เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 8.30 น. - 17.45 น. ค่าบริการเข้าชม : 20 บาท เรื่อง : Jirawat Suttipittayasak ภาพถ่าย : Jirawat Suttipittayasak