การขับรถเที่ยวยุโรปไม่ใช่เรื่องยากค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราต้องการไปเที่ยวนอกเมืองที่รถสาธารณะ เข้าไม่ถึง หรือมีจำกัดเวลา นอกจากเรื่องของกฏจราจรที่เราต้องทำการบ้านเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีสิ่งต่าง ๆ ที่เราควรรู้ดังนี้ค่ะ ข้อที่ 1 การใช้ทางด่วน ระบบทางด่วนในยุโรป (ไม่รวมอังกฤษ) ที่เราเห็นมีอยู่สามแบบค่ะ แบบที่ 1 ฟรี คือ ประเทศเยอรมนี ทางด่วนใช้ได้ฟรี สำหรับรถยนต์ทั่วไป ไม่ต้องเสียค่าทางด่วน และโครงข่ายทางด่วนในประเทศเยอรมนีดีมากค่ะ เข้าถึงทุกเมือง และที่สำคัญคือบนทางด่วนไม่จำกัดความเร็ว ขับเร็วเท่าไรก็ได้ ยกเว้นในบางโซน ในบางเวลา จะมีป้ายจำกัดความเร็วแสดงไว้ (ส่วนมากเป็นป้ายดิจิตอล) เราก็ต้องปฏิบัติตามความเร็วที่จำกัดในช่วงนั้น ๆ แบบที่ 2 คิดเป็นระยะทาง เช่น ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ค่าทางด่วนจะคิดตามระยะทาง และขนาดของรถ แต่ละเส้นทางจะคิดไม่เหมือนกัน ราคาไม่เท่ากัน จะมีทั้งแบบจ่ายเงินก่อนเข้าทางด่วน หรือแบบรับบัตรก่อน แล้วไปจ่ายเงินทีหลังก่อนที่จะออกจากเส้นทางนั้น มีทั้งแบบมีพนักงานรับเงิน และเป็นเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ จ่ายได้แบบบัตรเครดิต เงินสด แบบที่รับเฉพาะเหรียญก็มีการเข้าด่านทางด่วน ให้เราเลือกช่องสำหรับรถยนต์ หากรถเราไม่มี auto pass ก็เลือกช่องที่ต้องรับบัตร ขับชิดซ้ายไว้เพื่อจะได้ยื่นมืออกไปหยิบบัตรได้ง่าย ๆ ป้ายเตือนก่อนถึงด่านทางด่วน อีก 400 เมตร ช่องที่เข้าได้คือเปิดสีเขียว อีกตัวอย่างก่อนถึงทางเข้าทางด่วน เราเลือกแบบจ่ายเงินสด เลือกเข้าช่องรถยนต์ กดรับบัตรตรงทางเข้าทางด่วน ตู้จ่ายเงิน เสียบบัตรที่ได้รับตอนขาเข้า ใส่เงินตามยอดที่แจ้ง รับเงินทอน กดรับใบเสร็จ ด่านนี้จะเป็นแบบจ่ายเงินก่อน จะมีราคาบอกไว้ว่ารถชนิดไหนกี่ยูโร เราก็เตรียมเงินไว้ให้พอ ตัวอย่างตู้จ่ายบนทางด่วนฝรั่งเศส ใส่บัตร ดูยอดเงิน ใส่เงินได้ทั้งเหรียญและธนบัตร กดรับใบเสร็จ (หรือไม่รับก็ได้) ตัวอย่างใบเสร็จรับเงิน จะมีบอกว่าเป็นเงินเท่าไร เราเก็บไว้ทำบัญชีค่าใช้จ่ายในแต่ละทริปค่ะ แบบที่ 3 แบบที่เป็นสติกเกอร์ทางด่วน หรือที่เรียกว่า Vignette ในภาษาเยอรมัน ตัวอย่างประเทศที่ใช้สติกเกอร์ทางด่วนเช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จะมีแต่สติกเกอร์ทางด่วนที่เป็นรายปี สำหรับปี 2020 ราคาจะอยู่ที่ 40 สวิสต์ฟรังซ์ ประเทศออสเตรียจะมีเป็นแบบ 10 วันราคา 9.40 ยูโร, 2 เดือน ราคา 27.40 ยูโร และรายปี 91.10 ยูโร นอกจากนั้นแล้วยังมีทางพิเศษที่ต้องจ่ายค่าผ่านทางเพิ่มเช่น อุโมงค์ Karavanke ซึ่งเชื่อมระหว่างออสเตรียสาย A11 ไปประเทศสโลเวนีย สาย A2 ต้องเสียค่าผ่านทางเริมต้นที่ 7.40 ยูโร ประเทศสโลเวเนีย ค่าทางด่วยเริ่มต้นที่ 1 อาทิตย์ ราคา 15 ยูโร หนึ่งเดือน 30 ยูโร 1 เดือน 30 ยูโร หนึ่งปี 110 ยูโร ประเทศสาธารณะรัฐเช็ค จะมีเป็นแบบ 10 วันราคา €12.50 ยูโร, 1 เดือน ราคา 17.50 ยูโร และรายปี 60 ยูโร ตัวอย่างสติกเกอร์ของออสเตรีย สิบวัน ของสโลเวเนีย 7 วัน เริ่มใช้วันที่ 2 เดือน 7 ทั้งคู่ค่ะ สำหรับประเทศที่ต้องมีสติกเกอร์ทางด่วน ก่อนที่เราจะเข้าเขตประเทศนั้นจะมีป้ายเตือนให้เราซื้อสติกเกอร์ โดยส่วนใหญ่จะมีขายในปั๊มน้ำมันก่อนถึงชายแดน ที่หน้าปั๊มน้ำมันจะมีป้ายบอกเราว่าที่นั่นมีสติ๊กเกอร์ขาย เราก็สามารถซื้อมาติดได้เลย หากเป็นประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนเราจะเข้าด่านจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจและมีสติ๊กเกอร์ขายด้วย ตัวอย่างป้ายก่อนเข้าทางด่วนประเทศออสเตรีย เตือนว่าต้องมีสติกเกอร์ รถเช่าจะมีสติ๊กเกอร์ทางด่วนของประเทศที่เราเช่าติดไว้ให้แล้ว เวลารับรถลองสังเกตุดูว่ามีติดอยู่ไหม ตัวเลขบนสติกเกอร์ก็จะเป็นเลขสองตัวหลังของปีเช่น 20 ก็คือปี 2020 แต่ถ้าเราเช่ารถจากสวิสเซอร์แลนด์ แล้วเราต้องเดินทางไปประเทศอื่นด้วยเราก็ซื้อของประเทศนั้น ๆ เพิ่มเอง ข้อที่ 2 Cross Border Travel: เป็นอีกข้อที่สำคัญ หากเราต้องการนำรถออกนอกประเทศที่เช่า เราต้องตรวจสอบกับบริษัทรถของเราก่อนว่าสามารถนำรถออกไปได้ไหม หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มไหมเช่นค่าประกัน เพราะรถยนต์บางยี่ห้อ บางรุ่นไม่สามารถนำออกไปในบางประเทศได้ เพราะจะเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม ข้อที่ 3 การทำประกันรถยนต์ ควรซื้อประกันแบบที่เป็นตัวพรีเมี่ยม คือไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก และรวมถึงการช่วยเหลือฉุกเฉินด้วย ข้อที่ 4 การจอดรถ เราต้องศึกษาป้ายจราจรให้ดี ๆ ว่าจุดไหนสามารถจอดรถได้ หรือไม่ได้ จุดไหนจอดได้ฟรีกี่ชั่วโมงโดยใช้ Parking Disc ซึ่งโดยปกติแล้ว รถเช่าจะมี Parking Disc มาให้ด้วยในรถ จุดไหนต้องไปจ่ายค่าจอดรถก่อนแล้วนำใบเสร็จมาใส่ไว้หน้ารถ ซึ่งจะบอกเราว่าสามารถจอดได้ถึงเวลาไหน ในเมืองใหญ่ ๆ เราสามารถไปจอดรถได้ที่อาคารจอดรถ ซึ่งเมื่อเข้ามาในเมืองแล้วเราก็มองหาสัญลักษณ์ ที่จอด แล้วขับตามป้ายไปได้เลย เมื่อขับเข้าอาคารจอดรถ เราก็ต้องกดรับบัตรจอดก่อน และนำติดตัวไปด้วย เพื่อชำระเงินหลังจากที่เรากลับมาถึงที่จอดรถแล้ว โดยชำระเงินได้ที่ตู้ชำระเงินอัตโนมัติ ซึ่งส่วนมากจะมีติดตั้งไว้หน้าลิฟท์ทางขึ้นที่จอดรถ หรือถ้าเป็นอาคารใหญ่ ๆ อาจมีในทุกชั้น เมื่อเราจ่ายเงินค่าจอดรถเรียบร้อยแล้ว เราก็เอาบัตรจอดเสียบที่ตู้หน้าไม้กั้นตรงทางออก ตัวอย่างที่จอดรถยนต์ข้างถนน และบัตรจอดรถที่เราต้องไปกดจากตู้เพื่อเสียบไว้หน้ารถ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการขับรถเที่ยวยุโรปคือกฏจราจร เราต้องศึกษาและปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำกัดความเร็ว การจอดรถในที่ห้ามจอดถนนที่ห้ามเข้าโดยเฉพาะในเขตเมืองเก่า และในหลาย ๆ เมืองจะมี Environmental Zone ซึ่งอนุญาตให้รถที่มีสติกเกอร์กรีนโซนเท่านั้นที่ผ่านได้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้องการไปขับรถเที่ยวยุโรปด้วยตัวเองไม่มากก็น้อยนะคะ @ภาพประกอบทั้งหมดโดยผู้เขียน #เที่ยวต่างประเทศ #ขับรถเที่ยวยุโรป