รีเซต

10 จุดทดลอง ระเบิดนิวเคลียร์ ในอดีตจากรอบโลก

10 จุดทดลอง ระเบิดนิวเคลียร์ ในอดีตจากรอบโลก
แมวหง่าว
2 มีนาคม 2565 ( 16:03 )
40.2K
5

     ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ย่อมอยู่คู่กันกับการทำลายอยู่แล้ว และหนึ่งในอาวุธรุนแรงที่สุดเท่าที่เราสร้างขึ้นมาได้ก็คือ นิวเคลียร์ นั่นเอง แม้แรกเริ่มเจตนาอาจจะเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสันติ หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ซากของสถานที่ที่ใช้ทดลองนิวเคลียร์เหล่านั้นก็ยังคงอยู่ให้เราได้เรียนรู้อดีต บางที่ก็กลายเป็นที่เที่ยวยอดนิยมไปเสียอย่างนั้น เราลองไปดูกันเลยดีกว่าว่ามีที่ไหนบ้าง

 

 

10 จุดทดลอง ระเบิดนิวเคลียร์จากรอบโลก

 

Photo: National Nuclear Security Administration/Public Domain

 

1. เกาะปะการัง บิกินี่ (Bikini Atoll), หมู่เกาะมาร์แชล (Marshall Islands)

 

 

 

     ที่นี่เป็นหนึ่งในที่ทดลองนิวเคลียร์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก เพราะเป็นที่แรกๆ ที่มีการเผยแพร่ภาพผลการทดลองออกสู่สาธารณะ (รวมถึงชื่อเกาะบิกินี่ ที่จำง่ายสุดๆ) อยู่ระหว่างฮาวาย และออสเตรเลีย แต่เดิมนั้นเป็นเกาะปะการังที่สวยงาม มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่ในปี 1945 กองทัพสหรัฐฯ เลือกใช้ที่นี่ในการทดลองปรมาณู โดยอพยพผู้คนออกมาจนหมด แล้วใช้เป็นที่ทดลองอยู่ประมาณ 12 ปี ยิงไปทั้งหมด 23 ลูก ผลจากการทดลองบนเกาะนี้เอง ที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาระเบิดปรมาณูที่ใช้กับเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ

 

     กระทั่งปี 1957 เกาะนี้จึงถูกประกาศให้เป็นเขตปลอดภัยจากกัมมันตรังสี แต่ถูกยิงจนพรุนขนาดนี้คงไม่มีใครอยากกลับมาอีกแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในจุดดำน้ำยอดนิยมไปเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงใช้เป็นที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่องต่างๆ ที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นการถูกกล่าวถึงในเรื่อง Godzilla ด้วย ว่าสาเหตุที่แท้จริงในการยิงนิวเคลียร์ที่เกาะนี้ก็เพื่อจัดการ “บางอย่าง” นั่นเอง

 

2. โดมกระบองเพชร (Cactus Dome), หมู่เกาะมาร์แชล (Marshall Islands)

 

โดมกระบองเพชร (Cactus Dome), หมู่เกาะมาร์แชล (Marshall Islands)

Photo: US Defense Special Weapons Agency/Public Domain

 

     ต่อเนื่องจากการทดลองในแถบหมู่เกาะมาร์แชล และบริเวณใกล้เคียงบริเวณแปซิฟิคตอนใต้ที่ต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบปี แถบนั้นจึงเต็มไปด้วยซากของสิ่งตกค้างปนเปื้อนรังสี ช่วงปลายยุคสงครามเย็น (ประมาณ 1970) กองทัพสหรัฐฯ จึงเริ่มเข้ามาเก็บกวาด นำเศษซากไปฝังไว้ที่บริเวณหลุมที่เกิดจากการทดลองนิวเคลียร์ “Cactus” เส้นผ่านศูนย์กลาง 106 เมตร เสร็จแล้วสร้างโดมคอนกรีตครอบทับไว้ แม้จะมีป้ายเตือนให้ระวังการปนเปื้อนปักไว้ ก็ไม่อาจห้ามให้ผู้ที่สนใจหลุมนิวเคลียร์เดินทางมาชมความแปลกตาของที่นี่ได้

 

3. สถานีทดลองหลัก สหภาพโซเวียต (The Soviet Union’s Main Test Site) เซมี (Semey), คาซัคสถาน(Kazakhstan)

 

(Photo : CTBTO/CC BY 2.0)

 

     มาทางอีกฟากของสงครามเย็นบ้าง นั่นคือที่สถานีทดลองของโซเวียต มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า โพลีกอน (The Polygon) มีการปิดเมืองเพื่อใช้ทดลองยิงขีปนาวุธโดยเฉพาะ ทั้งหมด 456 ครั้ง ในช่วง 1949-1989 รวมถึงการทดลองใต้ดิน 340 ครั้ง และบนชั้นบรรยากาศ 116 ครั้ง รวมๆ เทียบแรงระเบิดรวมแล้วมากกว่าที่ฮิโรชิมาประมาณ 2,500 ลูกได้ ปัจจุบันหลุมนิวเคลียร์แถบนี้โดนน้ำท่วมขังไปบ้างแล้ว

 

4. เกาะ Novaya Zemlya, รัสเซีย

 

Photo: Andy Zeigert/CC BY-SA 2.0

 

     Novaya Zemlya เป็นดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไปในมหาสมุทรอาร์ติค ตอนเหนือของรัสเซีย ดูเป็นที่รกร้างไม่มีอะไรน่าสนใจเลย นั่นแปลว่ามันเหมาะแก่การทดลองระเบิดยิ่งกว่าอะไร เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1954 มีการทดลองนิวเคลียร์ไป 224 ครั้ง หนึ่งในนั้นเป็นระเบิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ซาร์บอมบา ที่ทดลองในปี 1961 ความรุนแรงระดับ 57 เมกะตัน รุนแรงกว่าการระเบิดที่ฮิโรชิมา และนางาซากิหลายเท่า ปัจจุบันหมู่เกาะนี้ถูกใช้เป็นฐานทัพทหาร เรือสำราญหลายๆ ลำยังล่องผ่านทางตอนใต้ของหมู่เกาะนี้ด้วย

 

5. มาราลินกา (Maralinga), ออสเตรเลีย

 

 

     มาราลินกา เป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย ใช้เป็นที่ทดลองนิวเคลียร์ของกองทัพอังกฤษในช่วง 1950 เนื่องจากในประเทศอังกฤษเองไม่มีพื้นที่ที่จะทำการทดลองได้ เลยโยกย้ายมาทำที่ออสเตรเลียซึ่งมีเนื้อที่เหลือเฟือแทน ซึ่งตอนนั้นมีชาวพื้นเมืองอะบอริจินอาศัยอยู่ ทางการจึงแก้ปัญหาด้วยการพาโยกย้ายถิ่นฐานไปเสีย หลังจากการทดลองต้องใช้เวลานานมากกว่าที่กัมมันตรังสีจะหมดไป ถึงปี 2000 นั่นแหละทางการจึงประกาศให้บริเวณนี้ปลอดภัย แต่ว่าชาวพื้นเมืองที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานออกไปยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปใช้ชีวิตที่นั่นอีก

 

 

6. โปขราณ (Pokhran), อินเดีย

 

(Photo : Sankara Subramanian / CC BY 2.0)

 

     ประเทศอินเดียเองก็เริ่มทดลองนิวเคลียร์ในช่วง 1960 ที่กำลังมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งจีน และปากีสถาน โดยมาทำการทดลองที่โปขราณ พื้นที่ทะเลทรายในแคว้นราชาสถาน (Rajasthan) ที่มีประชากรอยู่ประมาณ 15,000 คนด้วย รัฐบาลอินเดียบอกว่าเป็นการทดลองปรมาณูเพื่อสันติเท่านั้น แม้การทดลองจะไม่ได้ผลลัพท์ที่ทางอินเดียพอใจสักเท่าไหร่ แต่ถึงปัจจุบันพื้นที่ทดลองบริเวณนี้ก็ยังมีการคุมเข้มอยู่ รวมถึงมีการปิดบังข้อมูลเรื่องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทดลองด้วย

 

 

7. หมู่เกาะมูรูรัว (Mururoa Atoll), เฟรนช์โพลีนีเซีย French Polynesia

 

 

     เป็นที่ทดลองขีปนาวุธที่เป็นกรณีพิพาทระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน เมื่อทางฝรั่งเศสริเริ่มการทดลองใต้น้ ำในหมู่เกาะห่างไกลในพื้นที่อาณานิคมของตนเองเขตมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งกระทบกับประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ขัดแย้งกันมายาวนานตั้งแต่ 1966-1996 ฝรั่งเศสทดลองไปทั้งหมด 188 ครั้ง ถึงได้ยุติ ปัจจุบันในพื้นที่ยังเป็นเขตอันตราย และปนเปื้อนรังสี

 

 

8. โซคอร์โร (Socorro), นิวเม็กซิโก

 

(Photo: Samat Jain/Public Domain)

 

     วันที่ 16 กรกฎาคม 1945 กลางทะเลทรายร้อนระอุของนิวเม็กซิโก ยุคของนิวเคลียร์ถือกำเนิดยังสถานที่แห่งนี้ กับโปรเจ็คต์ ทรินิตี้ (Trinity) หัวรบนิวเคลียร์รุ่นต้นแบบของ แฟตแมน (Fat Man) หัวรบนิวเคลียร์ที่ถูกนำไปใช้ยังเมืองนางาซากิใน 3 สัปดาห์ถัดมา ผลการทดลองทรินิตี้นั้นก่อให้เกิดเปลวไฟพุ่งสู่ท้องฟ้า สูงกว่า 600 ฟุต ต้นไม้ที่อยู่ในอาณาเขต 120 ไมล์ตายทั้งหมด ทรายถูกความร้อนจนกลายเป็นแก้วทันที ทุกวันนี้สถานที่ทดลองทรินิตี้จะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ในวันเสาร์แรกของเดือนเมษายนทุกๆ ปี

 

9. เกาะคิริติมาติ (Kiritimati) หรือเกาะคริสต์มาส, สาธารณรัฐคิริบาติ (Republic of Kiribati)

 

(Photo: NASA/Public Domain)

 

     หนึ่งในสถานที่ทดลองที่อยู่ห่างไกลมากที่สุดในโลก โดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรแปซิฟิค แรกเริ่มนั้นเป็นที่ทดลองของประเทศอังกฤษในปี 1957 หลังจากนั้นจึงกลายเป็นที่ทดลองของสหรัฐอเมริกาในปี 1962 ก่อนที่จะทิ้งไปในปี 1969

 

10. ปล่องซีดาน (Sedan Crater) เนวาดา, สหรัฐอเมริกา

 

Photo : Federal Government of the United States / Public Domain

 

     จุดทดลองนิวเคลียร์หนึ่งเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ทดสอบรัฐเนวาดา ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา จากการทดสอบนิวเคลียร์ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 1962 ทำให้เกิดหลุมขนาดยักษ์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากนอกโลก และเพราะมีประชากรจำนวนมากได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี แม้จะอยู่ห่างไกลจุดทดสอบมากก็ตาม ทางการจึงต้องยุติโครงการลง และใช้เวลาอีกถึง 7 เดือนกว่าที่บริเวณทดลองจะปลอดภัยจากกัมมันตรังสีตกค้าง

=========================