พระราชวังบางปะอิน พระราชวังแห่งคิมหันตฤดู
รูปถ่ายเดินเท้า
เรื่องเล่าเดินทาง
โดย อักษรจรจัด
ซ้ายมือคือพระที่นั่งวโรภาสพิมาน ส่วนด้านขวาที่เห็นเป็นทรงไทยกลางน้ำืคือพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว มีโอกาสได้ไปตามคำเชิญของ “สถาพรบุ๊คส์” ที่จัดทริปบุญไปไหว้พระที่จังหวัดอยุธยาเนื่องในโอกาสที่บริษัทหนังสือน้ำดีแห่งนี้ก่อตั้งมาครบ 14 ปีและกำลังจะก้าวสู่ปีที่ 15 อย่างมั่นคงสมชื่อทีเดียว ทริปนี้ที่ไปเป็นทริปที่เต็มไปด้วยพี่ๆ น้องๆ นักเขียนในสังกัดและผู้บริหารของสถาพรบุ๊คส์
…ล้อหมุนตั้งแต่เช้า ลากยาวไปจนถึงค่ำ กว่าจะกลับถึงกรุงเทพฯ ก็สามทุ่มกว่า แต่เรียกได้ว่าเต็มที่สุดๆ ทั้งความรู้ที่ได้รับและบุญที่ได้ไปร่วมทำด้วย จนอดกลับมาเขียนถึงไม่ได้เชียวล่ะครับ
มาจังหวะดีได้ดูพี่ทหารส่งเวร
จุดแรกที่แวะเที่ยวชม คือพระราชวังบางปะอิน อดคิดไม่ได้ว่าพามาได้เหมาะเหม็งกับช่วงอากาศที่แสนจะอบอ้าว เพราะแต่เดิมนั้น พระราชวังแห่งนี้ ถูกใช้เป็นที่ประทับสำราญพระวรกายของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตในฤดูร้อน จนเรียกได้ว่า เป็นพระราชวังฤดูร้อนก็ได้เลยล่ะครับครับ โอกาสนี้จึงโอกาสชักภาพเก็บมาทำบางปะอินเดอะซีรี่ย์บรรณาการแก่ท่านผู้อ่านไปด้วยเลย มีหลายต่อหลายเรื่องน่าสนใจมากครับ อย่าลืมติดตามนะครับ
ย้อนกลับมาที่เรื่องพระราชวังบางปะอินกันอีกหน ก่อนจะพาเดินตามนักเขียนไปเที่ยวนั้น ไปรู้ “ตำนาน” สำคัญที่ว่ากันว่าเป็นที่มาของคำว่า “บางปะอิน”กันก่อนดีกว่า มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในครั้งนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช สมเด็จพระเอกาทศรถ ยังทรงดำรงพระยศพระมหาอุปราช วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทางชลมารค เมื่อถึงบริเวณเกาะบางปะอิน เรือพระที่นั่งถูกพายุใหญ่พัด ทำให้เรือพระที่นั่งล่มลง สมเด็จพระเอกาทศรถทรงว่ายน้ำขึ้นไปบนเกาะนี้ ซึ่งเดิมชื่อ “เกาะบ้านเลน” และประทับอยู่กับชาวบ้าน
สภาคารราชประยูร
ในระหว่างประทับอยู่ ณ ที่นี้ สมเด็จพระเอกาทศรถได้หญิงชาวเกาะเป็นบาทบริจาริกา มีนามว่า “อิน” จึงเป็นเหตุให้คนทั่วไปเรียกเกาะนี้ต่อมาว่า “เกาะบางปะอิน” หรือ “เกาะบางนางอิน” ต่อมาเมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พระองค์ก็ทรงพานางอินนี้กลับไปกรุงศรีอยุธยาด้วย นางอินผู้นี้จึงเป็นพระสนมในเวลาต่อมา และมีพระราชโอรสด้วยกัน เล่ากันว่าพระราชโอรสพระองค์นั้น คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง
และจากเรื่องเล่านี้เอง จึงถือได้ว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงประสูติที่นี่ และพระองค์ก็ได้ทรงสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นมา
เมื่อปี พ.ศ. 2175 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นตรงบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระมารดา และได้พระราชทานนามว่า “วัดชุมพลนิกายาราม” และได้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งเพื่อฉลองการที่พระราชเทวีประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระนารายณ์ราชกุมาร พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์” พระราชวังบางปะอินจึงเป็นสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในฤดูร้อนสืบเนื่องกันมา จนกระทั่ง กรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พม่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 ซึ่งทำให้พระราชวังแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้างไป
พระที่นั่งวโรภาสพิมาน
นามแห่งพระราชวังบางปะอินค่อยๆ เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งกลับมาเป็นที่รู้จักกันอีกครั้ง เมื่อบรมครูกวี “พระศรีสุนทรโวหาร” (ภู่) หรือที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันในนามของ “สุนทรภู่” ได้ประพันธ์ถึงพระราชวังบางปะอินแห่งนี้ไว้ใน “นิราศพระบาท” เมื่อครั้งสุนทรภู่ได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งได้เดินทางผ่านพระราชวังบางปะอินด้วยนั่นเอง
พื้นที่ของพระราชวังบางปะอินนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่เขตพระราชฐานชั้นนอก และเขตพระราชฐานชั้นใน
ซ้ายมือคือพระที่นั่งวโรภาสพิมาน ส่วนด้านขวาที่เห็นเป็นทรงไทยกลางน้ำืคือพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์
เขตพระราชฐานชั้นนอก มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น หอเหมมณเฑียรเทวราช หรือ ศาลพระเจ้าปราสาททอง, พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ , พระที่นั่งวโรภาษพิมาน และ สภาคารราชประยูร
ในขณะที่สถานที่สำคัญในเขตพระราชฐานชั้นในก็มีมากมาย ทั้งพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ , หอวิฑูรทัศนา , พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ,หมู่พระตำหนักฝ่ายใน และอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
ซึ่งแต่ละแห่งก็มีประวัติศาสตร์ที่น่ารู้น่าสนใจ จนผมแทบอดใจไม่ไหว ในการจะทำ “บางปะอินเดอะซีรี่ย์” ในตอนต่อๆ ไป อย่าลืมติดตามกันนะครับ รับรองว่าทั้งรูปทั้งเรื่อง แน่นปึ้กตามแบบฉบับ “อักษรจรจัด” แน่นอน
ทริปนี้มีแต่นักเขียนและผู้บริหารจากสถาพรบุ๊คส์ล้วนๆ