ก่อนตะวันพลบค่ำในวันหนึ่ง ฉันหลังจากเดินทางออกจากวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดอยุธยาเพื่อเดินทางมาให้ทันตะวันตกดินที่พระตำหนักคำหยาด ต.คำหยาด อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ด้วยเหตุผลเดียวคือ ต้องการมาดูพระตำหนักคำหยาดที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเชื้อสายทางมารดาของขุนหลวงหาวัด หรือพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งเคยพักแรมอยู่ที่นั่น รถทะยานผ่านทุ่งนาสีเขียวขจีสลับกับทางเลี้ยวโค้งหลายแยกกว่าจะถึงพระตำหนักอันโดดเดี่ยวที่ก่อด้วยอิฐสอปูนยกพื้นสูง มีใต้ถุนและเจาะช่องใต้ถุนเป็นรูปประตูโค้งแหลม คล้ายคลึงกับตำหนักกำมะเลี่ยนที่วัดกุฎีดาว จังหวัดอยุธยา พระตำหนักคำหยาด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเป็นที่ประทับของสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองอ่างทอง (ตำหนักกำมะเลี่ยนก็ทรงสร้างในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เช่นเดียวกัน)มีเรื่องเล่าว่าที่นี่ เป็นถิ่นเดิมของนายจบคชสิทธิ์ นายทรงบาศขวากรมช้าง ซึ่งต่อมาได้ขึ้นเป็นวังหน้าและได้แต่งงานกับเชื้อสายของพราหมณ์บ้านสมอปรือ เมืองเพชร มีบุตรีสองคนคือ พระองค์ขาวและพระองค์พลับ ซึ่งทั้งคู่คือพระมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และพระองค์พลับก็คือพระมารดาของพระเจ้าอุทุมพร และพระเจ้าเอกทัศน์นั่นเอง การมาประทับแรมโดยสร้างพระตำหนักคำหยาดถวายในพื้นที่นี้ แสดงว่าในสมัยนั้นมีการใช้สอยอยู่พอสมควร กระทั่งมาถึงช่วงสมัยปลายกรุงศรีฯ อันเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านอำนาจของสองพี่น้อง พระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งสุดท้าย พระเจ้าอุทุมพรทรงออกผนวชเป็นครั้งที่สอง โดยเลือกวัดโพธิ์ทองซึ่งอยู่ข้างพระตำหนักคำหยาด และได้ปลีกวิเวิกอาศัยอยู่ที่พระตำหนักคำหยาดนี้ ก่อนจะเดินทางไปจำวัดที่วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดอยุธยาในเวลาต่อมา ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา พระตำหนักคำหยาดถูกทิ้งร้างไป แต่ชุมชนยังคงอยู่ กระทั่งพระตำหนักนี้ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น้อยคนนักจะดั้นด้นมาหา ด้วยเหตุผลของสถานที่ตั้งของพระตำหนักคำหยาดตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีเพียงอาคารหลังเดียว รอบข้างไม่มีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ และค่อนข้างห่างไกลความเจริญ แต่ฉันเชื่อแน่ว่า ถ้าใครได้มาที่นี่ จะต้องเจอยายสองคนคือ ยายเก็บและยายปริก อายุกว่า ๘๐ ปี ที่ทำหน้าที่คล้ายมัคคุเทศน์จำเป็น คอยบอกเรื่องราวของพระตำหนักแห่งนี้ และเรื่องที่ยายเล่าได้ซ้ำๆ กันทุกครั้งคือ สมัยก่อนในคืนวันพระที่พระตำหนักจะมีเสียงปี่พาทย์ที่ดังแว่วมาบ่อยๆ แต่ในช่วงหลังที่มีความเจริญเข้ามาถึง ก็ไม่ได้ยินแล้ว สำหรับฉัน.... แม้เดินทางมาถึงเวลาพลบค่ำ ตะวันกำลังจะตกดินพอดี แต่ไม่ได้ยินเสียงอะไรนอกจากบรรยากาศแห่งความเงียบสงบ เย็นยะเยือก บางทีเสียงหลอนของปี่พาทย์ที่เกิดในวันพระในคราวก่อนๆ นั้น อาจเป็นเสียงของความสุขในอดีตกาลที่อยากบอกผ่านลูกหลานในยามนี้ ก่อนที่พวกเขาจะกลับไปอยู่ในภพภูมิของตัวเอง ไม่ได้มีความน่ากลัวอย่างที่มีเสียงเล่าลือ ส่วนนักท่องเที่ยวท่านใดที่ต้องการจะมาที่พระตำหนักคำหยาดแห่งนี้ คงต้องตั้งใจมาอย่างแท้จริง เพราะที่นี่ไม่ใช่ทางผ่าน และไม่มีแหล่งท่องเที่ยวข้างเคียง แต่ในความโดดเดี่ยวนี้ มีความเป็นมาที่สำคัญไม่แพ้โบราณสถานที่ใดๆ เลย และในอนาคตหากมีการขุดคุ้นทางโบราณคดีและศึกษาประวัติศาสตร์ในบริเวณใกล้เคียงนี้ น่าจะพบประวัติความเป็นมาของชุมชนที่นี่เพิ่มขึ้น และภาพของชุมชนโบราณรอบข้างพระตำหนักคำหยาดก็จะชัดเจนขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน