เทศกาลสงกรานต์ในช่วงเดือนเมษายนในวันที่ 13-15 เมษายนผ่านไปแล้ว ขณะเดียวกันมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ได้จัดตามวันเวลาดังกล่าว แต่ยังอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เช่น งานสงกรานต์กะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และยังมีหลายๆ กิจกรรมที่ไม่เหมือนที่อื่น มีอะไรกันบ้างลองมาอ่านดู1. การจัดงานสงกรานต์ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ ไม่ได้จัดตามปฏิทิน บางหมู่บ้านจัดก่อน บางหมู่บ้านจัดหลังวันสงกรานต์ตามปฏิทิน แต่ใช้เกณฑ์จัดงานให้วันพระเป็นวันกลางของงาน (งาน 4 คืน 3 วัน) คืนแรกคือวันก่อนวันโกน เป็นกิจกรรมที่เริ่มตอนค่ำ เป็นวันที่มีการเจริญพระพุทธมนต์ โดยชาวบ้านแต่ละบ้านจะนำภาชนะใส่น้ำมนต์ ใส่แป้งหอม น้ำปรุงพร้อมกิ่งดอกไม้ มาขึ้นวัดเพื่อให้พระสงฆ์ทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์เป็นเหมือนการเปิดงานบุญสงกรานต์ เมื่อจบพิธีชาวบ้านก็นำน้ำมนต์กลับบ้าน ไปพรมตนเอง พรมในบ้าน นอกบ้าน หรือพาหนะต่างๆ เพื่อเกิดสิริมงคลส่วนอีก 3 วัน 3 คืน ก็เป็นวันโกน วันพระ และหลังวันพระอีก 1 วัน ในคืนสุดท้ายจะมีการเวียนวัด ถวายต้นผ้าป่าที่แต่ละบ้านหรือกลุ่มบ้านนำมาถวาย และกรวดน้ำรับพร2. กิจกรรมขึ้นวัดทำบุญตักบาตร ช่วงเช้า และสรงน้ำพระพุทธรูปในช่วงบ่ายตามปกติ โดยจะนำพระพุทธรูปจากบนวัดนำลงมาที่ลานวัด ให้พระสงฆ์ได้พรมน้ำหอม น้ำปรุงพระพุทธรูปก่อน แล้วชาวบ้านค่อยพรมตามทีหลัง จากนั้นค่อยนิมนต์พระสงฆ์ไปสรงน้ำที่ลานวัดสำหรับที่สรงน้ำที่สร้างขึ้นมาเฉพาะงาน ตอนค่ำชาวบ้านขึ้นวัด รับศีล และร่วมทำวัตรเย็นร่วมกับพระสงฆ์ทั้ง 3 คืน3. การสรงน้ำพระที่นี่ จะเริ่มขึ้นในช่วงบ่ายด้วยการนิมนต์พระนั่งบนแขนโยมผู้ชาย 2 คนเพื่อพระสงฆ์จะได้ไม่ต้องเดินไปเอง พอถึงที่สรงน้ำ ชาวบ้านก็จะน้ำเทใส่มือพระสงฆ์เพื่อล้างหน้า ก่อนที่ชาวบ้านอีกส่วนจะเทน้ำใส่รางไม้ไผ่(หรือรางน้ำที่เหมาะสม)ให้พระสงฆ์ได้สรงน้ำ เมื่อเรียบร้อยก็ห่มผ้าที่เตรียมมา และชาวบ้านก็จะทำสะพานมนุษย์ โดยชาวบ้านมานั่งชันเข่าก้มลงให้พระสงฆ์เหยียบหลัง นอนเรียงต่อกันจนถึงบนวัดหรือกุฏิ โดยได้คติความเชื่อจากเหตุการณ์ของสุเมธดาบสในสมัยพระพุทธเจ้าทีปังกร ชาวบ้านก็เชื่อว่าพระเหยียบหลังช่วยให้หายโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย4. พิธีก่อเจดีย์ทราย นำไม้/ไม้ไผ่มากั้น 4 มุม ทำขึ้นหลายๆ ชั้น ชาวบ้านจะนำทรายใส่ถังมาแล้วกำทรายโปรยไปที่องค์เจดีย์ทราย 1 กำเท่ากับ 1 ปี โดยโปรยให้มากกว่าอายุ 1 ปี เพราะเป็นเสริมดวง เพิ่มอายุ ข้างๆ ต้นโพธิ์ที่มาค้ำ แล้วค่อยนำกรวยดอกไม้ เทียนขี้ผึ้งมาปัก5. พิธีค้ำต้นโพธิ์ ก็นิยมนำไม้ไผ่ลำเล็กๆ ใส่น้ำ ใส่ขมิ้น แป้งน้ำ แป้งหอมใส่ลงไป มาล้างรากไม้และลำต้น แล้วพิงต้นโพธิ์ไว้ นำไม้ไผ่ไปค้ำกิ่งต้นโพธิ์ สามารถค้ำได้จริงๆ โดยได้คติความเชื่อจากการทำบุญด้วยการทำสาธารณะประโยชน์ให้ผู้อื่น เป็นที่พึ่งใช้ประโยชน์ของสัตว์เล็กสัตว์น้อยและมนุษย์ได้ 6. พิธีล้างสะพาน ก็เป็นอีกพิธีกรรมที่ต่อเนื่องจากการทำเจดีย์ทราย การค้ำต้นโพธิ์ เป็นการรำลึกถึงบุญคุณสะพานที่เราได้ใช้ตลอดทั้งปี จึงมาล้าง มาไหว้ และขอขมาสะพาน *ทั้งการทำเจดีย์ทราย ค้ำต้นโพธิ์ และสะพาน ล้วนต้องขอขมาทุกอย่าง โดยใช้ดอกไม้ใส่กรวยใบไม้และเทียนเล่มเล็กในแต่ละพิธี7. เล่นสะบ้า เป็นกีฬาพื้นบ้าน เล่นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มีเล่นกันเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น เป็นการแบ่งฝั่งเป็น 2 ฝ่ายใน1 สนามแข่ง (จะมีกี่สนามก็ได้) วิธีการเล่นก็แค่โยน(หรือทอย) ไปฝั่งตรงข้ามที่ตั้งอยู่ให้ล้มให้หมดก็ถือว่าจะชนะ เป็นอีกกิจกรรมที่สนุก เล่นได้ทุกเพศทุกวัย 8. ประเพณีขึ้นบ้าน และขอขมาผู้สูงอายุ เป็นอีกกิจกรรมที่จะทำในวันสุดท้ายของงาน จะเริ่มตั้งแต่ช่วงสายๆ หรือเที่ยงๆ โดยมีการรวมตัวกัน ตีกลอง ฆ้อง โหม่ง ฯลฯ ร้องรำทำเพลงได้ เป็นการส่งสัญญาณไปในตัวเพื่อให้รู้ว่าขบวนขึ้นบ้านถึงไหนแล้ว เมื่อไปแต่ละบ้าน เจ้าของบ้านก็จะได้มีโอกาสทำบุญ ใส่บาตร ใส่ขันที่ขบวนนำไปเพื่อถวายวัด และหากบ้านไหนมีผู้สูงอายุก็จะทำพิธีขอขมาไปด้วย เมื่อไปถึงแต่ละบ้านก็สามารถเล่นน้ำ สาดน้ำกับเจ้าของบ้านได้ตามความเหมาะสม ทีละบ้านๆ ตั้งแต่หัวบ้านจนท้ายบ้าน แล้วกลับมาสิ้นสุดที่วัดเพื่อสรงน้ำพระและผู้งอายุที่มาร่วมปิดท้าย ถือเป็นอีกกิจกรรมที่สนุก ทุกคนสามารถไปร่วมขบวนได้ หากใครอยากมาร่วมงานก็สามารถสอบถามคนในพื้นที่ได้ ในตำบลไล่โว่ มีทั้งหมด 6 หมู่ 7 หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านจะจัดไม่พร้อมกันทั้งหมด โดยเฉพาะที่หมู่ 1 บ้านสะเนพ่องจะมีการจัดงานสงกรานต์ที่ใหญ่กว่าบ้านอื่นๆ ปีนี้ก็มีผู้มาร่วมงานมากกว่าทุกๆ ปี ทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ มีพระแก้วขาวที่ชาวบ้านในพื้นที่ศรัทธายกลงมาจากบนวัดให้ชาวบ้านได้กราบไหว้และพรมน้ำหอมน้ำปรุงด้วย เป็นอีกพื้นที่ที่สามารถมาร่วมงานได้ และได้อีกหลายๆ ประสบการณ์ที่แตกต่างจากที่อื่นด้วยเช่นกันทุกภาพประกอบโดยผู้เขียนขอบคุณ Canva ใช้ตกแต่งภาพปก อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !