ชลบุรี เป็นจังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออกที่มีชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีประวัติชุมชนยาวนาน ร่องรอยของวัฒนธรรมกลุ่มชนดังกล่าวที่สังเกตได้ชัดเจนคือสถานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและความเชื่อ อันเป็นที่พึ่งทางจิตใจ จิตวิญญาณ ของคนหลายยุคสมัย ในเมืองชลบุรีจึงมีศาลเจ้าตั้งอยู่มากกว่าสิบแห่ง บ้างคึกคักไปด้วยผู้ศรัทธา บ้างตั้งอยู่อย่างเงียบ ๆ ในตรอกเล็กท่ามกลางตึกเก่าในที่นี้จึงขอพาเยี่ยมชม 9 ศาลเจ้าในพื้นที่เมืองชลบุรี ตามแนวถนนวชิรปราการและใกล้เคียง เดินถึงกันแบบสบาย ๆ ได้สักการะเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ พร้อมชมสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งตามวัฒนธรรมจีน หรือสนทนาระลึกเรื่องราวในอดีตกับผู้ดูแลศาล จะเป็นนักท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ศิลปะ สายลงพื้นที่ชุมชน หรือสายมู รับรองว่าได้ทั้งความรู้และสิริมงคลแน่นอน ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรี(พิกัด: ซอยฑีฆามารค 13.365000187627711, 100.98568011884277)เมืองชลบุรีเป็นเมืองชั้นจัตวาจึงไม่มีเสาหลักเมือง หากแต่มีศาลของ เจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งมีประวัติว่าเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นศาลไม้ ยกพื้นเพียงเล็กน้อย แล้วมีการบูรณะใหม่สมัยหลัง เปลี่ยนรูปทรงหลังคาและยกพื้นสูงดังปัจจุบัน รูปเคารพในศาลไม่ได้เป็นประติมากรรมลอยตัว แต่เป็นแผ่นไม้รูปทรงคล้ายใบเสมา ซึ่งมีศัพท์เรียกว่า เจว็ด ในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรีประดิษฐานเจว็ดจำนวนเจ็ดแผ่น แกะสลักรูปบุคคลทรงเครื่องแบบไทย ยืนถืออาวุธหรือดอกไม้แตกต่างกันไป เจว็ดกลางสูงที่สุด คือ พ่อเมือง ขนาบด้วยเจว็ดขนาดลดหลั่นลงมา ได้แก่ พ่อหลวงคง พ่อเสื้อเมือง พ่อเขาใหญ่ พ่อทรงเมือง พระนางเรือร่ม และเจ้าแม่สามมุก ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรีเป็นที่เคารพของชาวไทยและจีนมาอย่างยาวนาน หากมาถึงเมืองชลบุรีจึงไม่ควรพลาดที่จะมาสักการะ ระยะหลังมีคนมาจำนวนมาก อาจต้องรอคิวขึ้นไปไหว้กันสักหน่อย เมื่อลงจากศาลแล้วจะแวะหาเครื่องดื่มดับกระหายที่ร้านกาแฟโบราณใต้ต้นโพธิ์ หรือเดินชมบ้านไม้โบราณในตรอกต่อได้เลย ศาลจ้าวพ่อหลวง(พิกัด: ซอยพิทย์สถาน 13.366096432018665, 100.97967137591395)ไม่ไกลกันจากศาลเจ้าพ่อหลักเมือง คือ ศาลจ้าวพ่อหลวง อยู่ปลายซอยพิทย์สถาน เรียกว่าเป็นศาลที่รู้จักและนับถือในท้องถิ่นจริง ๆ ภายในประดิษฐานเจว็ด พ่อปู่หลวง เป็นรูปเทวดายืน มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือถุงเงิน พ่อปู่เขาหลวง เป็นรูปเทวดาประทับบนแท่น มือซ้ายถือง้าว และพ่อหลวงคง แตกต่างจากเจ้าพ่อสององค์ก่อนหน้าคือ เป็นรูปผู้ชายในท่ายืน สวมชุดราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน มีผ้าผูกเอว มือซ้ายถือร่ม อย่างเดียวกับการแต่งกายสมัยรัชกาลที่ 5เลยไปอีกนิดเดียวจากศาลจ้าวพ่อหลวงก็จะถึงชายทะเล ชาวประมงในบริเวณนั้นมักจะมาสักการะก่อนออกเรือเพื่อความเป็นมงคลและความปลอดภัย ศาลเจ้ากวนอู (ปุ่นท้าวกง ฮกเกี้ยน)(พิกัด: ซอยท่าเรือพลี ถนนวชิรปราการ 13.36863015295766, 100.98669389957843)ซอยท่าเรือพลีในอดีตคือท่าเรือขนส่งสินค้าและเรือโดยสารไป-กลับกรุงเทพฯ ปัจจุบันปลายซอยท่าเรือพลีคือตลาดประมงที่จะคึกคักในเย็นวันเสาร์ ส่วนต้นซอย นอกจากจะมีร้านหมูสะเต๊ะอะพอลโลและก๋วยเตี๋ยวร้านลับแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้ากวนอู (ศาลเจ้าฮกเกี้ยน) อันเป็นที่มาของชื่อเรียกเดิมของซอยนี้ว่า ตรอกสะพานศาลเจ้า ซึ่งชื่อนี้ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ด้วยสิ่งที่น่าชมบนหลังคาศาลเจ้า คืองานประดับกระเบื้อง รูปมังกร กิเลน และตุ๊กตารูปบุคคล ซึ่งมีศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า เชี่ยนฉือ ของที่นี่สียังสดเพราะเพิ่งบูรณะไปไม่นาน หากมีกล้องเลนส์ซูมก็จะเห็นรายละเอียดบนตุ๊กตาที่เกิดจากการเรียงกระเบื้องตัดทีละชิ้น!ศาลอาจไม่ได้เปิดให้เข้าสักการะทุกวัน แต่สามารถไปไหว้ขอพรเทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ได้ที่เก๋งจีนบนลานด้านหน้า แล้วมาถ่ายภาพกับสตรีทอาร์ตรูปเจ้าแม่กวนอิมและปลาทองบนผนังด้านข้างศาลเจ้า ศาลเจ้าเล่าปุนเท่ากง(พิกัด: ซอยรังษี - บังอร ตรงข้ามร้านป้าอ่อน ซอยก๊วน 13.368562593603368, 100.98775139443639)ใกล้กับวัดกำแพงมีสองศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ติดกัน มีเพียงตึกสมาคมคั่นตรงกลาง จากการสอบถามผู้ดูแลได้ข้อมูลว่าที่นี่คือสมาคมชาวจีนที่รองรับผู้เดินทางมาจากดินแดนโพ้นทะเล ลงเรือแล้วก็มาพักชั่วคราว รอคนมาจ้างงานและหาที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ในเริ่มแรกตั้งศาลเจ้าเป็นศาลไม้เล็ก ๆ ต่อมาชาวจีนหลายท่านมีการงานอาชีพมั่นคง ฐานะดีขึ้น ก็กลับมาบูรณะซ่อมแซมศาลเจ้าให้เป็นอาคารถาวร บริเวณนี้จึงมีความสำคัญในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนในเมืองชลมาอย่างยาวนานหากหันหน้าเข้าหาอาคารสมาคม ศาลเจ้าเล่าปุนเท่ากง ของชาวจีนแต้จิ่วจะอยู่ทางขวามือ ผู้ดูแลศาลให้ข้อมูลว่าที่นี่เปรียบได้กับ หลักเมือง ของชาวจีน ป้ายในศาลเจ้าระบุปีที่เทียบพุทธศักราชแล้วเก่าถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานประติมากรรมรูปเทวดาทรงเครื่องแบบไทย มือขวาถือพระขรรค์ เป็นพระภูมิ หรือเทพารักษ์ประจำพื้นที่ เบื้องหน้าพระภูมิมีประติมากรรม ปุนเท่ากง ในรูปบุรุษสวมชุดขุนนาง นั่งบนเก้าอี้ ปุนเท่ากงหรือปึงเถ่ากงเป็นเทพเจ้ารักษาชุมชน ตามชุมชนชาวจีนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักสร้างศาลเจ้าปุนเท่ากงไว้เช่นเดียวกับคติศาลพระภูมิของไทย ศาลที่เมืองชลนี้มีทั้งรูปเจ้าแบบไทยและจีนอยู่ร่วมกัน ศาลเจ้าเช็งจุ้ยโจวซือกง(พิกัด: ซอยรังษี - บังอร ตรงข้ามร้านป้าอ่อน ซอยก๊วน 13.368741628759802, 100.98772520133112)อีกข้างหนึ่งของอาคารสมาคม คือ ศาลเจ้าเช็งจุ้ยโจวซือกง ของชาวจีนฮกเกี้ยน ตัวศาลสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2534 เช็งจุ้ยโจวซือกง เป็นพระสงฆ์ในสมัยราชวงศ์ซ่ง อยู่ที่มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ท่านดำเนินงานทั้งเผยแผ่พระธรรม สร้างสาธารณูปโภค และช่วยเหลือผู้คนจากภัยพิบัติ กล่าวกันว่าท่านมีความรู้ทางการแพทย์ ทดลองยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยให้ชาวบ้าน ท่านจึงมีชื่อเรียกอย่างลำลองว่า "พระหมอ" ดังนั้นโดยส่วนใหญ่ผู้คนจะขอพรจากท่านในเรื่องสุขภาพ ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บภายในศาลยังประดิษฐาน จุ้ยบ้อเนี้ย (เจ้าแม่ท้ายน้ำ หรือในไทยนับถือในชื่อเจ้าแม่ทับทิม ปกปักคุ้มครองคนเดินเรือ) และ ไฉ่ซิ่งเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ บรรยากาศในศาลเจ้าเงียบสงบ ใช้เวลาขอพรได้เต็มที่เลย ศาลเจ้าพ่อใหญ่(พิกัด: ถนนราษฎร์ประสงค์ 13.370400743822355, 100.98904795311554)หน้าวัดกลางฝั่งถนนใหญ่ มีศาลเจ้าเล็ก ๆ สร้างติดกับกำแพงวัด นั่นคือ ศาลเจ้าพ่อใหญ่ ไม่ปรากฏประวัติที่แน่ชัด ภายในประดิษฐาน เจียวตี้ทุงเอี๊ยะ ซึ่งคำว่า เจียวตี้ หรือจาวตี้ เป็นคำทับศัพท์จากคำไทยว่า เจ้าที่ นั่นเอง โดยรูปเจียวตี้ในศาลเจ้าพ่อใหญ่ เป็นรูปบุรุษมีหนวดเครา แต่งกายอย่างขุนนาง นั่งบนเก้าอี้ มือขวาถือคทาเป็นอีกศาลเจ้าที่เล็ก แต่ไม่ละทิ้งการตกแต่งด้วยลวดลายมงคลแบบจีน ที่นี่ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดผ้าวัดกลาง และแยกที่มีถนนสำคัญในเมืองชลหลายสายตัดผ่าน ทำให้บรรยากาศโดยรอบคึกคักพลุกพล่านตลอดทั้งวัน ศาลเจ้าอาเนี้ยว(พิกัด: ถนนวชิรปราการ 13.369412872729223, 100.98715954356203)คนเมืองชลน่าจะคุ้นเคยกับ ตลาดเก่าหน้าเก๋ง แหล่งรวบรวมของอร่อยเจ้าเก่ามากมายและในอดีตคือที่รวมสถานบันเทิงนานารูปแบบ เก๋งที่ว่านี้ก็คือศาลเจ้าเก๋ง หรือศาลเจ้าอาเนี้ยว มีประวัติว่าศาลนี้เก่าถึงเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากเคลื่อนไพร่พลผ่านเมืองชลบุรี ขณะที่แผ่นป้ายในศาลก็ระบุว่ามีการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 5 และ พ.ศ. 2509 แสดงถึงการใช้งานและดูแลมาอย่างต่อเนื่องคำว่า "อาเนี้ยว" และจารึกเหนือประตูทางเข้าศาลว่า 堂音觀 (Guanyin tang) ให้ความหมายว่าเป็นศาลเจ้าประดิษฐาน เจ้าแม่กวนอิม หรือภาคสตรีของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา รูปเจ้าแม่ในศาลนี้ มองพระพักตร์ท่านแล้วก็รู้สึกได้อย่างนั้น โดยรอบยังประดิษฐานเทพอีกหลายองค์ ได้แก่ พระสังกัจจายน์ พระจี้กง แป๊ะกง เจ้าพ่อกวนอู และเจ้าพ่อเสือ (หลีเอี้ย) กล่าวได้ว่ามีทั้งเทพในศาสนาพุทธมหายานและศาสนาเต๋าในศาลเจ้าเดียวกันภายในศาลเจ้าตกแต่งอย่างเรียบง่ายแต่เข้มขลังด้วยกาลเวลา มองขึ้นไปจะเห็นโครงสร้างรับน้ำหนักหลังคา ในอาคารประธานเป็นไม้ทาสีเรียบ ขณะที่ในอาคารด้านหน้าตกแต่งด้วยลวดลายสีสันสดใส มีงานปูนปั้นเขียนสีตกแต่งบนผนัง บรรยากาศโดยรวมทำให้เป็นศาลเจ้าที่ผู้เขียนมาแล้วประทับใจมาก ศาลเจ้าแม่เซี่ยบ้อเนี้ย(พิกัด: ถนนวชิรปราการ 13.370223875958045, 100.98738787674725)เดินจากศาลเจ้าอาเนี้ยวตามถนนมาทิศเหนือเพียง 100 เมตร จะพบอีกหนึ่งศาลเจ้าเก่าแก่ของเมืองชล มีลานโล่งด้านหน้า เห็นตัวศาลเจ้าชัดเจน ที่นี่คือ ศาลเจ้าแม่เซี่ยบ้อเนี้ย หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ศาลเจ้าไม้ ตามวัสดุของอาคารหลังเดิมเซี่ยบ้อเนี้ย เป็นเทพสตรีที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับมณฑลกวางตุ้งและตระกูลโง้ว ท่านเป็นสตรีที่ไปบำเพ็ญธรรมบนภูเขา คอยช่วยเหลือผู้คนทั้งยามมีชีวิตและล่วงลับไปแล้ว จึงได้รับยกย่องนับถือเป็นเทพเจ้าศาลเจ้านี้โอ่อ่าสง่างาม ผนังภายนอกตกแต่งงานหินขัด หลังคาประดับงานเชี่ยนฉือหรืองานกระเบื้อง เดินเข้ามาแล้วจะพบว่าภายในสว่างไสวด้วยแสงไฟและแสงโคม มีบริการธูปเทียน และบทสวดเป็นแผ่นกระดาษอยู่ด้านหน้าแท่น โดยจะเริ่มจากการนมัสการพระรัตนตรัย ตามด้วยคาถาบูชาองค์เจ้าแม่ ทางศาลอนุญาตให้ถ่ายภาพสำหรับกลับไปสวดที่บ้านได้ด้วย ศาลจ้าวพ่อสาคร(พิกัด: ปากซอยสกลพิทักษ์ ถนนวชิรปราการ 13.370655965341706, 100.98729168237871)ปิดท้ายกันด้วย ศาลจ้าวพ่อสาคร กับความพิเศษที่ว่าหากจะไปไหว้ก็ต้องออกกำลังขากันสักหน่อย เพราะศาลเจ้านี้อยู่บนชั้นสามของอาคารพาณิชย์ สังเกตป้าย "กำชัยเภสัช" เดินไปข้างอาคารจะเจอป้ายและบันไดทางขึ้น จากการสัมภาษณ์ผู้ดูแล ศาลเจ้านี้มีอายุถึงร้อยปี จนเมื่อ พ.ศ. 2505 มีการสร้างอาคารพาณิชย์ริมถนนขึ้นใหม่ ก็ได้ย้ายศาลเจ้าขึ้นมาชั้นบนของอาคาร ทุกวันนี้ยังปรากฏรายนามผู้สร้างศาลใหม่ทั้งภาษาไทยและจีนบนผนังแม้แท่นตั้งรูปเคารพจะเป็นแบบจีน แต่รูปเคารพกลับเป็นเจว็ดพระภูมิอย่างไทย ประกอบด้วยเจว็ดเจ้าพ่อสาคร ขนาบด้วยเจว็ดรูปเทวดาอีกสององค์ สวมมงกุฎ ทรงเครื่องแบบไทย และเจว็ดอีกแผ่นมีขนาดเล็กตั้งอยู่ด้านหน้า คือ เจ้าพ่อหนู มีผมจุก ไม่สวมมงกุฎ เมื่อมองแล้ว เจ้าในเจว็ดไทยบนแท่นจีน กลายเป็นความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวลานด้านหน้าศาลเป็นจุดไหว้เทพฟ้าดิน และสามารถชมทิวทัศน์ของเมืองชลบุรี รับลม-ชมอาคารตามแนวถนนวชิรปราการได้ด้วยทั้ง 9 ศาลเจ้าในเมืองชลบุรีที่พาเยี่ยมชมนี้ นอกจากจากเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวชลบุรีมากว่าศตวรรษ ยังเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการผสมผสานวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวจีนและไทย ทั้งความเชื่อร่วมกันในเรื่อง "พระภูมิ - เจ้าที่" และร่องรอยศิลปกรรม งานช่าง การตกแต่ง รวมถึง "ชื่อ" ของชาวจีนที่มีส่วนร่วมในการซ่อมสร้างศาลเจ้าเทพารักษ์ของคนท้องถิ่น เป็นร่องรอยของบุคคล เอกลักษณ์ของชุมชนที่ได้รับการรักษา - หลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ ใครผ่านไปทางเมืองชลบุรี ก็ลองแวะไปสักการะหรือเยี่ยมชมให้เข้าถึงความเป็นท้องถิ่นในอีกมิติของจังหวัดนี้ได้ • ศาลเจ้าหลายแห่งมีผู้ดูแลหรือเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ด้านใน สามารถขอคำแนะนำเรื่องการขอพร และทำบุญธูป บำรุงศาลเจ้าได้• ศาลเจ้าทั้งเก้าแห่งนี้ บ้างอยู่ริมถนน บ้างอยู่ในซอยเล็ก ๆ ที่อาจไม่สะดวกต่อการจอดรถ หรือขับรถยนต์เข้าถึง อาจจอดรถไว้ที่หนึ่งแล้วเดินต่อ พื้นที่ที่จอดรถได้ เช่น หน้าศาลเจ้าเล่าปุนเท่ากงและศาลเจ้าเช็งจุ้ยโจวซือกง หรือจอดตามวัดต่าง ๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย• ดูตำแหน่งของศาลเจ้าทั้งเก้าแห่งได้จากแผนที่นี้ แผนที่ ไหว้เจ้าเก้าศาล เมืองชลบุรี --------ขอขอบคุณ • คุณ Charlie Lew ที่ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักศาลเจ้าต่าง ๆ ในเมืองชลบุรี จากอัลบั้มภาพที่ได้ลงไว้ เป็นแรงบันดาลใจให้เดินทางไปเยี่ยมชม ทั้งข้อมูลบางส่วนก็อ้างอิงจากในนั้นด้วย• คุณ ปุณณวิช กิจนางหงษ์ สำหรับคำแปลข้อความบนศาลเจ้า ที่ทำให้ทราบอายุการสร้างหรือบูรณะของศาลได้ชัดเจนขึ้น เรื่องและภาพ โดย แง้มประตู ดูจิตรกรรม อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !