“บางลำพู” เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยเฉพาะเป็นแหล่งรวมงานช่างฝีมือประณีตงดงามต่าง ๆ มากมายและเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญในอดีต วันนี้เราจะพาทุกคนมาเที่ยวชม “พิพิธบางลำพู” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สะท้อนถึงชุมชนและวิถีชีวิตของผู้คนในย่านบางลำพูกันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วเราไปเที่ยวชมกันเลยดีกว่าจ้า!“พิพิธบางลำพู” ตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ ริมคลองบางลำพู ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังจัดตั้งขึ้นและดูแลอยู่ แต่เดิมนั้นพื้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นบ้านของอธิบดีกรมคลังในสมัยรัชกาลที่ ๕ นามว่า “พระยานรนาถภักดีศรีรัษฎากร” ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เก็บสินค้า, จำหน่ายตำรา, โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช และโรงพิมพ์คุรุสภา กระทั่งปัจจุบันใช้เป็นที่ราชพัสดุที่จัดแสดงเกี่ยวกับข้อมูลภารกิจของกรมธนารักษ์ รวมถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่าง ๆ ของชุมชนย่านบางลำพูตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงทุกวันนี้ค่ะก่อนจะเดินเข้าไปซื้อตั๋วและเข้าชมพิพิธบางลำพู เราแวะถ่ายรูปบริเวณด้านหน้าและรอบ ๆ พิพิธภัณฑ์กันสักหน่อย ซึ่งบรรยากาศโดยรอบร่มรื่นด้วยต้นไม้สีเขียวนานาพันธุ์ ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา โดยพื้นที่จัดแสดงของพิพิธบางลำพูมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรกเป็นอาคารคอนกรีตสร้างตามแบบอาคารตะวันตก (แบบบาวเฮาส์) รูปทรงตัว L สูง 2 ชั้น สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ ด้วยฝีมือคนไทย ส่วนที่สองตั้งอยู่ริมคลองบางลำพู เป็นอาคารไม้โถงสูงที่สร้างด้วยไม้สักและไม้ตะแบกค่ะพอเข้าไปภายในอาคารคอนกรีตแล้ว ชั้นล่างตรงกลางเป็นโถงต้อนรับ มีเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์สำหรับจ่ายบัตรเข้าชม 30 บาทและลงทะเบียน (สามารถจ่ายได้ทั้งเงินสดและสแกนผ่าน QR Code) ฝั่งซ้ายมือเป็นมุมจำหน่ายเหรียญกษาปณ์และของสะสม / ของที่ระลึกต่าง ๆ ส่วนฝั่งขวาเป็นนิทรรศการหมุนเวียน และนิทรรศการป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้ได้ชมกันตามอัธยาศัยค่ะ ระหว่างรอวิทยากรพาเข้าไปชมพิพิธบางลำพู เราก็แวะเข้าไปเดินชมห้องนิทรรศการหมุนเวียนและนิทรรศการป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนิทรรศการหมุนเวียนก็จะเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงชั่วคราวหรือกิจกรรมการเรียนรู้ตามวาระโอกาสต่าง ๆ อย่างครั้งล่าสุดที่เราไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “งานเทศกาลเสน่ห์บางลำพู: ตระเวนเที่ยว ตะลอนชิม” ส่วนนิทรรศการ ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ผ่านภาพและสิ่งจำลองร่องรอยต่าง ๆ เช่น แนวกำแพงพระนคร, ประตูเมือง และป้อมปราการ เป็นต้นถึงรอบเวลาที่วิทยากรพาเข้าชมแล้ว เราเดินมายังโถงต้อนรับเพื่อให้วิทยากรตรวจตั๋วและพาขึ้นบันไดไปชมห้องแรก โชคดีที่รอบเวลานั้นมีแค่เราคนเดียวเลยถ่ายรูปได้เต็มที่แบบไม่ติดคน 5555 (ใครที่ต้องการมาเที่ยวชมในรอบคนน้อย ๆ ขอแนะนำว่าให้มาวันธรรมดาช่วงเที่ยง ๆ จะดีที่สุดค่ะ)ห้องแรกที่เราไปชมนั้นเป็นห้องจัดแสดงประวัติความเป็นมาของพิพิธบางลำพู ซึ่งที่นี่เคยเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนวิชาช่างพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทยชื่อว่า “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” ต่อมาในปี พ.ศ.2489 โรงเรียนก็ได้ยุติการเรียนการสอน และเปลี่ยนมาเป็น “โรงพิมพ์คุรุสภา” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อว่า “โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ”) เวลาผ่านไปโรงพิมพ์คุรุสภาก็ได้ย้ายที่ทำการไปตรงเขตลาดพร้าวและส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เมื่อปี พ.ศ. 2538 กรมธนารักษ์จึงพัฒนาและปรับปรุงอาคารจนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดชุมชนในนาม “พิพิธบางลำพู” ค่ะนอกจากนั้นภายในห้องนี้ยังมีภาพถ่ายเก่า ๆ ในอดีต, โมเดลจำลองของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช, ตำราแบบเรียนในสมัยก่อน และตัวอย่างแป้นพิมพ์แบบตัวเรียง (Letterpress) ซึ่งการพิมพ์แบบตัวเรียงนั้นเป็นวิธีการพิมพ์เก่าแก่ที่สอนอยู่ในโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช มีลักษณะกดลงบนกระดาษเพื่อให้เกิดรอยกดหรือรอยนูน ทำให้หมึกพิมพ์ไม่สม่ำเสมอกัน ส่วนมากมักนิยมใช้ในการพิมพ์การ์ด, บัตรเชิญ หรือนามบัตร โดยการพิมพ์ด้วยวิธีนี้จะมีข้อเสียตรงที่ใช้เวลาในการเตรียมพิมพ์ค่อนข้างนานค่ะจากนั้นก็เดินเข้ามาชม “นิทรรศการกรมธนารักษ์” โดยเริ่มจากห้อง “ธรรมภิบาลอารักษ์พันธกิจกรมธนารักษ์” ด้วยการชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับภารกิจและหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์เป็นกรมในสังกัดของกระทรวงการคลังมีภารกิจและหน้าที่ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทย เช่น การผลิตเหรียญกษาปณ์และบริหารเงินตรา, การดูแลและจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของรัฐ, การบริหารที่ราชพัสดุ รวมถึงการประเมินราคาทรัพย์สินค่ะชมวีดิทัศน์แล้วก็เข้าไปชมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ในห้อง “เบิกโรงกษาปณ์ ตามรอยเงินตรา” ซึ่งภายในห้องมีทั้งบอร์ดจัดแสดงเนื้อหา, บอร์ดสาธิตขั้นตอนการผลิตเหรียญกษาปณ์ผ่านมาสคอตอย่าง “นกวายุภักษ์”, แม่แบบเหรียญที่ระลึก และตู้ขายตั๋วแบบจำลอง โดยเหรียญกษาปณ์มีทั้งแบบหมุนเวียนอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน, เหรียญที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ใช้จ่ายได้ตามกฎหมาย และเหรียญที่ระลึกผลิตขึ้นในวาระที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ และประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ไม่มีราคาหน้าเหรียญ จึงไม่สามารถใช้จ่ายหรือชำระหนี้ได้ค่ะต่อด้วยห้อง “ทรัพย์แห่งความภูมิใจ อนุรักษ์ไว้เพื่อแผ่นดิน” ซึ่งภายในห้องจัดแสดงเนื้อหาและวัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการเก็บและอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ได้แก่ ครีมและน้ำยาทำความสะอาด, สีเฟล็กซ์, กาววิทยาศาสตร์, ชัน, เครื่องมือตัดเย็บผ้า, คำแสด, เลื่อม, กระจกสี, เครื่องมือกรีด-ตัดกระจก ทองคำเปลว และเครื่องมืออนุรักษ์เหรียญและเงินตราโบราณ เป็นต้นชมห้องถัดไป “เพื่อราษฎร์และที่ราชพัสดุและประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์” กันต่อ ซึ่งภายในห้องนี้จัดแสดงเนื้อหาและเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารที่ราชพัสดุและการประเมินราคาทรัพย์สิน มีทั้งโมเดลจำลองสถานที่ต่าง ๆ ของเขตคลองเตยและเขตวัฒนา, แผนที่และอุปกรณ์ประเมินราคาทรัพย์สิน และภาพถ่ายต่าง ๆ ค่ะหลังจากชมนิทรรศการ “นิทรรศการกรมธนารักษ์” ครบแล้วก็เดินไปชม “นิทรรศการชุมชนบางลำพู” ในอาคารไม้กันต่อ โดยวิทยากรจะพาเราเดินออกจากอาคารคอนกรีตลงทางลาดเชื่อมไปยังอาคารไม้ที่อยู่ติดกับคลองบางลำพู เมื่อเข้าไปข้างในก็จะมีพื้นที่จัดแสดงเป็นห้อง ๆ เริ่มจากห้องแรก “สีสันบางลำพู” ซึ่งมีวีดิทัศน์บอกเล่าถึงบางลำพูที่คนทั่วไปรู้จักให้ได้ชมกันอย่างแหล่งของกินอร่อย, สวนสาธารณะของชาวพระนคร และแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน แต่ด้วยความที่รอบเวลานั้นมีเราเข้าชมแค่คนเดียวจึงไม่ได้ชมวีดิทัศน์ค่ะจากนั้นเราก็เดินไปยังห้อง “เบาะแสจากริมคลอง” เพื่อยืนเกาะรั้วชมหนังสั้นฉายผ่านผนังและพื้นผิวน้ำที่จำลองเป็นคลองบางลำพูแทน ซึ่งหนังสั้นนั้นบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทย มอญ ลาว เขมร แขกตานี และจีนที่มาอาศัยอยู่รวมกันในบางลำพูตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ อารยธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพล ก็ได้มีการสร้างถนนหนทางและผู้คนเริ่มหันมาใช้การคมนาคมทางบกมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในย่านบางลำพูเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยค่ะชมหนังสั้นแล้วก็เดินทะลุประตูอัตโนมัติและข้ามสะพานเหล็กโค้งจำลองชื่อว่า “สะพานนรรัตน์สถาน” เพื่อเข้าสู่ห้อง “พระนครเซ็นเตอร์” แต่ระหว่างทางก็ต้องสะดุดกับเด็กหญิงตัวน้อยแต่งตัวมอซอคนหนึ่งที่กำลังยืนส่องแอบดูอะไรสักอย่างผ่านรูรั้วสังกะสี ด้วยความอยากรู้เลยแอบส่องดูบ้างถึงได้รู้ว่าน้องเขาส่องดูลิเกนั่นเอง ซึ่งในสมัยนั้นหากเด็กคนไหนไม่มีเงินมากพอจะซื้อตั๋วเข้าไปชมลิเกข้างในก็จะใช้วิธีดูผ่านรูแบบนี้ค่ะภายในห้อง “พระนครเซ็นเตอร์” จัดแสดงร้านค้าจำลองที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนย่านบางลำพูในอดีต อย่างเช่น อย่างเช่น “โรงหนังบุศยพรรณ” โรงภาพยนตร์ฉายหนังบู๊แอ็คชั่น, “โรงลิเกหอมหวล” คณะลิเกชื่อดังในสมัยนั้น เปิดแสดงที่วิกเก่าตลาดยอด และ “ห้าง ต.เง็กชวน” ร้านขายแผ่นเสียง แต่จุดเด่นที่สุดภายในห้องนี้ก็คือ “รถรางจอดรถผู้โดยสาร” ตั้งโดดเด่นเป็นสง่านั่นเองค่ะชมร้านค้าจำลองในห้อง “พระนครเซ็นเตอร์” แล้วก็เดินไปยังถนนสิบสามห้างที่อยู่ใกล้ ๆ กันต่อ ซึ่งถนนสิบสามห้างนั้นจำลองร้านค้าเก่าแก่ในย่านบางลำพูให้ได้ชมกัน เช่น “ร้านกาแฟนันทิยา” ที่ใช้เป็นสภากาแฟสำหรับพบปะพูดคุยกันของผู้คนในย่านบางลำพูและมีห้องพักให้บริการอยู่ข้างบน, “ร้านรองเท้าแก้วฟ้า” ร้านรองเท้าเครื่องหนังยอดนิยมเมื่อครั้งอดีต, “ภัตตาคารอั้นเฮียงเหลา” ภัตตาคารชื่อดังในอดีตย่านบางลำพู มีเมนูเด็ดขึ้นชื่อหลากหลายเมนู, “ร้านเสื้อนพรัตน์” ร้านตัดเย็บชุดนักเรียนและเสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อเชิ้ต และ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งฮั่วเส็ง” ห้างเล็ก ๆ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องขายอุปกรณ์และงานฝีมือประเภทเย็บปักถักร้อยอยู่คู่บางลำพูมาตั้งแต่ช่วงเฟื่องฟูจนถึงปัจจุบันค่ะเดินต่อไปอีกก็เข้าสู่โซน “ย่ำตรอกบอกเรื่องเล่า” ซึ่งโซนนี้เป็นการแนะนำชุมชนต่าง ๆ ในย่านบางลำพูที่คนทั่วไปอาจไม่เคยทราบว่าแต่ละชุมชนมีของดีและจุดเด่นอะไรกันบ้าง ได้แก่ “ศิลปะการแทงหยวกกล้วย” ในชุมชนวัดใหม่อมตรส, “การทำข้าวต้มน้ำวุ้น” กับ “การทำ/ค้าขายใบลาน” ในชุมชนวัดสามพระยา, “การปักชุดโขน / ชุดละคร” ในชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้, “ดุริยประณีต” บ้านดนตรีไทยในชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม, “เครื่องถมไทย” ในชุมชนบ้านพานถม, “งานตีทองคำเปลว” กับ “ร้านขายธงชาติ” ในชุมชนบวรรังสี และ “ช่างทองหลวง” ในชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ เป็นต้นเดินมาอีกหน่อยก็จะเป็นห้อง “ที่นี่บางลำพู” ซึ่งภายในห้องจัดแสดงแผนที่ถนนและสถานที่ต่าง ๆ ในย่านบางลำพู, บอร์ดไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญของย่านบางลำพูในยุคกรุงรัตนโกสินทร์แต่ละรัชกาล และบอร์ดจัดแสดงเนื้อหา “ถิ่นคนดีศรีบางลำพู” ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือสร้างคุณูปการมากมายให้แก่สังคมค่ะจากนั้นเดินไปชมห้อง “ถอดรหัสลับ ขุมทรัพย์บางลำพู” เพื่อชมต้นลำพูจำลองใหญ่ที่นอกจากจะมีกิ่งหนึ่งเป็นกิ่งจากต้นลำพูจริงแล้วยังติดไฟกะพริบราวกับมีหิ่งห้อยที่ส่องแสงวิบวับมาเกาะบนต้นลำพูนี้ด้วยค่ะก่อนจะลงบันไดชั้นล่าง เราก็เดินผ่านห้อง “มิ่งขวัญบางลำพู” จึงได้แวะกราบไหว้ “พระพุทธบางลำพูประชานาถ” ที่ประดิษฐานอยู่ภายในห้อง แต่เดิมนั้นตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหารและมีประเพณีแห่องค์พระรอบ ๆ ย่านบางลำพูในทุก ๆ ปี ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างพิพิธบางลำพูขึ้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกจึงรับสั่งให้ย้ายมาประดิษฐานไว้ที่นี่อย่างถาวร เพื่อให้ชาวบางลำพูและผู้เยี่ยมชมได้มากราบสักการะสืบต่อไป โดยพระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะพุทธศิลป์แบบอินเดียค่ะ หากใครที่เดินทางผ่านบางลำพู ลองแวะมาเที่ยวชม “พิพิธบางลำพู” กันได้นะคะ เพราะนอกจากจะมีสิ่งที่น่าสนใจให้เที่ยวชมกันอย่างเพลิดเพลินแล้วยังได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับบางลำพูในแง่มุมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ ^^ ปักหมุดได้ที่: ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200GPS: พิพิธบางลำพู (Bang Lamphu Museum)Email: pipitbanglamphu@hotmail.com, banglamphumuseum@gmail.comเว็บไซต์: พิพิธบางลำพู (Bang Lamphu Museum)โทร: 0-2281-9828, 0-2281-0345 ถึง 51 ต่อ 1223 และ 1224Facebook Fanpage: พิพิธบางลำพูเสียค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ราคา 30 บาท/คน, เด็กอายุ 10 - 18 ปีราคา 10 บาท/คน (ชาวไทยและชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชมราคาเดียวกัน) ยกเว้น เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี, ผู้สูงอายุชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, นักบวชทุกศาสนา, ผู้พิการทุกประเภท และบุคคลหรือหมู่คณะที่ขออนุญาตเข้าชมเป็นกรณีพิเศษ เข้าชมฟรี!เปิด:วันอังคาร - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. (รอบเข้าชมรอบสุดท้าย เวลา 15.00 น.) / วันเสาร์ - อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. (รอบเข้าชมรอบสุดท้าย เวลา 16.00 น.) เปิดรอบให้เข้าชมเป็นรอบ ๆ รอบละครึ่งชั่วโมง (หยุดทุกวันจันทร์, วันปีใหม่ และวันสงกรานต์) ออกแบบหน้าปกใน Canva โดย: Windy_55 (ผู้เขียน)เครดิตภาพประกอบบทความทั้งหมดโดย: Windy_55 (ผู้เขียน)กำลังหาที่เที่ยวหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !