นอกจากดอกพญาเสือโคร่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว ก็มีชมพูพันธ์ทิพย์ หรือตาเบบูญ่า นี่แหละ ที่เมืองไทยยกให้เป็นซากุระเมืองไทย บทความนี้จะพาผู้อ่านไปเที่ยมชม และเซลฟี่กับชมพูพันธ์ทิพย์กันครับ เพราะอยู่ไม่ไกลจากที่พักของผมเท่าไหร่ นั่นคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ทุก ๆ ต้นปี ถือเป็นกำหนดนัดหมายของสายเที่ยวชมดอกไม้งามเลยล่ะครับ สำหรับ รั้ว ม.เกษตรฯ กำแพงแสน เพราะดอกชมพูพันธ์ทิพย์ หรือตาเบบูญ่าจะบานเต็มต้น และร่วงหล่นเต็มโคน เป็นสีชมพูพรืดดด สวยงาม ละลานตา จะนั่ง จะยืน จะกระโดด ก็เซลฟี่ออกมาสวยงาม แต่ไม่ควรโน้มกิ่งมาเซลฟี่นะครับ เพราะจะทำให้ต้นไม้เสียหาย เผลอ ๆ ป่วย ไม่ออกดอกให้ชมอีกก็เป็นได้ (ข้อนี้ทาง ม.เกษตรฯ เขาย้ำนักย้ำหนาแหละ) ภาพโดย ผู้เขียน ขณะเขียนบทความนี้ ชมพูพันธ์ทิพย์บาน และโรยไปแล้วช่วงหนึ่ง คือ สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม อาจเพราะยังอยู่ในเทศกาลฉลองปีใหม่ หลายคนจึงพลาดโอกาส (ผู้เขียนก็ด้วย) แต่ดีที่เคยไปชมมาแล้วเมื่อปีก่อนหน้า จึงพอจับจุดได้บ้าง แม้จะบานและโรยไปแล้ว ก็อย่าเพิ่งบ่นเสียดาย เพราะชมพูพันธ์ทิพย์ แม้ร่วงไว แต่ก็ออกดอกมาบานเต็มต้นได้ถึง 3 ช่วง (แต่อยู่ในช่วงมกราคม – มีนาคม) โดยทาง ม.เกษตรฯ มีกำหนดการ การบานของดอกชมพูพันธ์ทิพย์ไว้คร่าว ๆ ทั้ง 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 ปลายเดือนธันวาคม – ต้นมกราคม ช่วงที่ 2 ปลายเดือนมกราคม - ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงที่ 3 สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม (มี +/- 1 สัปดาห์) ทั้งนี้ทั้งนั้น ใครที่ต้องการไปแบบไม่ผิดหวัง คือ ไปแล้วได้สัมผัสดอกบานสะพรั่งแบบจัง ๆ แน่นอน ไม่ใช่เหลือติดปลายกิ่งเล็กน้อย แนะนำให้ติดตามข่าวสารจากเฟซบุ๊คแฟนเพจ ชมพูพันธุ์ทิพย์ ม.เกษตรฯกำแพงแสน อย่างใกล้ชิด แต่หากติดงาน ไปไม่ได้จริง ๆ ก็วางแผนไว้เนิ่น ๆ ปีถัดไปก็ได้ครับ ภาพโดย ผู้เขียน ชมพูพันธ์ทิพย์ มีชื่อวิทยาศาสตร์: Tabebuia rosea เรียกว่า ตาเบบูญ่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ จึงไม่แปลกที่เรามักได้ยินบางใครเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า ตาเบบูญ่า ทว่าตาเบบูญ่า มีหลายพันธุ์ เหลืองปรีดิยาธร นั่นก็ใช่ ตามประวัติของตาเบบูญ่า มีว่า เมื่อครั้งที่นำตาเบบูญ่าเข้ามาปลูกในประเทศไทยนั้น มี 5 ชนิดด้วยกัน นำเข้ามาแล้วก็ต้องจดชื่อภาษาไทยกับกรมป่าไม้ จึงมีชื่อต่าง ๆ ดังนี้ ชมพูพันธุ์ทิพย์ ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เหลืองคึกฤทธิ์ ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เหลืองถนัดสี ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เหลืองถวัลภากร ตั้งชื่อตาม ม.ร.ว.ถวัลภากร วรวรรณ เหลืองปรีดิยาธร ตั้งตามชื่อของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ภาพโดย ผู้เขียน สำหรับชมพูพันธุ์ทิพย์ ที่ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน นั้น ริเริ่มปลูกโดย ศ.ดร. วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2520 ทั้งมหวิทยาลัย ปัจจุบันมีชมพูพันธ์ทิพย์ รวม 1,258 ต้น เฉพาะบนถนนวัฒนา เสถียรสวัสดิ์ ระยะทาง 2 กิโลเมตร บริเวณที่นักท่องเที่ยวนิยมไปกัน มีถึง 580 ต้น รับรองว่า เมื่อบานพร้อมกันแล้ว สวยงามเชียวล่ะ และเนื่องจากชมพูพันธ์ทิพย์ที่ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน ปลูกตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ต้นดั้งเติมจึงมีอายุกว่า 40 ปีแล้ว ฉะนั้นจึงควรชมแบบไม่รบกวนต้นไม้ โดยการหัก หรือโน้มกิ่ง จะได้มีความงามไว้ให้ชื่นชมอีกนาน ๆ ภาพโดย ผู้เขียน ท้ายนี้ ด้วยชมพูพันธ์ทิพย์ชอบอากาศร้อน การไปเที่ยวชมจึงควรพกหมวกไปด้วยนะครับเพื่อบังแดด แต่ไม่ต้องถึงขนาดพกร่มใหญ่ ๆ ไปหรอก เดี๋ยวจะจิ้มตาคนข้าง ๆ เข้า อ้างอิง ชมพูพันธุ์ทิพย์ ม.เกษตรฯกำแพงแสน mthai suphan pridiyathorn wikipedia