เมืองนครราชสีมาขึ้นชื่อเรื่องปราสาทหิน เพราะเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อาศัยอยู่ หนึ่งในชาติพันธุ์ที่มีบทบาทต่อเมืองนครราชสีมามากที่สุดคือเขมร สมัยก่อนยังไม่มีการแบ่งแยกดินแดนเป็นประเทศอย่างในปัจจุบัน นั้นหมายความว่าพื้นที่ในเขตภาคอีสานของไทยจนถึงเมืองกัมพูชาในสมัยก่อนผู้คนในแต่ละชาติพันธุ์อาศัยอยู่ปะปนกัน และในแต่ละพื้นที่แบ่งออกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยโดยมีเจ้าเมืองปกครอง ก็แล้วแต่ว่าในแต่ละพื้นที่ผู้ปกครองเมืองนั้นจะเป็นชาติพันธุ์เชื้อสายใด ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ชาติพันธุ์เขมรก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ ขยายดินแดนกลืนเข้ามาในเขตภาคอีสาน ทำให้ภาคอีสานของไทยทั้งหมดในสมัยโบราณอยู่ภายใต้อาณาจักรเขมรและมีการสร้างศาสนสถานตามจุดต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค นอกจากใช้เป็นศาสนสถานแล้วยังเป็นการแฝงนัยยะสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การแสดงพระราชอำนาจของกษัตริย์เขมรในสมัยโบราณ กล่าวคือปราสาทอยู่ที่ไหนอำนาจของเขมรครอบคลุมถึงพื้นที่ตรงนั้น จนกระทั่งจนถึงช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรเขมรจึงได้เสื่อมอำนาจลง เมืองนครราชสีมาก็เป็นหนึ่งที่อาณาจักรเขมรเข้ามามีบทบาทในพื้นที่ และเป็นพื้นที่ที่มีปราสาทเขมรเป็นจำนวนมากอีกจังหวัดหนึ่งจากการที่ผู้เขียนเคยค้นคว้าพบว่า เมืองนครราชสีมานี้มีปราสาทหลังเล็กหลังน้อยที่สร้างในสมัยอาณาจักรเขมรอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในสมัยของพระองค์นอกจากจะเปลี่ยนเทวสถานที่สร้างเพื่อบูชาเทพในศาสนาพราหมณ์ฮินดูให้เป็นพุทธสถาน อย่างปราสาทพิมายแล้ว ยังได้สร้างปราสาทขนาดย่อม ๆ ไว้ตามท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะอโรคยาศาลาหรือโรงพยาบาล เพื่อรักษาผู้ป่วยและเป็นสถานที่แยกผู้ป่วยออกจากคนปกติเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ปราสาทครบุรีเป็นปราสาทหลังหนึ่งที่สร้างในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และเป็นปราสาทที่ถูกใช้เป็นอโรคยาศาลาหรือโรงพยาบาล หนึ่งในบรรดา 102 แห่งที่พระองค์รับสั่งให้สร้าง ปราสาทหลังนี้ตั้งอยู่ที่ บ้านครบุรี ตำบลครบุรีใต้ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในเขตโรงเรียนบ้านครบุรีนครธรรมโฆสิตวิทยาคาร อโรคยาศาลาหลังนี้ประกอบไปด้วย รั้วล้อมทั้งสี่ด้าน มีปราสาทหลังเล็กเป็นปราสาทประธาน วัสดุที่นำมาสร้างเป็นหินศิลาแลงเป็นส่วนมาก และส่วนน้อยที่ใช้หินทรายอย่างกรอบประตูและทับหลังเพราะต้องแกะสลักเป็นลวดลาย ผังปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มุมด้านซ้ายมีสระน้ำขนาดเล็กปูด้วยศิลาแลงเรียกว่าบารายเป็นสระน้ำเพื่อใช้สอย ปัจจุบันอโรคยาศาลาหลังนี้ได้รับการบูรณะแล้วโดยกรมศิลปากร เรื่องราวของอโรคยาศาลานี้ก็พอจะสืบถึงเรื่องราวเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ว่า เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงรับสั่งให้สร้างอโรคยาศาลาหรือโรงพยาบาลแล้ว ท่านก็ได้ให้ดูแลเป็นอย่างดีทุกแห่ง โดยมีการส่งข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่หมอและผู้ดูแลประจำอโรคยาศาลา เช่น ยา ผ้า เหล่านี้เป็นต้น และมีความเป็นไปได้อีกว่าพื้นที่โดยรอบอโรคยาศาลาเป็นพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยารักษาผู้เจ็บป่วยอีกด้วย อโรคยาศาลาหรือโรงพยาบาลที่ถูกสร้างขึ้นนี้ เป็นการปกครองโดยใช้หลักพระพุทธศาสนาแบบมหายานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วยความเป็นพุทธแบบมหายานนี้จะเน้นแนวทางของความเมตตากรุณาเป็นหลัก เพราะแนวทางนี้แม้แต่พระโพธิสัตว์หลายองค์ยอมช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ก่อนและตัวพระโพธิสัตว์เองจึงจะบรรลุธรรมตามไปทีหลัง ด้วยเหตุนี้นอกจากปราสาทครบุรีจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นเเหล่งค้นคว้าในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และปรัชญาอีกด้วย ภาพถ่ายโดย พงศธร อิ่มอุดม ผู้เขียนบทความ