เมื่อพูดถึงย่านพาหุรัด หลายคนคงจะนึกถึงตลาดขายผ้าขนาดใหญ่ ที่มีพ่อค้าชาวอินเดียจำนวนมากอาศัยอยู่ จนหลายคนเรียกแถวนี้ว่า Little India เมืองไทย ซึ่งชาวอินเดียส่วนหนึ่งนั้น เป็นผู้นับถือศาสนาซิกข์ วันนี้แม่มะลิเลยพาไปชมศาสนสถานสำคัญ ที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวซิกข์คือ "คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา" หรือที่มักเรียกกันว่า "วัดซิกข์" วัดแห่งนี้มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และถือเป็นวัดซิกข์แห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย ศาสนาซิกข์คืออะไร ? ก่อนจะเริ่มเดินทาง เรามาทำความรู้จักกับศาสนา "ซิกข์" เบื้องต้นกันก่อนนะคะ ศาสนาซิกข์ ถือกำเนิดในแคว้นปัญจาบทางตอนเหนือของอินเดีย เป็นอีกหนึ่งศาสนาสำคัญของอินเดีย ชาวซิกข์เชื่อว่ามีศาสดาในร่างมนุษย์รวม 10 พระองค์ โดยองค์ปฐมบรมศาสดา คือ พระศาสดาคุรุนานักเทพ ซึ่งในปัจจุบันชาวซิกข์นับถือพระธรรมจากพระมหาคัมภีร์ "คุรุครันถ์ ซาฮิบ" ซึ่งได้รับการสถาปนา ให้เป็นพระศาสดานิรันดร์กาลของศาสนาซิกข์ ชาวซิกข์จึงปฏิบัติต่อพระมหาคัมภีร์ดุจพระศาสดาที่แท้จริง ศาสนาซิกข์เชื่อว่า การครองเรือนอยู่ในคฤหัสถ์เพศ ก็สามารถหลุดพ้นจากห้วงแห่งกรรมได้ โดยการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีขันติ มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม และบำเพ็ญภาวนาชำระล้างจิตใจให้สะอาดอยู่เสมอ การเดินทาง แนะนำให้เดินทางการด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินสถานีใหม่ เพราะสะดวกสบายและไม่ต้องเสียเวลาหาที่จอดรถ สถานีที่จะพาเรามาถึง "ย่านพาหุรัด" ก็คือ “สถานีสามยอด” มาถึงแล้วออกที่ทางออกประตู 1 ได้เลย ใครจะเดินต่อ ซ้อนมอเตอร์ไซค์ หรือจะเรียกรถตุ๊กตุ๊กก็สามารถเลือกได้ตามความสะดวก ส่วนคนที่อยากนำรถส่วนตัวมาเองก็ปัดหมุดใน Google Map คลิก ที่นี่ ได้เลยค่ะ มาถึง "วัดซิกข์" แล้ว! เมื่อเดินทางเข้ามาถึงวัดแล้ว สิ่งแรกที่เห็นได้ชัด คือ โดมทองขนาดใหญ่สีทองอร่าม พอได้เข้ามาภายในอาคาร ก็จะเห็นศิลปะการตกแต่งที่วิจิตรงดงามตามฉบับอินเดียดั้งเดิม ซึ่งสถาปนิกและวิศวกรชาวไทยได้เดินทางไปศึกษารูปแบบของศาสนสถานของศาสนาซิกข์ถึงประเทศอินเดีย แล้วนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบก่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ก่อนจะเดินขึ้นอาคาร เราต้องฝากรองเท้าบริเวณจุดรับฝากรองเท้า มีจิตอาสาที่สมัครใจมาทำหน้าที่รับฝากรองเท้าให้กับผู้ที่เดินทางมาที่วัด ทราบมาว่าหลายท่านเป็นถึงระดับเศรษฐี ก็อาสามาทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อบริการสังคม โดยเชื่อว่าเป็นการขัดเกลาจิตใจ และลดความ "อหังการ" หรือความทะนงตัวให้น้อยลง นอกจากการฝากรองเท้าแล้ว ทุกคนต้องคลุมผมก่อนขึ้นอาคารเพื่อเคารพสถานที่ด้วย สำหรับใครที่ไม่มีผ้าคลุมผมมา ไม่ต้องกังวลเพราะทางวัดจะมีผ้าโพกศรีษะสีเหลืองที่เรียกว่า ‘จุนนิ’ (Junni) ให้ยืมใส่ฟรี ทั้งชายและหญิง (ตามรูปด้านบน) และมีจิตอาสาคอยช่วยผูกผ้าให้ค่ะ เมื่อขึ้นมาถึงชั้นที่ 2 จะพบกับ 'โรงครัวของพระศาสดา' เป็นโรงทานขนาดใหญ่ที่มีอาหารมังสวิรัติให้ทุกคนสามารถเข้ามารับประทานได้ฟรีตลอดทั้งวัน โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ การทานอาหารทุกคนจะนั่งทานที่พื้นเสมอกัน ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนคำสอนของศาสนาซิกข์ ที่ให้ปฏิบัติต่อมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง นอกจากนี้ชาวซิกข์ยังเชื่อว่าการทานอาหารตามปกติโดยไม่อดอาหารนั้น เป็นหนทางที่จะทำให้เรามีแรงกายแรงใจในการดำรงชีพ และมีพลังเพียงพอที่จะปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ต่อมาในชั้นที่ 4 เป็นพื้นที่สำหรับประกอบศาสนกิจ เมื่อขึ้นมาถึงชั้นนี้ เราจะเห็นโดมทองอยู่ตรงกลาง ซึ่งภายในมีพระคัมภีร์ซึ่งเป็นตัวแทนพระศาสดาตั้งอยู่โดยมีผ้าคลุมไว้ ชาวซิกข์ย่านพาหุรัดส่วนใหญ่จะมาทำสวดมนต์สักการะในช่วงเช้าก่อนไปเปิดร้านค้าของตน โดยทางวัดจะมีรอบสวดมนต์ตอนเช้าตั้งแต่ตี 5 ถึง 11 โมง และรอบเย็นตั้งแต่ 4 โมงเย็น ถึง 1 ทุ่มของทุกวัน ส่วนชั้นที่ 6 เป็น สถานที่เก็บรักษาพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวซิกข์หลายคนจะขึ้นมาสักการะเพื่อแสดงความเคารพต่อพระศาสดา ชาวซิกข์ที่ต้องการอัญเชิญพระคัมภีร์ไปใช้ในการประกอบพิธี ก็สามารถยืมจากทางวัดได้ นอกจากนี้ยังมีห้องสำหรับสวดภาวนาส่วนบุคคล สำหรับชาวซิกข์ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวอีกด้วย เมื่อได้เยี่ยมชมครบถ้วนจนอิ่มเอมใจแล้ว สิ่งที่ได้จากการมาเยือนวัดซิกข์แห่งนี้ นอกเหนือจากจะได้รู้จักศาสนาซิกข์มากขึ้นแล้ว ยังสัมผัสได้ถึงความสงบ เรียบง่าย และการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาคตามหลักศาสนา รวมถึงความเป็นมิตรของจิตอาสาทุกท่าน ที่พร้อมช่วยเหลือ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัด และศาสนาซิกข์อย่างจริงใจ ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้จึงทำให้การมาเยือน 'คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา (วัดซิกข์)' เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และประทับใจไม่ลืม หากมีโอกาสอยากให้ทุกคนลองแวะมาที่นี่สักครั้ง สำหรับใครที่อยากฟังอธิบายระหว่างเข้าชม หรือต้องการเข้าไปถ่ายรูป ก็สามารถติดต่อทางวัดล่วงหน้าได้เลยค่ะ