วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร เที่ยวกรุงเทพ ไหว้พระริมแม่น้ำจ้าพระยา วัดสวยเก่าแก่
ในกรุงเทพฯ ของเรามีวัดสวย และวัดเก่าแก่มากมายค่ะ หนึ่งในวัดสำคัญของเส้นทาง ไหว้พระ 9 วัด ในกรุงเทพ นั้นก็คือ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร วัดสวยเก่าแก่ในกรุงเทพฯ นั่นเอง อีกทั้งคนไทยเรายังมีคติความเชื่อที่ว่า การมาไหว้พระวัดระฆัง จะทำให้ มีคนนิยมชมชื่น มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี อีกด้วยค่ะ
วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
วัดสวย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพ
การเดินทางของเราในวันนี้ก็คือ การไปขึ้นเรือข้ามฝากที่ ท่าช้าง เพื่อข้ามฟากไปลงที่ ท่าวัดระฆัง ค่ะ หรือใครจะขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยาไปก็ได้ ที่ท่าเรือเราก็จะเห็นคนมาให้อาหารปลา และนกพิราบกันเยอะแยะเลย เอาล่ะ ตามเข้าไปด้านในกันดีกว่าค่ะ
ภายในวัดระฆัง มีพระอุโบสถที่สวยงาม เป็นทรงแบบรัชกาลที่ 1 ประดิษฐาน หลวงพ่อยิ้มรับฟ้า เป็นพระประธานค่ะ โดยเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาพระราชทานผ้ากฐิน ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที” จึงเป็นที่มาของชื่อพระประธานนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ ภายในอุโบสถยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่มีเรื่องราวของต่างๆ ของพระพุทธเจ้า เป็นภาพจิตรกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมืองดงามมาก มีชีวิตชีวาอ่อนช้อย ซึ่งภาพเหล่านี้เขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 ในพ.ศ. 2465 ในช่วงบูรณะวัดระฆังแห่งนี้นั่นเอง
พระปรางค์ วัดระฆัง
ปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งของวัดระฆังก็คือ พระปรางค์ วัดระฆัง ค่ะ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบแผนที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมกุศลกับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระเทพสุดาวดี) โดยเป็นพระปรางค์แบบ สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้นที่งดงาม จนยึดถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมานั่นเอง
หอพระไตรปิฎก
napat intaroon / Shutterstock.com
วัดระฆังโฆสิตารามมี หอพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก เคยเป็นพระตำหนัก และหอประทับนั่งของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วค่ะ ภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ 2 ตู้ ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือ 1 ตู้ หอด้านใต้ 1 ตู้
ประวัติ วัดระฆังโฆสิตาราม
สำหรับใครที่ยังไม่ทราบประวัติของวัดระฆัง ตามเรามารู้จักกันเลยค่ะ
วัดระฆังโฆสิตาราม มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมใช้ชื่อว่า วัดบางหว้าใหญ่ ค่ะ และต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกให้เป็นพระอารามหลวง และเมื่อมีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัดในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงถูกเรียกว่า วัดระฆัง ตั้งแต่นั้นมา อีกทั้งยังเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระสังฆราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชขึ้นที่วัดนี้อีกด้วย
Chirawan Thaiprasansap / Shutterstock.com
และเมื่อเอ่ยถึงวัดระฆังโฆสิตารามแห่งนี้ ก็ต้องนึกถึง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระมหาเถระรูปสำคัญ ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างมากในประเทศไทย ซึ่งท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ค่ะ
สำหรับ พระคาถาชินบัญชร เป็นบทสวดมนต์ สันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น และเป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้น โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่เชื่อว่าหากสวดกันเป็นประจำจะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองนั่นเองค่ะ
หวังว่าหลายๆ คนที่ได้ผ่านมาบริเวณนี้คงจะแวะเวียนกันมากราบนมัสการสิ่งศักสิทธิ์ และชื่นชมสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในวัดได้อย่างอิ่มบุญอิ่มใจกันถ้วนหน้านะคะ
ข้อมูล วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพ
- ที่อยู่ : ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
- พิกัด : https://goo.gl/maps/u7PWUUDY3YF4LCni6
- เปิดให้เข้าชม : 07.00-18.00 น.
- โทร : -
- เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/watrakhang.official