จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในประเทศไทยเรา มีวัดที่ผสมผสานไทย-จีนอยู่เยอะมาก เพราะชาวจีนได้มาสร้างอารยธรรม ศิลปะ ไว้เยอะ ส่วนผู้เขียนเองก็มีบรรพบุรุษเป็นคนจีน ได้ไปวัดจีนมาหลายแห่งแต่เด็ก ซึ่งสถานที่ที่อยากมารีวิวในวันนี้ก็เป็นสถานที่ที่ประทับใจมาก และเป็นสถานที่ที่ร่วมสมัย คือมีทั้งพื้นที่ไหว้เจ้า พื้นที่ขายของ ให้ความรู้สึกเหมือนเราไปวัดจีนที่ประเทศจีนเลย นั่นก็คือที่ “ล้ง 1919” สถานที่นี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติอยากมาเที่ยวให้ได้ เพราะเป็นสถานที่เปิดใหม่ อยู่ไม่ไกลจากห้างไอคอนสยาม ที่สำคัญอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ทำไมต้องมาล้ง : สถานที่นี้คือการบูรณะ ฮวย จุ่ง ล้ง ท่าเรือกลไฟริมแม่น้ำเก่า ที่มีบทบาทสำคัญของกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยที่รัชกาลที่ 4 กลับมาแสดงความรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมจีนผสมไทย ซึ่งที่นี่จะแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ของชาวจีนที่ได้มาสร้างสรรค์ไว้มากมาย ทั้งวัฒนธรรม จิตรกรรมจีน ศิลปะ ศาสนาต่าง ๆ ซึ่งอีกฝากฝั่งของแม่น้ำข้ามไปก็คือ ตลาดน้อย เยาวราช นั่นเอง พิกัด : 248 ถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ที่จอดรถ : สามารถจอดได้ทางเข้าฝั่งเจริญนคร การเดินทางสามารถมาได้ด้วยเรือการเดินทางด้วยเรือ : ท่าเรือหวั่งหลี ท่าเรือส่วนบุคคลสำหรับเดินทางทางมายัง “ล้ง 1919” 1. ท่าเรือราชวงศ์ - ท่าเรือดินแดง 2. ท่าเรือสี่พระยา - ท่าเรือคลองสาน 3. ท่าเรือสวัสดิ์ - ท่าเรือวัดทองธรรมชาติ (เป็นจุดที่ใกล้ล้งที่สุด) 4. ท่าเรือสาทร - ท่าเรือเป๊ปซี่ 5. ท่าเรือโอเรียนเต็ล - ท่าเรือวัดสุวรรณ Facebook : https://www.facebook.com/lhong1919 จุดท่องเที่ยว :1. เมื่อเดินทางเข้ามาโดยลงจากเรือท่าเรือหวั่งหลี ก็จะเห็นลานโล่งแจ้งที่สามารถไปถ่ายรูปได้ ซึ่งตอนกลางวันจะร้อนหน่อยแต่แสงแดดก็ทำให้ถ่ายรูปสวย จะมีรวงร้านต่าง ๆ ให้นั่งเล่น นั่งชิลยามเย็นด้วย2. ประติมากรรม งานศิลปะ ที่นี่ขอบอกเลยว่าหาดูที่ไหนไม่รู้ ด้วยรูปร่างทรงโมเดิร์น ถูกมาจัดแสดงที่ ล้ง1919 ทำให้มีความ เป็นเฮอริเทจมากขึ้น (แสดงวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมชาวจีน) โดยประติมากรรมในภาพคือ ประติมากรรมของแบรนด์ Lotus Arts de Vivre สร้างสรรค์ด้วยศิลปินชั้นสูง นอกจากนี้ก็มีเครื่องประดับต่าง ๆ มากมายที่ผลงานการออกแบบโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในเอเชีย 3. ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ที่เด่น ๆ คือ ดีไซน์สไตล์แบบจีนร่วมสมัย นอกจากนี้ก็มี งานฝีมือ จากศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่อีกเยอะมาก ทั้งกระเป๋า ของใช้ ของกิน อาหารต่าง ๆ รวมไปถึงเสื้อผ้า ชุดที่แสดงออกถึงความโมเดิร์นได้ชัดเจน 4. ตามร้านขายของที่มีการสร้างแบบปูนเปลือย ซึ่ง ดูสวยแตกต่างจากที่อื่น จัดตำแหน่ง การประดับที่เรียกว่าศิลปะการจัดวางอย่างน่าสนใจ หลายร้านใช้สีแดงมาเป็นสีเด่น ทั้งผลิตภันฑ์ ซึ่งสีแดงความหมายของคนจีนคือสีมงคล แสดงความเฮง ร่ำรวย เวลาเข้าไปเดิน มีเกร็ดความรู้ มีตู้โชว์ต่าง ๆ ที่แสดงอารยธรรมของคนจีนสมัยก่อน เช่นรองเท้า ชุดแสดงงิ้ว ศิลปะกาน้ำชา ฯลฯ บรรยากาศที่นี่มีความสวยงามทั้งแสงตอนกลางวันและกลางคืน 5. จุดที่ 5 จุดนี้ห้ามพลาดเลยศาลเจ้าหม่าโจ้วจากที่เดินรอบเห็นร้านค้าต่าง ๆ มากมาย พื้นที่กลางของล้ง1919 จะเป็น ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ที่เป็นที่นับถือของประชาชนชาวจีนที่นี่มาก ซึ่งมีอายุมากกว่า 180 ปี เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนเคารพบูชากันมาก ที่นี่จะมีที่ขายธูปบูชา เป็นสีเหลือง ขาว และแดง ราคาชุดละ 40 บาท เท่านั้นโดยจะมีแบ่งธูปแดงนี้ ไว้สำหรับไหว้ เจ้าแม่หม่าโจ้ว และที่สำคัญบรรดานักเสี่ยงโชคและชอบเสี่ยงเซียมซีต้องมาให้ได้เพราะที่นี่มีเซียมซีที่ให้เสี่ยงทายดวงกันด้วย 6. จุดที่ 6 จุดรวมถ่ายรูป ทั้งงานจิตรกรรมจีน ที่วาดจากพู่กันจีนเป็นรูปของ ‘หญิงสาวชาวจีนขี่ม้า’ เป็นภาพของชาวจีนโบราณ ถูกมาขยายจากภาพต้นแบบวาดบนผนัง ซึ่งเป็นจุดเด่นและเป็นแลนด์มาร์ค สำคัญของที่นี่ไปแล้ว คนที่เดินทางมาล้งจะต้องมาถ่ายภาพกับจิตรกรรมจีน ‘หญิงสาวชาวจีนขี่ม้า’ ที่ฮิต และ อินเทรนด์สุด ๆ รวมไปถึงอาคารไม้เก่าแก่ของที่นี่พลาดไม่ได้เลยเพราะมีบรรยากาศดูเป็นวินเทจหน่อย ๆ มีไม้เลื้อยที่เป็นต้นไม้จริง มีประตูหน้าต่างเหมือนเราหลุดไปในยุคที่เยาวราช กำลังเจริญรุ่งเรือง มีการวาดตกแต่งผนังต่าง ๆ ด้วยพู่กันจีน ทำให้เป็นสถานที่เที่ยวที่ทุกคนตระเวนมาถ่ายรูปสม่ำเสมอ ซึ่งที่นี่มักเป็นอาคารแถว มีการออกแบบแผนผังสถาปัตยกรรมวางผังเมืองแบบ“ซาน เหอ หยวน” หรือที่เราเรียกกันว่าแบบจีนโบราณ ความประทับใจที่มาที่นี่ : การมาที่นี่เหมือนตัวเองได้นั่งไทม์แมชชีนในรูปแบบสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมจีน ซึ่งที่อื่นอาจจะมีแต่ยังไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่ล้ง1919 หากจะมาที่นี่มีทั้งร้านรวง มีทั้งศาลเจ้า มีจิตรกรรม ประติมากรรม ทุกอย่างครบ ทำให้คิดถึงวัฒนธรรมอันเจริญรุ่งเรืองของชาวจีน การแสดงงิ้ว ชุดงิ้ว การแต่งกายของคนจีน เครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ มันมีเสน่ห์ในตัวของมันเองมาก ๆ ทำให้รู้ว่าคนจีนในแผ่นดินไทยครั้งอดีต ที่ทำให้เราได้เห็นได้สัมผัสในปัจจุบัน *ภาพในบทความทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน, ภาพปกโดยผู้เขียนและ flickr