ไหว้พระ วัดสวย กรุงเทพ วัดอรุณราชวราราม พระปรางค์วัดอรุณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของ กรุงเทพฯ ที่เรานึกถึงเทียบจะทันทีก็คือภาพอันสวยงามของ พระปรางค์วัดอรุณ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นเอง และวันนี้ เราจะพาไป เที่ยวกรุงเทพ ชมความสวยงามของ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร รู้เรื่องราวที่มาของวัด และตำนานยักษ์วัดแจ้งกันค่ะ
- ไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมดวง ตามคติความเชื่อ
- อัปเดต 55 ที่เที่ยวกรุงเทพ ถ่ายรูปสวยในกรุงเทพ จูงมือแฟนเที่ยว ชิลๆ
ไหว้พระ วัดสวย กรุงเทพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
คนไทยเรา มีคติความเชื่อที่ว่า การมาไหว้พระวัดอรุณฯ นั้น จะทำให้ "ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน" วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จึง เป็น 1 ในสถานที่ท่องเที่ยวในการจัดทริป ไหว้พระ 9 วัด ในกรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงนั่นเองค่ะ อีกทั้ง วัดอรุณฯ ยังเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม จึงเป็นที่นิมยมในการไปเที่ยว ไหว้พระ ทำบุญ และถ่ายรูปสวยๆ ค่ะ
งานสถาปัตยกรรม วัดอรุณราชวราราม นอกจากงดงาม และมีความโดดเด่นแล้ว ยังมีความสอดคล้องกับเรื่องของไตรภูมิกถา คือ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สื่อถึง เขาพระสุเมรุ ทวีปทั้ง 4 และเขาสัตตบริภัณฑ์ ในทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย ซึ่งผสมผสานรูปแบบศิลปะไทยและจีนเข้าด้วยกันอย่างงดงาม อีกทั้งภายในพระอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ฝีมือศิลปะชั้นครูให้เราได้ชมกัน
ประวัติ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
วัดอรุณราชวราราม หรือที่เราเรียกกันว่า วัดแจ้ง นั้นเป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาค่ะ โดยแต่เดิมนั้นมีชื่อว่า วัดมะกอกนอก เป็นวัดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เลยทีเดียว เพราะในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มีการย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาที่กรุงธนบุรี และได้โปรดเกล้าฯ ให้วัดแจ้งเป็นวัดในเขตพระราชฐาน อีกทั้งในสมัยนั้น ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกต ที่ได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์อีกด้วย
วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงโปรดให้สร้างพระอุโบสถและพระวิหารต่อจนแล้วเสร็จ พร้อมทั้งทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้ว ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ให้สมบูรณ์ต่อจากรัชกาลที่ 2 ซึ่งมีความสูง 81.85 เมตร กว้าง 234 เมตร แต่มาเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม” นั่นเองค่ะ
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร มีการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่เป็นระยะ ครั้งล่าสุดได้เริ่มบูรณะเมื่อเดือนกันยายน 2556 จนเสร็จในปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมานี่เอง
วัดอรุณราชวราราม วัดประจำรัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ มาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ในขณะที่ยังประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมค่ะ จนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และทำนุบำรุงวัดอรุณฯ เรื่อยมา
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุที่พุทธอาสน์ของ พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยนิยมมากราบไหว้ขอพรกันค่ะ ทำให้วัดอรุณฯ แห่งนี้เป็น วัดประจำรัชกาลที่ 2 นั่นเอง
และที่ด้านหน้าวัดที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมี พระราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประดิษฐานอยู่ ค่ะ
ตำนาน ยักษ์วัดแจ้ง
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยิน ตำนาน ยักษ์วัดแจ้ง กันอยู่บ้าง ซึ่ง ยักษ์วัดแจ้ง นั้น มี 2 ตนค่ะ คือ ยักษ์ด้านเหนือกายสีขาว มีชื่อว่า “สหัสเดชะ” และยักษ์ด้านใต้กายสีเขียว มีชื่อว่า “ทศกัณฐ์” ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายเครื่องแต่งตัวสวยงามค่ะ ซึ่งเรามักจะเห็นอยู่เป็นประจำ ทั้ง 2 ตน ยืนเฝ้าที่ประตูซุ้มยอดมงกุฎทางเข้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม นั่นเอง
โดยคนสมัยก่อนมีความเชื่อว่ายักษ์ที่เฝ้าซุ้มประตู มีอิทธิฤทธิ์ในการขับไล่ภูติ ผี ปีศาจ จึงมีหน้าที่ปกปักษ์รักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในพระอุโบสถ
สำหรับตำนานของยักษ์วัดแจ้ง และ ยักษ์วัดโพธิ์นั้น เป็นตำนานที่ทำให้เกิดสถานที่หนึ่งที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ ท่าเตียน ค่ะ โดยเล่าสืบต่อกันมาว่า บริเวณท่าเตียนที่กลายเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้น เกิดจาการต่อสู้ของ ยักษ์วัดแจ้ง กับ ยักษ์วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) จึงทำให้ต้นไม้ในบริเวณนั้นถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำจนล้มตายลง จนพื้นที่ตรงนั้นราบเตียนไปหมด
พระปรางค์วัดอรุณ
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของวัดอรุณฯ ก็คือ พระปรางค์ ค่ะ โดยเป็นสถาปัตยกรรมไทย ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่
พระปรางค์องค์ปัจจุบันนี้ ไม่ใช่พระปรางค์องค์เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกสร้างขึ้นแทนที่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2363 และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยพระปรางค์องค์ที่บูรณะใหม่นี้มีขนาดความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตรเลยทีเดียวค่ะ
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือแบบที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ โดยองค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน นั่นเอง
อีกทั้งพระปรางค์วัดอรุณ ยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย จึงทำให้ พระปรางค์วัดอรุณ ถูกนำมาทำเป็นภาพตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในวัดอรุณฯ ยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ ทั้ง โบสถ์น้อย พระอุโบสถหลังเก่าของวัดอรุณฯ พระวิหารหลวง หอระฆัง มณฑปพระพุทธบาทจำลอง และอื่นๆ อีกมายมาย ให้เราได้เที่ยวชมความสวยงาม และสักการะ ทำบุญ กันค่ะ ลองหาวันสบายๆ ไปเที่ยว ไหว้พระ กันที่ วัดอรุณฯ ถ่ายรูปสวยๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยากันดูนะคะ
ข้อมูล วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพ
- ที่อยู่ : ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
- พิกัด : https://maps.app.goo.gl/fExRfEqi5aqSikBeA
- เปิดให้เข้าชม : 08.00-18.00 น.
- โทร : 0-2891-2185
- เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/watarunofficial