ถ้านึกถึงความทรงจำตอนเด็กๆ เมื่อได้เดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง แล้วรู้สึกว่า ประทับใจสุดๆ ถ้าได้ไปอีกครั้งจะต้องไม่พลาดแน่นอน ขอแค่ได้สัมผัส หรือได้มองก็ยังดี ผู้อ่านนึกถึงที่แห่งไหนที่ชอบเป็นพิเศษบ้างไหมคะ เช่น ถ้าคนที่ชอบกิน พอได้ไปลิ้มรสอาหารที่ชื่นชอบ ต่อให้ร้านจะอยู่ที่แห่งหนตำบลใด ตรอก ซอกซอยไหน หรือไกลแค่ไหน ก็จะดั้นด้นไปกินให้ได้ สำหรับคนชอบเที่ยวก็เช่นกันค่ะ ถึงแม้จะไกลแค่ไหน ก็จะหาวิธีไปให้ได้จนได้ และจะกลับไปอีกครั้งให้ได้ หรือไม่ก็ถ่ายภาพเก็บความประทับใจกลับมาดูมาเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาให้เพื่อนๆ ฟัง เชื่อแน่ว่าเวลานึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้น คุณจะยิ้มจนหน้าบานไปเลยค่ะ ทำให้หวนนึกถึงช่วงเวลาประทับใจและมีความสุขที่ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำตลอดไป แน่นอนค่ะ สำหรับตัวผู้เขียนก็มีความทรงจำ ความประทับใจในสิ่งต่างๆ เหมือนกับผู้อ่านทุกๆ ท่าน โดยเฉพาะกับการท่องเที่ยวนั้นเอง และความทรงจำตั้งแต่ตอนเด็กก็ยังจดจำได้ไม่เคยลืม และที่แห่งนั้นก็เป็นสถานที่อันสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเกิดเมืองนอนผู้เขียนเองค่ะ จังหวัดร้อยเอ็ด เพราะว่าถ้าได้เดินทางเข้าในตัวเมืองร้อยเอ็ดทีไร จะคอยเฝ้ามองใจจดใจจ่อกับการได้ชื่นชมบารมีของพระพุทธรูปปางประทานพร หรือหลวงพ่อใหญ่ วัดบูรพาภิราม ที่สูงที่สุดในประเทศไทย ประทับยืนสูงตระหง่าน สีทองเหลืองอร่าม มองเห็นจากระยะไกล ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเอกลักษณ์ของเมืองร้อยเอ็ด สะท้อนถึงศิลปะวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา และวิถีความเป็นอยู่ในสมัยนั้นด้วยค่ะ คือเรียกได้ว่า ถ้าใครที่มาในเมืองร้อยเอ็ด ถ้าไม่มาสักการะหลวงพ่อใหญ่ ถือว่ามาไม่ถึงร้อยเอ็ดเลยล่ะค่ะ และตอนผู้เขียนยังเป็นเด็กๆ จะได้ยินสิ่งแรกที่จะถามกันคือ เห็นหลวงพ่อใหญ่ไหม แล้วหลวงพ่อใหญ่ วัดบูรพาภิราม มีความสำคัญกับจิตใจคนร้อยเอ็ดขนาดไหน ทำไมชาวร้อยเอ็ดถึงเลื่อมใสศรัทธา ทำไมต้องสร้างให้สูงที่สุด คนสร้างคือใคร และทำไมถึงได้อยู่ในความทรงจำของชาวร้อยเอ็ดแบบไม่มีวันลืมได้นานขนาดนี้ ทุกคนอยากรู้แล้วใช่ไหมคะ งั้นเราไปหาคำตอบกันได้เลยค่ะ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับประวัติของ หลวงพ่อใหญ่ วัดบูรพาภิราม กันพอหอมปากหอมคอได้เลยค่ะ หลวงพ่อใหญ่ (พระยืน) ที่ชาวร้อยเอ็ดชอบเรียกกันค่ะ โดยชื่อของท่านเต็มๆ ของท่านคือ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือบางท่านเรียก พระเจ้าใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 559 ถนนผดุงพานิช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทย และสูงที่สุดในโลก ประทับยืนตระหง่านมองเห็นจากระยะไกล เป็นที่เคารพศรัทธา และยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวร้อยเอ็ด นอกจากนี้องค์พระเจ้าใหญ่ ยังเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด จัดอยู่ในส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า "สิบเอ็ดประตูงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกตุ บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบีงพลาญชัย เขตกว้างใหญ่ทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ" พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือพระเจ้าใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยองค์พระสร้างด้วยคอนกรีดเสริมเหล็ก บุด้วยกระเบื้องโมเสกสีเนื้อ เป็นศิลปะแบบพื้นบ้าน ก่อสร้างโดยพระราชปรีชาญาณมุนี (พุทธา สิริวฺฑฺโฒ) อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาภิราม รูปที่ 5 และอดีตเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (มหานิกาย) ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อปี พ.ศ. 2522 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 8 ปี ค่าก่อสร้างองค์พระเป็นจำนวนประมาณ 7,023,579.75 บาท ความสูง 101 ศอก หรือความสูงวัดจากพระบาทถึงยอดสูงถึง 59 เมตร 20 เซนติเมตร และมีความสูงทั้งหมดจากพื้นขึ้นไป 67 เมตร 85 เซนติเมตร ต่อมา ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี โดยกะเทาะกระเบื้องโมเสกที่ชำรุด แล้วฉาบปูนใหม่ทั้งองค์ แล้วทาองค์ด้วยสีทอง พร้อมทั้งยังบูรณะกำแพงแก้วรอบพระองค์อีกด้วยค่ะ พระพุทธลักษณะ คือ รูปทรงยืน ค่อนข้างสูงชะลูด ดังที่เราเห็นในปัจจุบันค่ะ เพื่อให้เป็นศรีสง่าแก่เมืองร้อยเอ็ดสืบต่อไป ที่ฐานพระพุทธรูปจะมีห้องไว้ใช้ประกอบศาสนกิจและพิพิธภัณฑ์อยู่จำนวนหลายห้องด้วยกันค่ะ นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอน) ประดิษฐานอยู่ใกล้ๆ ในถ้ำเล็กๆ ใต้ต้นไทร ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ไปสักการะท่าน รู้สึกถึงมนต์ขลังของบารมีท่านมากค่ะ เพราะเป็นพระที่เก่าแก่ และถ้ำนั้นอยู่ภายใต้เถาวัลย์ของต้นไทร พอมองไปบริเวณปากถ้ำ จะมีลักษณะที่คล้ายกับเป็นถ้ำโบราณ รอบๆนั้นจะมีพระพุทธรูปประจำวันเกิดด้วยค่ะ มีตุ๊กตาตัวเล็ก เป็นรูปสัตว์ คนแต่งกายด้วยผ้าไทย และเรือนไม้เล็กๆ ของเล่นเด็ก ชุดไทย วางเรียงกันรอบๆ ปากถ้ำด้วยค่ะ เห็นแบบนี้แล้วเราคงเดาไม่ยากว่า เกิดจากการเสี่ยงโชค การขอพร บนบานสารกล่าว ที่มีให้เห็นกันอย่างแพร่หลายเป็นแน่ คือคนอีสานจะมีความเชื่อเรื่องลี้ลับ เรื่องบุญเรื่องกรรมเป็นอย่างมาก อีกด้วยค่ะ ถือได้ว่าเป็นอีกที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด ที่ต้องมากราบขอพรค่ะ หลายๆ ท่านได้ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก เนื่องจากถ้ำจะมีลักษณะเฉพาะตัว และดูสวยงามมากค่ะ บริเวณอื่นๆ รอบวัดจะมีต้นไม้น้อยใหญ่เยอะมากค่ะ อากาศร่มรื่นแม้วันที่แดดจัดก็ตาม ซึ่งเดินไปทางไหนก็มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ทุกทิศเลยค่ะ ที่สำคัญคือ มีรูปปั้นพระพุทธเจ้า หลายภพ หลายชาติ และรูปประวัติของท่านก่อนออกผนวช จนถึงได้บรรลุอรหัน เป็นพระพุทธเจ้าด้วยค่ะ อีกจุดหนึ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตคนสมัยนั้นได้ดีคือ มีเครื่องมือบอกเวลา ชื่อ "โปง" ทำด้วยไม้ หรือท่อนซุง เจาะรูตรงกลางทำเป็นโพรง แล้วใช้ไม้เคาะทำให้เกิดเสียงบอกเวลาค่ะ แถวๆ ชนบทจะมีอยู่เกือบทุกวัดเลยค่ะ เพราะไปวัดไหนก็เห็นตลอดเลยค่ะ ส่วนวัดบูรพาภิรามนั้น ชื่อเดิมคือ วัดหัวรอ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ทั้งหมด 29 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2340 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมือปี พ.ศ. 2481 วัดบูรพาภิรามได้ก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2530 ได้รับการ "ยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง" เมื่อปีวันที่ 29 เดือน มกราคม พ.ศ. 2531 โดยเป็นสถานที่ประชาชนทั้งในและต่างจังหวัด หลั่งไหลเข้ามาทำบุญค่อนข้างมาก และทางวัดในสมัยนั้นได้ใช้เป็นที่พักค้างแรมของประชาชน และพ่อค้าที่อาศัยการเดินทางเท้าเป็นหลักค่ะ เพราะตอนสมัยนั้นจะยังไม่มีพาหนะ การเดินทางแต่ละครั้งต้องอาศัยการเดิน และใช้เวลาหลายวัน หลายๆ คนจึงได้มาพักในวัดแห่งนี้เป็นประจำ ต่อมาได้ขยายวัดให้กว้างขวางมากขึ้นจากเดิม แล้วได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "วัดบูรพา" เพราะว่าวัดตั้งอยู่ในทิศตะวันออกของเมือง แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเพื่อความเหมาะสมว่า "วัดบูรพาภิราม" ด้านทิศตะวันออกของวัดติดกับคูรอบเมืองสมัยเก่า บริเวณรอบคูเมืองทางทิศตะวันออกของวัดบูรพาภิราม จะเป็นศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวร้อยเอ็ดศรัทธา เริ่มแรกจะเป็นรูปแบบหอไม้ 3 หลัง ต่อมาศาลเจ้าพ่อที่สร้างมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเกิดการชำรุดทรุดโทรม เกิดขึ้น จึงไม่เหมาะที่จะเป็นสถานที่เคารพสักการะแก่ประชาชนทั่วไป ทางจังหวัดจึงได้จัดสร้างขึ้นใหม่และยังใช้บริเวณเดิมเป็นอาคารคอนกรีดทรงไทย สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2511 ค่ะ ผู้เขียนได้เข้าไปสักการะศาลเจ้าแค่ครั้งเดียวเองค่ะ แต่ยังรู้สึกถึงบรมีท่าน ที่คอยปกปักษ์รักษาชาวร้อยเอ็ดให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข นับเป็นบุญของชาวร้อยเอ็ดโดยแท้ค่ะ ผู้อ่านอยากรู้แล้วใช่ไหมคะว่า คนสมัยก่อน หรือเมื่อหลายสิบปีก่อน มีวิธีชีวิตความเป็นอยู่แบบไหนกันบ้าง ในฐานะที่ผู้เขียนเกิดหลังจากที่มีการก่อสร้างวัดเสร็จแล้วเพียงไม่กี่ปี จึงได้เข้าใจวิถีชีวิตในสมัยนั้นเป็นอย่างดี พร้อมที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในมุมของ คนชนบทให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องราวคร่าวๆ เพื่ออรรถรสในการเข้ามารับชมเรื่องราวครั้งนี้ค่ะ สมัยก่อน การเดินทางคือ เน้นเดินเท้าเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 90% ของคนร้อยเอ็ดสมัยนั้นค่ะ แม้เส้นทางจะไกล้หรือไกลแค่ไหนก็ตาม ซึ่งบางที่ไกลมากต้องใช้เวลาหลายวัน ต้องเตรียมเสบียงอาหารให้พร้อมอยู่เสมอ เช่น เกลือ ข้าวเหนียวสุกตากแห้ง เป็นต้น และต้องมีอาหารแห้งอื่นๆ ใส่ย่ามติดตัวไว้ตลอด ถ้าหิวค่อยนำออกมากิน ผู้เขียนเคยเดินเท้าจากหมู่บ้านเพื่อไปไร่นาในวันหยุดเรียนเสาร์ อาทิตย์ ระยะทาง 6 กิโลเมตร และต้องเดินกลับก่อนตะวันตกดินอีก 6 กิโลเมตร รวมไปกลับก็ 12 กิโลเมตรต่อวัน ทำอยู่แบบนี้ซ้ำๆ จะเป็นเรื่องปกติค่ะ เส้นทางที่เดินคือเป็นทางเดินเล็กๆ สลับกับทางเกวียน ผ่านทั้งป่า และทุ่งนา ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง พ่อกับแม่จะให้เราดื่มน้ำ และทานข้าวให้เยอะๆ จะได้ไม่หิวระหว่างทาง แต่ดีตรงที่ ระหว่างทางจะเป็นป่าไม้ มีผลไม้ป่าตามฤดูกาลอยู่เต็มไปหมด ผลไม้บางชนิดในสมัยปัจจุบันก็แทบจะไม่มีให้เห็น เพราะเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ตอนนั้นถือว่าผลไม้ป่ามีเยอะมาก เราก็กินเล่นเพลินๆ ตลอดทาง สนุกมากค่ะ ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย พอวันไหนฝนตก ก็กางร่มหรือถุงพลาสติกใหญ่ๆ เพื่อไม่ให้เปียกค่ะ ถนนถ้าตรงไหนมีน้ำขัง หรือดินโคลนเยอะๆ ก็จะถอดรองเท้าเดินฝ่าไป จนไม่รู้สึกว่าฝนคืออุปสรรคเลยค่ะ แต่ในทางกลับกัน เด็กๆ อย่างเราก็สนุกสนานมาก เพราะได้เล่นน้ำฝน ส่วนบางคนมีฐานะขึ้นมาหน่อยก็ใช้เกวียนในการเดินทาง ซี่งสมัยนั้นคนที่จะมีเกวียนได้คือ คนที่มีฐานะ เป็นเศรษฐี มีวัว มีควายไว้ลาก จะถือว่ารวยมากเลยล่ะค่ะ พอต่อมาอีกไม่กี่ปีก็เริ่มมีจักรยาน มีรถเครื่องเข้ามาค่ะ เช่นรถไถเดินตาม ในสมัยนั้นเกือบแทบทุกครัวเรือน จะมีรถไถเดินตามทุกหลังค่ะ เพราะใช้ไถนาได้ ใช้ขนส่งเดินทางได้ แล้วปีต่อๆ มาก็เริ่มมีรถตุ๊กๆ รถ 3 ล้อ 6 ล้อ 10 ล้อ ตามออกมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย เต็มท้องถนนไปหมดเลยค่ะ ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสเข้าในเมืองร้อยเอ็ดก็ตอนที่ทางครอบครัวมีรถตุ๊กๆ นี้เองค่ะ พ่อกับแม่เข้ามาทำธุระในเมืองร้อยเอ็ด ท่านก็เลยได้พาเรามาเที่ยวด้วย สิ่งแรกที่ท่านชี้ให้ดู หน้าตาและน้ำเสียงท่านตื่นเต้นดีใจมาก พร้อมกับเล่าความเป็นมาให้ฟังไปด้วย คือองค์หลวงพ่อใหญ่ วัดบูรพาภิราม เมื่อมองเห็นหลวงพ่อใหญ่ยืนตระหง่านอยู่ไกลๆ สีเหลืองทองอร่าม เมื่อแสดแดดส่งกระทบ จะทำให้เห็นเป็นประกายออกมาจากองค์พระ ซึ่งดูแล้วเหมือน เทพ เทวดา ลงมาจุติในโลกเลยค่ะ แล้วใกล้เข้าไปเรื่อยๆ องค์หลวงพ่อใหญ่ดูสูงมาก สุดลูกหูลูกตา ผู้เขียนด้วยความที่เป็นเด็ก ยังไม่เคยเห็นอะไรที่ดูตื่นตาตื่นใจขนาดนี้ ทำให้ยังจำภาพแรกที่เห็น และความรู้สึกนั้นไว้เป็นอย่างดี แม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม พอโตขึ้นมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาในตัวเมืองร้อยเอ็ด ทำเอาดีใจอย่างมาก เมื่อได้เดินทางเข้ามากราบสักการะหลวงพ่อใหญ่ถึงที่เป็นครั้งแรก ทำเอาตื่นเต้นแบบพูดไม่ออกไปเลยล่ะค่ะ หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปกราบสักการะบ่อยๆ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาค่ะ เป็นไงกันบ้างคะทุกคน พออ่านถึงตรงนี้ เริ่มอยากที่จะเดินทางเข้ามากราบสักการะ องค์หลวงพ่อใหญ่ พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวร้อยเอ็ดกันแล้วใช่ไหมคะ มาดูว่าองค์พระท่านสูงแค่ไหน แล้วถ่ายภาพแห่งประวัติศาสตร์เก็บไว้ในความทรงจำไปตราบนานเท่านาน แถมยังสะท้อนเอกลักษณ์ ศิลปะ วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวร้อยเอ็ดที่มีมาอย่างยาวนาน และองค์ท่านยังขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของทั้งในและต่างจังหวัดอีกด้วยค่ะ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของร้อยเอ็ด รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เรื่องศาสนา ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ไม่ธรรมดา นับเป็นบุญของชาวร้อยเอ็ดโดยแท้ รวมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้เข้ามากราบสักการะองค์ท่าน ที่ต่างคนก็มีความเชื่อ ความเลื่อมใสศรัทธา แม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านจะได้รับความรู้และมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ไม่มากก็น้อย และสัมผัสได้ถึงวิธีความเป็นอยู่ ของชาวชนบทและชาวเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี และความผูกพันระหว่างคนกับทางพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ผู้เขียนรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดเป็นลูกหลานชาวร้อยเอ็ด รู้สึกรัก หวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิด ที่ให้เราได้พักอาศัย หลับนอน ตั้งแต่เด็กจนโตมาได้อย่างมีความสุข บ้านเมืองสงบร่มเย็น ส่วนหน้าที่ของลูกหลานชาวร้อยเอ็ดอย่างเราคือ เป็นคนดี ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และถ่ายทอดข้อมูลดีๆ ของเมืองร้อยเอ็ดให้ออกสู่สายตาชาวโลกสืบต่อไป ในนามของชาวร้อยเอ็ดขอกล่าวคำว่า "ยินดีต้อนรับค่ะ" ใครที่เดินทางผ่านไปผ่านมาในเมืองร้อยเอ็ด อย่าทิ้งโอกาสที่จะได้มากราบสักการะขอพรนะคะ และถ้านึกถึงองค์พระใหญ่ อย่าลืมนึกถึงเมืองร้อยเอ็ดนะคะ ภาพที่ 1 โดย ศิษย์เก่า วัดบูรพาภิราม / facebook ภาพที่ 2 โดย ศิษย์เก่า วัดบูรพาภิราม / facebook ภาพที่ 3 โดย ศิษย์เก่า วัดบูรพาภิราม / facebook ภาพที่ 4 โดย ศิษย์เก่า วัดบูรพาภิราม / facebook ภาพที่ 5 โดย ศิษย์เก่า วัดบูรพาภิราม / facebook ภาพที่ 6 โดย ศิษย์เก่า วัดบูรพาภิราม / facebook ภาพหน้าปกโดย ศิษย์เก่า วัดบูรพาภิราม / facebook อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !