“บ้านต้นลำแพน” หมู่บ้านเล็ก ๆ แต่อบอวลไปด้วยความสุข วิถีการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ตั้งอยู่สุดเขตจังหวัดสมุทรสงครามติดกับจังหวัดเพชรบุรี อยู่ในหมู่ที่ 3 ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดสมุทรสงคราม ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี 2555 ด้วยวิถีชีวิตของคนที่นี่ ที่ได้นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาผสมผสานการดำเนินชีวิตที่ผูกติดกับช่วงเวลาของสายน้ำ ถือได้ว่าเป็นมนต์เสน่ห์ล้ำค่าและยากที่จะหาที่ใดเหมือน เราออกเดินทางจากตัวเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ประมาณบ่ายสาม ขับรถประมาณชั่วโมงเศษ ๆ บนถนนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ประมาณ 19 กิโลเมตร ถึงหลักกิโลที่ 80 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเส้นสถานีรถไฟบางเค็มขับรถอีกประมาณ 15 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า “บ้านต้นลำแพน” ตลอดเส้นทางตั้งแต่เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเส้นผ่านสถานีรถไฟบางเค็ม มองเห็นทัศนียภาพสองข้างทาง เป็นนาข้าวในช่วงแรก นากุ้งในช่วงกลาง และป่าโกงกางในช่วงปลาย มีฝูงนกหลากหลายชนิดบินวนเวียนหากินตลอดทาง ที่ต้องเรียกว่าฝูง เพราะนกเยอะมากจริง ๆ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่ผสมผสานทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จุดหมายปลายทางในวันนี้ คือบ้านพี่อ้อย คนบ้านต้นลำแพนแท้ ๆ อยู่ริมถนนก่อนที่จะถึงวัดต้นลำแพนประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว เรียบง่าย แต่มีกลิ่นไอน่าอยู่ พี่อ้อยพาเราลงเรือเครื่อง ขับเลาะไปตามลำคลองที่คดเคี้ยว ประมาณ 2 กิโลเมตร ข้างทางเต็มไปด้วยป่าจาก ป่าโกงกาง และมีบ้านคนปลูกอยู่ประปราย เรานั่งเรือชมบรรยากาศอยู่ประมาณชั่วโมง ก็ถึงที่นอนของเราในคืนนี้ ประมาณเกือบห้าโมงเย็น จุดที่พี่อ้อยพาเราไปพักเป็น “บ่อเลี้ยงกุ้งธรรมชาติ” เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ กว้างสุดสายตา เวลาน้ำขึ้นก็จะเปิดให้น้ำเข้า เวลาน้ำลงก็จะปล่อยน้ำไหลและดักจับเอาสัตว์ที่อยู่ในน้ำ การเดินทางมาถึงมีทางเดียวคือต้องใช้เรือเป็นพาหนะและน้ำเป็นตัวแปรในการเดินทางเข้ามา บ่อเป็นแหล่งทำมาหากินใช้สำหรับเลี้ยงกุ้ง ปูทะเล และปลาหมอเทศ สัตว์เศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงของถิ่นนี้ ที่บ่อมีกระต๊อบ เล็ก ๆ น่ารักอยู่หลังหนึ่ง และเป็นที่นอนสำหรับเราในคืนนี้ เมื่อไปถึงเราก็พากันสำรวจบ่อ พี่อ้อยพาเราลงเรือวางตะคัด และเครื่องมือสำหรับดักปู ซึ่งพี่เค้าซื้อลูกปูทะเลตัวเล็ก ๆ เอามาปล่อยไว้ให้หากินเองตามธรรมชาติ ขณะนั้นเวลาโพล้เพล้ อากาศสบาย ๆ พี่อ้อยหยิบเครื่องมือออกมาอีกชิ้นเรียกว่า “กระป๋องปูเงินล้าน” ลักษณะเป็นกระป๋องอลูมิเนียมตัดปากข้างหนึ่ง ข้างในมีเหยี่อเกี่ยวไว้ การทำงานเหมือนกรงดักหนู แต่ทำไว้สำหรับดักปูแสม เราเลือกหาทำเลวางกระป๋องใบเล็ก ๆ นี้ ตามริมน้ำที่มีรูปู ใกล้ ๆ จุดที่เราพัก พอพลบค่ำระหว่างที่กำลังนั่งเล่น ก็ได้ยินเสียง “ป๊อง” มาจากกระป๋องบอกให้รู้ว่า ปูติดกับดักเข้าแล้ว พอยกกระป๋องเปิดอ้าดูก็จะเห็นปูแสมตัวใหญ่อยู่ข้างใน งานนี้ ป๊อง ๆ กันทั้งคืนเราทานอาหารที่พี่อ้อยเตรียมมา เป็นเมนูพื้นบ้านง่าย ๆ มีปลาหมอเทศทอด ลาบไก่ ผักสด แถมหนังไก่ทอดกรอบอีกหนึ่งถุง กินเสร็จก็พากันกางมุ้ง เพราะยุงค่อนข้างชุม บรรยากาศเงียบสงบ ไร้เสียงวุ่นวาย ถือได้ว่าถึงจะไม่หรูหรา แต่ก็อิ่มอร่อย และสุขสบายไม่น้อย กลางดึกมีฝนตกพรำ ๆ อากาศเย็น ๆ ประมาณตีสอง พี่อ้อยลุกออกมาดูกับดักปูทะเลในบ่อที่วางไว้เมื่อตอนเย็น ได้ขนาดดี ๆ หลายตัว แต่ต้องรีบแข่งกับเวลา และน้ำในคลองที่กำลังลง ไม่งั้นเราคงต้องติดอยู่ที่นี่ไปไหนไม่ได้อีกเลยจนกว่าน้ำจะขึ้น เมื่อพี่อ้อยเตรียมปูเสร็จ พวกเราก็ลุกขึ้นเก็บข้าวของลงเรือกลับออกมาจากบ่อถึงบ้านพี่อ้อยที่เรามาถึงในครั้งแรกประมาณตีสามกว่า ๆ แต่ภารกิจก็ยังไม่จบ พี่อ้อยต้องเอาปูทะเลที่จับมาได้มามัดก้ามมัดขาเตรียมส่งขายตอนรุ่งเช้าวันนั้น กว่าจะเรียบร้อยก็เกือบ ๆ ตีห้า เมื่อถึงเวลาประมาณหกโมงเช้า พี่อ้อยพาเรานั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปขายปูที่ท่ารับซื้อใกล้ ๆ พี่อ้อยเล่าว่าทุกเช้าจะมีรถพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง มารับซื้อที่จุดรับประจำทุกวัน ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ขนาด และน้ำหนัก ตลอดเวลามีชาวบ้านในพื้นที่ขับเรือเครื่องนำเอาผลผลิตที่จับได้มาขายไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่เป็นกุ้ง และปูทะเล หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเอาสินค้ามาแลกเงิน เป็นภาพชินตาของชาวบ้าน และเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับถิ่นนี้มาเนิ่นนาน เสร็จจากกิจกรรมขายของ พี่อ้อยพาเราไปใส่บาตรที่ “วัดบุญนาคประชาสรรค์” หรือชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดต้นลำแพน” เป็นเสมือนศูนย์กลางของหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ ก่อสร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2497 เป็นวัดเก่าแก่ และมีอายุกว่า 60 ปี มีชาวบ้าน ผู้เฒ่า หนุ่มสาว และเด็ก ๆ มารวมกันอยู่ที่วัดไม่น้อย ใส่บาตร รับศีล ฟังธรรม จนอิ่มอกอิ่มบุญกันถ้วนหน้า ก็พากันกลับบ้าน ก่อนจบทริปเยี่ยมชมสินค้าหัตถกรรมของดีประจำถิ่น สินค้า OTOP เป็นตะกร้าและภาชนะสานจากก้านมะพร้าว ที่สำคัญไม่ลืมอุดหนุนปูทะเลสด ๆ ของพี่อ้อยกลับบ้าน จบทริปเยี่ยมเยียนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียงกินอยู่กับธรรมชาติ และสายน้ำ อบอุ่นด้วยไมตรี รอยยิ้ม และน้ำใจของคนบ้านต้นลำแพน หมู่บ้านเล็ก ๆ แต่เย้ายวนไปด้วยเสน่ห์สุดเขตแดนจังหวัดสมุทรสงคราม