วัดที่เป็นศิลปะช่างวังหน้านั้นหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน ข้อได้เปรียบของคนที่อยู่เมืองหลวง คือการได้ชมความงามของศิลปะหลากหลายแขนงที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณกาล และสำหรับวังหน้านั้น ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ตำแหน่งของพระอนุชาของกษัตริย์) แต่ตำแหน่งนี้ไม่ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน มีเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 สืบทอดมาจนถึงรัชกาลที่ 5 พระองค์ก็ทรงยกเลิกเพราะได้มีการตั้ง "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร" ขึ้นมาแทน ซึ่งเมื่อมาสำรวจศิลปะที่เป็นแบบเดียวกับวังหน้า และยังมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ก็คงจะหนีไม่พ้น "วัดชนะสงคราม" หรือชื่อเต็ม "วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร" เมื่อย่างก้าวเข้ามาที่วัดชนะสงคราม จะเห็นพระพุทธรูปทางด้านขวา คือ "พระพุทธนรสีห์ฯ" องค์จำลอง สามารถจุดธูปเทียนบูชาได้เนื่องจากอยู่กลางแจ้ง ส่วนองค์จริงประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ ซึ่งจะเห็นภาพที่ฉากหลังของพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังมีประวัติพอสังเขปของพระพุทธรูปว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับวัด สรุปได้ว่า หลังจบสงครามเก้าทัพ "สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท" ได้ทรงมาหยุดพักที่วัดกลางนา (ชื่อเก่าของวัดชนะสงคราม) และทรงถอดฉลองพระองค์ลงยันต์เพื่อคลุมพระประธาน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อปู่" เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ ช่างก็ได้โบกปูนทับจนองค์ขนาดใหญ่กว่าเดิม จากนั้น "สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" ทรงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น "วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร" โดยทรงอนุสณ์ ถึงเหตุการณ์ที่กองทัพไทยมีชัยชนะในการรบกับพม่าทั้งสิ้น 3 ครั้ง ศึกษาประวัติกันเสร็จแล้วก็เข้าไปดูหลวงพ่อปู่องค์จริงกันต่อ ชื่อเต็มของหลวงพ่อปู่คือ พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เหนือพระประธานมีฉัตร 7 ชั้นกางกั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งเจ้านายฝ่ายวังหน้าทั้งหมด 5 รัชกาลในประวัติศาสตร์ และถ้าลองสังเกตจะเห็นพระพุทธรูปล้อมรอบพระประธานอีก 15 องค์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงนำแบบอย่างมาจากวัดในอยุธยา ทรงเชื่อตามคติโบราณว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ รวมทั้งสิ้นจะมีพระพุทธรูป 16 องค์เปรียบได้กับยันต์พระเจ้า 16 พระองค์นั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นเคล็ดลับแห่งชัยชนะเหนือพม่าอย่างแท้จริง ส่วนจิตรกรรมฝาผนังก็มีความโดดเด่นในการเล่าเรื่องซึ่งประกอบด้วยมนุษย์เทวดา รูปมนุษย์จะลงสีปกติ แต่รูปเทวดาจะวาดเพียงโครงเส้นสีขาวเหมือนไม่ได้ลงสี ซึ่งเป็นศิลปะเฉพาะตัวของสกุลช่างวังหน้าที่ตั้งใจสื่อให้เห็นว่า มนุษย์เรามองไม่เห็นเทวดา แต่เทวดาท่านอยู่คอยช่วยมนุษย์ทุกแห่งหน ช่างเป็นความเฉลียวฉลาดทางศิลปะ ที่หลอมรวมเข้ากับความเชื่ออย่างลงตัว แสดงเอกลักษณ์ศาสตร์และศิลป์แห่งสกุลช่างวังหน้าของวัดชนะสงครามได้เป็นอย่างดี เมื่อชมพระประธานแล้ว ก็ออกจากอุโบสถกลับมาด้านหน้าวัดอีกครั้ง เพื่อปิดท้ายการไหว้ขอพรพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ขอพระพระองค์เรื่องการการชนะศัตรูได้ดีเป็นอย่างยิ่ง และสามารถขอเรื่องงานได้ด้วย เพราะเปรียบเสมือนการมีชัยชนะเหนือผู้สมัครงาน หรือผู้ร่วมงานท่านอื่นได้เช่นกัน จุดธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก ตามตำรา แต่ที่วัดนิยมดอกดาวเรือง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ขอเรื่องงาน เลยให้ชื่อดอกดาวเรืองสอดคล้องกับการงานที่จะรุ่งเรืองในภายภาคหน้า ใครอยากตามไปเสพศิลป์และไหว้พระขอพระก็สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร เสพศิลป์แห่งสกุลช่างวังหน้า "วัดชนะสงคราม"