อิ่มบุญ อิ่มใจ อิ่มท้อง ที่ย่านเก่า “เสาชิงช้า” "เสาชิงช้า" นับเป็นอีกย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก เขตพระนคร ศูนย์กลางของย่านนี้คือเสาชิงช้า ซึ่งเป็นเสาไม้สีแดง สูงกว่า 20 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าวัดสุทัศน์ เสาชิงช้าถือเป็นสัญลักษณ์คู่กรุงเทพมหานครมากว่า 200 ปี ใครผ่านไปผ่านมามักแวะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ปัจจุบันย่านเสาชิงช้าถือเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว บริเวณโดยรอบของย่านนี้รายล้อมไปด้วยผู้คน ชุมชน ศาสนาสถานที่สำคัญ ทั้งในศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ รวมถึงศาลเจ้าจีน นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารเก่าแก่หลายร้านให้ลองลิ้มรส ผู้ที่แวะมาเยี่ยมเยือนย่านเสาชิงช้าคงได้อิ่มทั้งบุญและอิ่มท้องเลยทีเดียว ด้วยเหตนี้เราจึงขอเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวย่านเสาชิงช้าภายใน 1 วันอิ่มบุญ เริ่มต้นไหว้พระเสริมสิริมงคลแก่ชีวิตที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรวิหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร วัดสุทัศน์สร้างขึ้นในสมัยมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแบบกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีกลิ่นอายจากศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาบางส่วน ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมสำคัญ คือ พระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น หล่อด้วยสำริดปิดทอง ส่วนมุขด้านหลังพระอุโบสถประดิษฐานพระกริ่งใหญ่และท้าวเวสสุวรรณ ถัดจากพระอุโบสถ คือ พระวิหารหลวง มีพระศรีศากยมุนีประดิษฐานเป็นพระประธาน หลังจากไหว้ขอพรแล้วจึงเดินชมความสวยงามภายในพระวิหารหลวง เราตะลึงในความงดงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า 27 พระองค์ ที่สร้างสรรค์อย่างวิจิตรบรรจงโดยช่างหลวงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมถึงพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถัดจากวัดสุทัศน์ประมาณ 100 เมตร คือ เทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) เรียกกันทั่วไปว่า โบสถ์พราหมณ์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีของศาสนาพราหมณ์ ภายในมีโบสถ์ 3 หลังเป็นสถานสักการะสำคัญ ได้แก่ สถานพระอิศวร ภายในประดิษฐานเทวรูปสำคัญ คือ เทวรูปพระอิศวร สถานพระมหาวิฆเนศวร ภายในประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศ และสถานพระนารายณ์ ภายในประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ และมีหอเวทวิทยาคม ซึ่งเป็นห้องสมุดเก็บรวมวิชาการด้านต่าง ๆ ทั้งวรรณคดี พิธีกรรม ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณี หากต้องการเข้าสักการะควรปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ ดังนี้ ห้ามบันทึกภาพและวิดีโอ ห้ามจุดธูปและเทียนภายในอาคาร ห้ามใช้โทรศัพท์ ห้ามสวมหมวก ห้ามสวมรองเท้า ห้ามเข้าทรง และห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นการให้ความเคารพกับสถานที่และแก่ตนเอง หลังสักการะเทวรูปเรียบร้อย เราเดินตรงเลียบถนนดินสอไปประมาณ 100 เมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนมหรรณพ เดินตรงไปอีกประมาณ 200 เมตร จะพบกับศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า หรืออีกชื่อว่า ศาลเจ้าพ่อเสือพระนคร ซึ่งเป็นศาลเจ้าจีนสายลัทธิเต๋า เทพเจ้าประจำศาล คือ เจ้าพ่อเสือ (เสียนเทียนซั่งตี้) หรือตั่วเล่าเอี๊ย ผู้ที่ศรัทธามักนิยมมาขอพรเรื่องการงาน การค้า ขอลูก แก้ปีชง และเสริมดวงชะตาชีวิต อิ่มท้อง หลังจากไหว้พระขอพรจนอิ่มบุญ ต้องไม่พลาดลิ้มลองอาหารแสนอร่อยให้อิ่มท้อง เพราะย่านเสาชิงช้าหลากหลายไปด้วยร้านอร่อย มีทั้งอาหารคาว อาหารหวาน รวมไปถึงเครื่องดื่มต่าง ๆ เริ่มต้นอาหารจานแรกที่ร้านราดหน้ายอดผัด สูตร 40 ปี ศาลเจ้าพ่อเสือ รับประกันความอร่อยที่เปิดมายาวนานกว่า 40 ปี และรางวัลมิชลินไกด์ 2 ปี ซ้อน มีเมนูราดหน้าทั้งเส้นใหญ่และเส้นหมี่ให้เลือกทานได้ตามความชอบ ครั้งนี้เราสั่งราดหน้าหมูเส้นใหญ่ เนื้อหมูหมักเข้าเนื้อจนนุ่ม ผักคะน้ากรอบไม่มีรสชาติขม เส้นใหญ่เหนียวนุ่มและยังหอมกลิ่นกระทะอ่อน ๆ อีกทั้งน้ำซุปราดเหนียวข้นรสชาติกลมกล่อม รับประทานอาหารคาวเสร็จ ต้องไม่พลาดของหวานที่ นัฐพรไอศกรีมกะทิสด บริเวณแพร่งภูธร ไอศกรีมเนื้อทราย ที่เปิดขายมากว่า 80 ปี ยิ่งอากาศร้อน ๆ หากได้รับประทานไอศกรีมคงทำให้รู้สึกเย็นชื่นใจไม่น้อยเลยทีเดียว ไอศกรีมรสโฮจิฉะกับงาดำญี่ปุ่น เนื้อไอศกรีมมีลักษณะร่วน ๆ คล้ายทราย รสชาติเข้มข้น โดยเฉพาะรสงาดำญี่ปุ่น มาต่อที่ มนต์นมสด สาขาเสาชิงช้า อยู่ตรงข้ามกับศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นร้านนมและขนมปังที่เปิดมากว่า 60 ปี เวลาช่วงบ่าย ภายในร้านคับคั่งไปด้วยผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่แวะมาลิ้มลองความอร่อย เครื่องดื่มมีทั้งนม ชา และกาแฟ ส่วนขนมปังมีทั้งขนมปังนึ่งนุ่ม ๆ และขนมปังปิ้งกรอบ ๆ หลากหลายรสชาติ โดยมีรสยอดนิยม คือ รสเนยน้ำตาล เนยสังขยาใบเตย เนยแยมส้ม สามารถทานที่ร้านหรือซื้อกลับไปฝากคนรู้จักก็ได้ อิ่มใจ หลังอิ่มท้องจากอาหารคาวและของหวาน เราจึงไปเดินซึมซับบรรยากาศย่านเก่า ทั้งเดินดูตึกแถวเก่าบริเวณถนนดินสอและถนนบำรุงเมือง ซี่งเป็นอาคารพาณิชย์ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน ที่ประกอบอาชีพค้าขาย ทำเครื่องเงิน ทำรองเท้า แต่สิ่งที่สะดุดตาเราคือ ร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์และพระพุทธรูปจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมไทย หากใครสนใจมาสัมผัสบรรยากาศย่านเสาชิงช้า สามารถเดินทางมาได้โดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทางสาย 12, 42 หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลงที่สถานีสามยอด ทางออก 3 เดินไปทางถนนเจริญกรุง เลี้ยวขวาเข้าถนนตะนาว แล้วเดินต่ออีกประมาณ 500 เมตร หรือจะนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างก็ได้ รับรองว่าหากได้มาย่านเสาชิงช้าแล้วจะอิ่มทั้งบุญ อิ่มใจ และอิ่มท้องอย่างแน่นอน ภาพทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !